คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5437/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเสนอราคาในคดีล้มละลาย: การบังคับใช้สิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองในการเข้าเสนอราคาและการเพิกถอนการขายทอดตลาด
ประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ระบุเงื่อนไขการเข้าเสนอราคาให้ชัดแจ้งว่า ผู้เข้าเสนอราคาที่เป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนนั้นต้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือที่ดินที่ขายตามคำชี้ขาดของศาลดังเช่นที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 79 ทั้งในประกาศขายทอดตลาดมีข้อความระบุไว้ว่า "ที่ดินที่จะขายติดจำนองบริษัทบริหารสินทรัพย์ อ. เจ้าหนี้ตามมาตรา 95" เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนตามประกาศขายทอดตลาดดังกล่าว ที่ผู้ร้องมิได้วางหลักประกันก่อนเข้าเสนอราคาเนื่องจากเห็นว่าตนเป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนจึงชอบแล้ว การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองเข้าสู้ราคาโดยอ้างว่าผู้ร้องมิใช่ผู้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทน ย่อมทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีไม่มีสิทธิเต็มที่ในการเข้าสู้ราคาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสาม การขายทอดตลาดของผู้คัดค้านที่ 1 จึงฝ่าฝืนกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5163/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงภาระจำยอมทางเข้าออกแม้ไม่มีการจดทะเบียน แต่มีเจตนาและพฤติการณ์สนับสนุน ย่อมมีผลผูกพัน
ผ. และ ม. เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1625 ได้ยกทางพิพาทให้ทายาทซึ่งเป็นบุตรทั้งแปดคนใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ก่อนปี 2534 กับทั้งแบ่งที่ดินให้ทายาทครอบครองและสร้างบ้านพักอาศัย เมื่อ ผ. และ ม. ถึงแก่ความตาย ทายาทก็ได้รับโอนมรดกที่ดินมาครอบครองเป็นของตน โดยยังคงใช้ทางพิพาทในการเข้าออกที่ดินตลอดมา ต่อมาทายาทแบ่งแยกที่ดินออกเป็นโฉนดรวม 9 แปลง โดยมีการรังวัดทางพิพาทซึ่งเป็นทางเข้าออกเดิมไว้ชัดเจน ทายาททั้งแปดซึ่งรวมถึงโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 ก็ลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำกรณีประสงค์ขอรังวัดแบ่งแยกในนามเดิม หลังจากนั้นทายาทตกลงแบ่งแยกโฉนดจากเดิมที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันออกเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน โดยทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 38416 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาก็ได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ขอรังวัดสอบเขต และขอแบ่งทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งทายาทเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็ไม่ได้ปฏิเสธไม่รับรู้ว่าไม่มีทางพิพาท มีเพียงจำเลยที่ 4 ที่โต้แย้งเฉพาะเรื่องแนวเขตทางพิพาทเท่านั้น ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องขอให้รอการรังวัดแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ไว้ก่อน การที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมใช้ทางพิพาทในที่ดินของตน จึงไม่ได้เป็นการใช้ในลักษณะทางภาระจำยอม การใช้ทางพิพาทของทายาทอื่นในลักษณะภาระจำยอมโดยอายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2561 ที่มีการแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษ นับถึงวันฟ้อง ทางพิพาทจึงไม่ได้ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ
อย่างไรก็ตาม เมื่อทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเพื่อประโยชน์สำหรับทายาทที่ครอบครองที่ดินที่ ผ. และ ม. ยกไว้ให้ก่อนที่ทายาทจะได้รับโอนมรดกมาเป็นของตน จนกระทั่งมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็น 9 แปลง ก็ได้มีการแบ่งแนวเขตทางพิพาทไว้ชัดเจน การที่ทายาทตกลงแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างกันโดยมีการระบุทางพิพาทมาตั้งแต่ต้นย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงก่อตั้งภาระจำยอมทางพิพาทเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอื่นตามที่มีการแบ่งแยกไว้ ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอม จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินและทางพิพาทต่อมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่ง จึงมีภาระที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับทางพิพาทดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น