คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จราจรทางบก ม. 160

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4713/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาแทนผู้เสียหาย: ผู้สืบสันดานและผู้แทนโดยชอบธรรม
โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบโดยชัดแจ้งว่า บ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ว. ผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน คือ ค. ผู้เยาว์ ดังนั้น ค. บุตรของ ว. ผู้ที่ถูกทำร้ายถึงตายถือเป็นผู้สืบสันดาน เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้ตายได้ ไม่ว่าบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ตาม และเห็นว่า คดีนี้ ค. ผู้เยาว์ เป็นผู้มีมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมตามกฎหมาย บ. มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมจึงมีอำนาจจัดการแทน ค. ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น บ. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของ ค. ผู้เยาว์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7004/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจอดรถกีดขวางการจราจร – การพิพากษาโทษ – การนับโทษ – การรับสารภาพ
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 จอดรถบรรทุกพ่วงอยู่ชิดขอบทางด้านซ้ายโดยล้อหน้าอยู่บนไหล่ทาง และมีบางส่วนของตัวรถอยู่บนผิวช่องเดินรถ ซึ่งตรงกันข้ามกับคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า จำเลยที่ 1 จอดรถบรรทุกพ่วงไว้กลางช่องเดินรถในลักษณะล้ำเข้ามาในช่องเดินรถอย่างมาก โดยไม่ชิดขอบถนนด้านซ้ายนั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ทั้งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ข้อที่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
คดีนี้จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทด้วยการจอดรถในลักษณะกีดขวางจราจรโดยไม่ให้สัญญาณไฟใด ๆ ให้ผู้อื่นเห็นว่ามีรถจอดอยู่ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถที่จำเลยที่ 1 จอดไว้แล้วจำเลยที่ 1 หลบหนีไป มิใช่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่ไปแสดงตนและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ มาตรา 43, 78, 157, 160 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นจำเลยคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาของศาลชั้นต้น เป็นข้อเท็จจริงต่างหากจากข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดในคดีนี้ และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ แต่คดีนี้จำเลยที่ 2 เพียงให้การรับสารภาพตามฟ้องเท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้ให้การรับด้วยว่าจำเลยเป็นคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาที่โจทก์อ้างมาในฟ้อง และแม้คดีนี้เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ศาลจะสามารถพิพากษาคดีไปได้โดยที่โจทก์ไม่ต้องนำสืบพยานก็ตาม แต่หากโจทก์เห็นว่าคดีของโจทก์ยังมีข้อบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่ โจทก์ก็สามารถนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบได้เพื่อให้คดีสมบูรณ์ เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างมาในฟ้อง จะนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวหาได้ไม่ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4200/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถ-ความรับผิดชอบผู้ให้ยืม: ผู้ให้ยืมไม่รู้เห็นเป็นใจ หากผู้ขับขี่ประมาทหรือขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย
จำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(8), 160 วรรคสาม โดยจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงฉวัดเฉวียนไปมาซึ่งความผิดเช่นว่านี้ แม้จำเลยจะมีใบอนุญาตขับรถยนต์ก็ยังเป็นความผิดได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะทราบว่าจำเลยไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ แต่ยังให้ยืมรถจักรยานยนต์ของกลางไปขับขี่ ก็หาได้ถือว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจอดรถในทางเดินรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษา
การที่จำเลยจอดรถในทางเดินรถโดยไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 56 วรรคสอง,152 เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,390 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4) และ 157ต้องเป็นผู้ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และตามมาตรา 78 และ 160 ต้องเป็นผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นและไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งการจะเป็นความผิดดังกล่าวได้ต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดหรือหยุดรถไม่ เมื่อจำเลยจอดรถในทางเดินรถ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4),78,157 และ 160 วรรคหนึ่งปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องในความผิดดังกล่าวทั้งสองข้อหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง,215,225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8663/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดตาม พรบ.จราจรฯ มาตรา 78 กรณีรถหยุดอยู่ ไม่ใช่ขับเคลื่อน
