คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 243

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 785 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6930/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานเรื่องความเป็นทายาทจากคำรับของจำเลย และอำนาจฟ้องในคดีผู้ค้ำประกัน
โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานทายาทโดยชอบธรรมของ ถ. ผู้ตายซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้เป็นทายาทโดยชอบธรรมของผู้ตาย แต่ในชั้นพิจารณาปรากฏว่า ทนายโจทก์นำพยานเข้าสืบ 1 ปาก แล้วแถลงขอเลื่อนการพิจารณาไปสืบพยานโจทก์เกี่ยวกับการรับโอนสิทธิเรียกร้อง การมอบอำนาจให้ฟ้องคดี รวมถึงการบอกกล่าวไปยังจำเลยซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย ทนายจำเลยแถลงยอมรับว่า โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยโดยชอบแล้ว คำแถลงของทนายจำเลยย่อมหมายความถึงยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลงว่าจะขอเลื่อนไปสืบพยานในประเด็นที่ว่า โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายแล้ว ไม่อาจแปลว่าเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยเท่านั้น โดยไม่ยอมรับเกี่ยวกับความเป็นทายาทของผู้ตายของจำเลยด้วย จึงฟังได้ว่าจำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงในเรื่องความเป็นทายาทของผู้ตายแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำรับของจำเลย โจทก์จึงไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวอีกต่อไป ตามป.วิ.พ. มาตรา 84 (1)
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยมิใช่ทายาทของผู้ตาย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องและคดีมีประเด็นอื่นจำต้องให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยความรับผิดระหว่างโจทก์จำเลยต่อไปตามรูปคดี จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาในประเด็นข้ออื่นดังกล่าวต่อไปตามรูปคดี ตามป.วิ.พ. มาตรา 243 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5748/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินการโดยทนายความที่มิได้รับมอบอำนาจในชั้นอุทธรณ์ ผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณา และการแก้ไขโดยศาล
คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มี ส. ทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์โดย ส. มิได้ยื่นใบแต่งทนายความไว้ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ให้อำนาจดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์แก่ ส. กรณีจึงถือว่าเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งในชั้นตรวจรับคำคู่ความศาลชั้นต้นผู้ตรวจรับชอบที่จะสั่งแก้ไขเสียให้ถูกต้อง หรือไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 แต่ศาลชั้นต้นหาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ กลับรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้ดำเนินการต่อมาจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียนและยื่นคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะถือว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบและไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ไม่ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แต่งตั้งให้ ส. เป็นทนายความของตนให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ในชั้นฎีกาแล้วจึงไม่จำต้องดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้อีก แต่เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่เพื่อเป็นไปตามลำดับชั้นศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4407/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าจ้างว่าความ, การพิจารณาคดีหลังยกคำพิพากษา, กระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกค่าจ้างว่าความขาดอายุความแล้ว โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกเอาค่าจ้างว่าความยังไม่ขาดอายุความ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ประเด็นเรื่องอายุความจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลชั้นต้นจึงต้องดำเนินการพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะในประเด็นเรื่องค่าจ้างว่าความเท่านั้น
ศาลชั้นต้นสืบพยานจนเสร็จสิ้นกระแสความและมีคำพิพากษาแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไปได้ โดยไม่ต้องกำหนดวันนัดพิจารณาอีก
จำเลยฎีกาโต้แย้งกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ประเด็นตามฎีกาของจำเลยมิได้มีผลเกี่ยวกับทุนทรัพย์ในคดี จำเลยจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์จำนวน 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3474/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณาคดี: ศาลอุทธรณ์ต้องมีเหตุผลรองรับคำสั่ง และต้องทำเป็นคำพิพากษา
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินสวนยางพาราของโจทก์ทั้งสอง ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณา โดยให้จำเลยนำเงินมาวางศาลทุกเดือนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (2) ตอนท้าย เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง 1 (2) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งต้องทำเป็นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 และชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะได้วินิจฉัยโดยทำเป็นคำพิพากษา มิใช่ทำเป็นคำสั่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้คุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองในระหว่างการพิจารณา ทั้งมิได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ประกอบด้วยมาตรา 246 คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างนำพยานหลักฐานเข้าสืบในชั้นไต่สวนจนเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3103/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยานโจทก์โดยไม่ฟังข้อเท็จจริงครบถ้วน และอำนาจศาลอุทธรณ์ในการย้อนสำนวน
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เสียหายเพียงใด โดยโจทก์มีภาระการพิสูจน์ การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดนั้น ต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความซึ่งเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อโจทก์แถลงขอสืบ ส. ทนายโจทก์เป็นพยานปากแรก โดยโจทก์ยืนยันว่า ส. รู้เห็นการประกอบอาชีพของโจทก์ เมื่อยังไม่ได้ฟังคำพยานย่อมไม่อาจทราบได้ว่า ส. เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงหรือไม่ และพยานหลักฐานของโจทก์ที่จะนำสืบในประเด็นข้อนี้มีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ประกอบกับโจทก์ไม่มีพฤติการณ์ประวิงคดี การที่ศาลชั้นต้นด่วนสรุปว่า ส. ไม่รู้เห็นข้อเท็จจริงในเรื่องการประกอบอาชีพของโจทก์โดยตรงจึงให้งดสืบพยานโจทก์ปากดังกล่าว คงมีโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว แล้วพิพากษาคดีไปโดยยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2)
แม้โจทก์มีคำขอท้ายอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้บังคับจำเลยชำระเงินตามฟ้อง แต่การที่ศาลอุทธรณ์จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ซึ่งมีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการทรัพย์สินสามีที่หายตัวไป: ศาลต้องไต่สวนก่อนมีคำสั่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายได้ออกไปจากภูมิลำเนาและไม่ได้กลับมาอีกเป็นเวลา 1 ปีเศษ โดยไม่ทราบว่าจำเลยเป็นตายร้ายดีประการใด จำเลยไม่อาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยผู้ร้องได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีมาพร้อมคำร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าจำเลยยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องก็ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของผู้ร้องให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสียก่อนเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6390/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: การครอบครองปรปักษ์ต่างจากคดีละเมิด แม้มีประเด็นที่ดินร่วมกัน ศาลต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง
ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวก ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้บ้านเลขที่ 137/2 ของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ได้รับความเสียหายและจำเลยที่ 1 กับพวกนำทรัพย์สินของโจทก์ไป ประเด็นในคดีก่อนจึงมีว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ส่วนคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีก่อนกับคดีนี้จึงมิใช่เรื่องเดียวกันและประเด็นคนละอย่างต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ทั้งโจทก์มิใช่คู่ความในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่นางผูกมารดาโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 173/2534 แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนด 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ซึ่งสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่บทกฎหมายดังกล่าวก็หาได้มีผลเด็ดขาดเป็นการตัดสิทธิห้ามฟ้องภายหลังไม่ เมื่อโจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อนดังกล่าวจึงไม่ผูกพันในผลแห่งคดี ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้อง คดีจึงต้องมีการฟังข้อเท็จจริงกันต่อไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนแล้วพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนจึงไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง สมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5394/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิคัดค้านราคาขายทอดตลาดของลูกหนี้ร่วม และอำนาจศาลในการพิจารณา
ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินไป ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ฟังคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี เป็นเหตุให้มีการอนุมัติขายทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้แก่ผู้ซื้อในราคาสูงสุดซึ่งต่ำกว่าราคาประเมิน ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใดๆ โดยเฉพาะ หรือขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการใดๆ ตามที่เห็นสมควร เมื่อจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ แม้ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดจะเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 ก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกการชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ได้ การขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในราคาที่สมควรหรือไม่ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงกับภาระหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 โดยตรง และมีสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่จะคัดค้านว่าในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นมีราคาต่ำจำนวนเกินสมควร ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ฟังคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด จึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดในทางทรัพย์สินที่บังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้
จำเลยที่ 1 ฎีกาในทำนองโต้แย้งคัดค้านว่าในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีราคาต่ำจำนวนเกินสมควรนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1 ไม่อาจยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้ และตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ ที่ใช้บังคับในขณะจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ ให้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ ดังนั้น ปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาทรัพย์ในการขายทอดตลาดชอบหรือไม่ จึงเป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาในปัญหาดังกล่าวตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคำร้องขอเป็นผู้ขาดความสามารถในการจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ต้องฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อนวินิจฉัย
โจทก์ขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาโดยอ้างว่ากรมสรรพากรจำเลยยึดและอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของโจทก์ทำให้โจทก์ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ทั้งไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกที่จะนำมาขายหรือเป็นหลักประกันเพื่อขอกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น ทำให้ไม่มีเงินที่จะนำมาชำระค่าธรรมเนียมศาลได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์อ้างแม้ทรัพย์สินจำนวนมากดังกล่าวยังเป็นของโจทก์ แต่โจทก์ก็ไม่สามารถขายหรือนำไปเป็นหลักประกันเพื่อหาเงินมาเป็นค่าธรรมเนียมศาลจำนวนสูงอันอาจจะถือได้ว่าโจทก์เป็นคนยากจน การที่ศาลภาษีอากรกลางงดการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง จึงเป็นการวินิจฉัยโดยยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเสียก่อน ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ทำการไต่สวนคำร้องต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7124/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมหลังคดีถึงที่สุด และการดำเนินการบังคับคดีที่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2544 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีจึงที่สุดแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ขอให้ศาลเพิกถอนคำพิพากษาตามยอม เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นอีกว่า โจทก์ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจะให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมอย่างไรจึงจะเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาข้อขัดข้องในการบังคับคดี การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบังคับคดีให้แก่โจทก์จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบ ซึ่งตามคำร้องดังกล่าวของโจทก์เป็นคำร้องที่ยื่นในชั้นบังคับคดี คู่ความย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ ไม่อยู่บังคับของมาตรา 138
โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) โจทก์กลับเลือกที่จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งคำร้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความของโจทก์ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ซึ่งการที่โจทก์จะอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ต้องเป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 138 วรรคสอง และต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความฟัง ตามมาตรา 229 แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในกำหนดเวลาดังกล่าว กลับยื่นคำร้องลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม โดยไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์กระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้วินิจฉัยเพราะต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 138 วรรคสอง จึงไม่ชอบ
of 79