คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 51

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสูญหายของสินค้าขณะขนส่งทางทะเล ความรับผิดของผู้ขนส่ง และข้อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมาย
การที่สินค้าสูญหายไปจากตู้สินค้าโดยมีการนำถุงทรายมาแทนที่นั้นเป็นไปเพื่อเจตนาลวงว่าสินค้ายังอยู่ครบถ้วนในตู้สินค้าระหว่างขนส่งด้วยเหตุที่สินค้าที่สูญหายไปมีน้ำหนักถึง 3,243.20 กิโลกรัม และการที่ดวงตราผนึกของตู้สินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อยดีถึงท่าเรือปลายทางก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าตู้สินค้ามิได้ถูกเปิดออกก่อนหน้านั้น หมายความว่าตู้สินค้ามิได้ถูกเปิดเอาสินค้าออกไปและใส่ถุงทรายเข้ามาแทนที่ด้วยวิธีการตามปกติ สอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบว่า บริษัทผู้สำรวจสินค้าได้ทดลองถอดนอตด้านข้างตู้สินค้าออกพบว่าสามารถเปิดประตูตู้สินค้าได้โดยที่ตราประทับไม่ถูกตัดออก การที่ท่อทองแดงมีน้ำหนักประมาณม้วนละ 350 ถึง 450 กิโลกรัม การขนถ่ายจึงต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เมื่อพิจารณาแผนผังการวางตู้สินค้าที่ถูกวางในชั้นที่สูงสุด ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการลักลอบนำสินค้าออกจากตู้สินค้าไม่อาจทำได้ในระหว่างการขนส่งโดยเรือเดินสมุทร ทั้งถุงทรายที่ถูกแทนที่มีภาษาไทยอยู่บนถุง และหากสินค้าถูกลักลอบนำออกจากตู้สินค้าพิพาทที่ปลายทางก็ไม่จำเป็นต้องนำถุงทรายจำนวนมากเข้ามาแทนที่เพื่อลวงน้ำหนักตู้สินค้าระหว่างการขนส่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สินค้าสูญหายขณะอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 51 และ 52 จึงต้องรับผิด
จำเลยที่ 2 รับขนส่งสินค้าพิพาทในเงื่อนไข CY/CY ผู้ขายเป็นผู้บรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้สินค้าที่โรงงานของผู้ขาย ลานพักตู้สินค้ามีเนื้อที่มากกว่า 4 สนามฟุตบอล มีการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง มีแสงครอบคลุมบริเวณที่วางตู้สินค้าทุกบริเวณ สินค้าที่สูญหายมีน้ำหนักมาก การขนย้ายออกจากตู้สินค้าและนำถุงทรายเข้าแทนที่เป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังคน เครื่องมือ และเวลาในการดำเนินการ เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่มีบุคคลจงใจวางแผนลักลอบนำสินค้าพิพาทออกจากตู้สินค้าแล้วทดแทนน้ำหนักสินค้าด้วยถุงทรายโดยไม่กระทบถึงดวงตราผนึกตู้สินค้า ข้อเท็จจริงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 หรือตัวแทนละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายอาจเกิดขึ้นได้อันเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามความในมาตรา 60 (1) จึงสามารถจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 วรรคหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6131/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ให้เช่าเรือและผู้เช่าช่วงต่อความเสียหายสินค้า: เจ้าของเรือยังคงรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่า
ตามแบบสัญญาเช่าเรือมาตรฐานที่บริษัทผู้ขาย (ผู้ส่ง) ลงลายมือชื่อไว้ภายหลังเจรจาตกลงกันถึงเงื่อนไขการขนส่งสินค้าพิพาทกับตัวแทนผู้ขนส่ง และมีการกรอกข้อความต่าง ๆ เกี่ยวกับการขนส่งไว้พร้อมกับมีข้อสัญญามาตรฐานแนบท้ายนั้น ได้มีการระบุไว้ในหัวข้อความรับผิดของเจ้าของเรือข้อ 2 ว่า เจ้าของเรือยังคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายของสินค้าที่เรือรับขน และตามสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเรือกับจำเลยที่ 4 ผู้เช่าเรือรายแรกก่อนมีการให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงกันต่อไปได้ระบุไว้ว่า ในระหว่างระยะเวลาการเช่า ผู้เช่าเรือสามารถนำเรือออกให้เช่าช่วงต่อไปได้ การส่งมอบเรือที่เช่านั้น จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบเรือที่อยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะรับสินค้า ระวางเรือต้องกวาดสะอาดและไม่มีรูรั่ว แข็งแรงกับเหมาะที่จะให้บริการทุกประการ เจ้าหน้าที่ ลูกเรือ วิศวกรและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงยังต้องเป็นของจำเลยที่ 1 เต็มอัตรา นอกจากนี้ในเงื่อนไขของสัญญาข้อ 1 ระบุไว้ด้วยว่า ระหว่างระยะเวลาการเช่า จำเลยที่ 1 ยังจะต้องจ่ายค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายแก่ลูกเรือ ต้องชำระค่าประกันภัยเรือ และจะต้องดูแลเรือรวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์เรือให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ และข้อ 8 ระบุไว้ว่า นายเรือซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าของเรือจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการบรรทุก การเก็บจัดเรียงสินค้าและลงลายมือชื่อในใบตราส่งสำหรับสินค้าที่ตรงกับบัญชีตรวจนับสินค้าและใบรับขนถ่ายสินค้า และผู้เช่าเรือหรือตัวแทนของผู้เช่าเรือก็มีสิทธิที่จะลงลายมือชื่อในใบตราส่งแทนนายเรือได้ด้วย นอกจากนี้ในข้อ 26 ยังได้ระบุไว้ว่า จำเลยที่ 1 เจ้าของเรือยังคงต้องรับผิดชอบในการเดินเรือ การประกันภัย ลูกเรือ และเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมดเช่นเดียวกับในขณะที่เดินเรือเพื่อประโยชน์ของตนเองอยู่ต่อไป การเช่าเรือดังกล่าวเป็นการเช่าแบบมีกำหนดเวลาที่แน่นอน ผู้เช่าสามารถนำเรือไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงต่อไปได้อีกเป็นทอด ๆ และรับขนส่งสินค้าได้ โดยเจ้าของเรือเป็นผู้จัดหานายเรือและลูกเรือให้แก่ผู้เช่า หากเกิดความเสียหายกับสินค้าที่บรรทุกอยู่ในเรือ เจ้าของเรือต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของสินค้าหรือผู้รับใบตราส่ง ประกอบกับปรากฏในใบตราส่งว่า ผู้ที่ลงลายมือชื่อในใบตราส่งในช่องที่ผู้ขนส่งต้องลงลายมือชื่อไว้นั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าลงลายมือชื่อไว้ในฐานะตัวแทนของนายเรือ ซึ่งตามปกติแล้วนายเรือย่อมเป็นตัวแทนของเจ้าของเรือ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือที่แท้จริง จึงต้องมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 ในการทำสัญญารับขนของทางทะเลกับบริษัทผู้ขายซึ่งเป็นผู้ส่ง และแม้มีการให้เช่าช่วงจนถึงทอดสุดท้าย จำเลยที่ 1 ก็ยังเป็นผู้ควบคุมดูแลและรับผิดชอบในการเดินเรือและในความเรียบร้อยของอุปกรณ์เครื่องจักรและความปลอดภัยในเรือเพื่อการขนส่งสินค้าพิพาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 2