แม้พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78 บัญญัติว่า ผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินจะต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตามนั้น หมายถึงว่าผู้ขับรถต้องเป็นผู้ควบคุมรถที่กำลังแล่นอยู่และมีความเสียหายเกิดขึ้น หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดอยู่หรือหยุดอยู่ไม่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยหยุดรถในช่องเดินรถด้านซ้ายอยู่แล้ว โดยมีผู้โดยสารกำลังขึ้นรถ มิใช่ขับมาแล้วหยุดกระทันหัน การที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความประมาทเฉี่ยวชนท้ายรถแท็กซี่ที่จำเลยขับ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อความเสียหายอันจะต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78,160 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รถเข็นไม่จัดเป็น 'รถ' ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ไม่ต้องอยู่ในบังคับมาตรา 78
พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 4(15) บัญญัตินิยามคำว่า"รถ" ไว้ว่ายานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง กับตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 กำหนดความหมายของคำว่า "ยาน" และ "พาหนะ" ไว้ โดยคำว่า "ยาน" คือ เครื่องนำไป พาหนะต่าง ๆ เช่น รถ เกวียน เรือ คำว่า "พาหนะ" คือ เครื่องนำไป เครื่องขับขี่ ยานต่าง ๆ มีรถและเรือ เป็นต้น เรียกว่า ยานพาหนะ กับกำหนดความหมายของคำว่า"ขับ" คือบังคับให้เคลื่อนไป เช่น ขับรถ ขับเรือ เป็นต้น
จำเลยเข็นรถขายโรตีไปตามไหล่ทางถนนสายจอมทอง - เชียงใหม่ และถูกรถจักรยานยนต์ที่ ส. ขับตามหลังมาเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับอันตรายแก่กายและ ส. ถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยหลบหนีไปไม่ช่วยเหลือ ดังนี้ เมื่อรถเข็นของจำเลยเป็นเพียงวัสดุอุปกรณ์และเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพขายโรตี มิใช่ด้วยเจตนามุ่งประสงค์ในอันที่จะขนเคลื่อนบุคคลหรือทรัพย์สินใดจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในลักษณะของยานพาหนะ จึงมิใช่ "รถ" ตามความหมายที่บทบัญญัตินิยามไว้ดังกล่าวและย่อมไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7514/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความประมาทในคดีขับรถชน และหน้าที่ตามกฎหมายจราจร หากพิสูจน์ความประมาทไม่ได้
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถแล่นสวนกับรถของผู้เสียหายโดยประมาท จำเลยจึงมิใช่ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่ต้องแสดงตัวหรือแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78,160 วรรคแรกจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที แม้ความผิดในข้อหาดังกล่าวจะยุติโดยต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7133/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาจากการที่ผู้โดยสารตกจากรถโดยสารประจำทาง: พิจารณาเหตุแห่งการกระทำ
โจทก์ร่วมลงจากรถโดยสารประจำทางในขณะที่รถยังเคลื่อนตัว ทำให้โจทก์ร่วมเสียหลักล้มลงได้รับอันตรายแก่กายสาหัส การได้รับอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วมจึงเป็นเพราะโจทก์ร่วม ลงจากรถเอง มิใช่เพราะประตูรถคันเกิดเหตุที่จำเลยขับ ชำรุดปิดไม่ได้ จำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานประมาทเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส การที่โจทก์ร่วมเสียหลักล้มขณะลงจากรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุมิใช่เกิดจากจำเลยไม่หยุดรถที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทางและเข้าเกียร์กระชากอย่างแรงตามที่โจทก์กล่าวอ้างจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ประกอบมาตรา 157 การที่โจทก์ร่วมเสียหลัก ล้มขณะลงมาจากรถโดยสารประจำทาง ศีรษะของโจทก์ร่วม ฟาดกับขอบพื้นทางเท้าและขาข้างซ้ายถูกล้อรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุทับได้รับอันตรายสาหัสในทันที การที่จำเลยไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่ใช่เหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส จำเลยคงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 160 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่มีความผิดตามมาตรา 78ประกอบมาตรา 160 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินความผิดฐานขับรถประมาทและการลงโทษฐานหลบหนีไม่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก
การที่จำเลยจะได้รับโทษหนักขึ้นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 160 วรรคสองนั้น หมายถึงกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง แล้วเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส มิใช่หมายถึงจำเลยขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่งโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยก่อความเสียหายแล้วจำเลยได้หลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที มิได้บรรยายอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่งนั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส จึงไม่อาจลงโทษตามมาตรา 160 วรรคสองได้ ต้องลงโทษตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรคสอง: การไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ต้องเป็นเหตุให้เกิดอันตราย
ผู้ขับขี่ที่จะได้รับโทษหนักขึ้นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯวรรคสอง หมายถึง กรณีที่ขับขี่รถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่ปฏิบัติตามมาตรา78และเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตายมิใช่หมายถึงการขับขี่รถในทางก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตายแล้วผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา78
of 2