คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1349

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 327 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าทดแทนทางแพ่งจากการเปิดใช้ทางจำเป็นบนที่ดิน และการพิสูจน์กรรมสิทธิ์หลังการเวนคืน
การเรียกร้องค่าทดแทนเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อชดเชยความเสียหายอันที่เกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสี่ โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนการใช้ที่ดินจากจำเลยเป็นคดีต่างหากได้ หากศาลในคดีก่อนวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยได้สิทธิทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โดยโจทก์ทั้งสามไม่จำต้องฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนมาในคำให้การ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของคู่ความว่า มีการบังคับคดีเปิดทางจำเป็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 โจทก์ทั้งสามจึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสามนับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2555 อายุความสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความใช้ค่าทดแทนในการเปิดทางจำเป็นไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลานับแต่วันที่มีการเปิดใช้ทางจำเป็นจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าทดแทนในคดีนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4907/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอเปิดทางจำเป็นต้องพิจารณาความเสียหายของที่ดินที่ล้อมอยู่ และมีทางเลือกอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายน้อยกว่า
ป.พ.พ. ได้บัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ในการขอผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะไว้ในมาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ว่า ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นว่าจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ และมีสิทธิขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้น บทบัญญัติในวรรคสามของมาตราเดียวกัน กำหนดให้ ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ ซึ่งนอกจากที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และนายสุจินต์ ที่โจทก์ฟ้องขอเปิดทางจำเป็นแล้ว โจทก์สามารถใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 55890 เป็นทางจำเป็นเข้าออกสู่ซอยเอกชัย 69 ซึ่งเป็นถนนสาธารณะได้ โดยผ่านที่ดินเครือญาติโจทก์ ย่อมแสดงให้เห็นว่า นอกจากทางพิพาทแล้วโจทก์ยังมีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยขอเปิดทางจำเป็นในที่ดินแปลงอื่นได้ ซึ่งการจะขอเปิดทางจำเป็นในที่ดินแปลงใดนั้นต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาถึงสภาพที่ดินพิพาทที่โจทก์ขอเปิดเป็นทางจำเป็นนั้น มีลักษณะเป็นถนนคอนกรีตอันเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดทำขึ้นและตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินที่จัดสรรตามกฎหมาย ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีบ้านพักอาศัยเป็นจำนวนมาก การเปิดทางจำเป็นให้ใช้เป็นเส้นทางเข้าออก ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของเจ้าของที่ดินจัดสรรในการพักอาศัยให้เกิดความสงบสุขและปลอดภัยได้ อีกทั้งในขณะที่โจทก์และมารดาโจทก์ร่วมกันซื้อที่ดินมาและมารดาโจทก์ยกที่ดินส่วนของมารดาโจทก์ให้โจทก์ภายหลังนั้น ที่ดินดังกล่าวมีสภาพเป็นที่ตาบอด ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ซึ่งโจทก์และมารดาโจทก์ย่อมต้องทราบดีว่า การซื้อที่ดินดังกล่าวจะมีปัญหาในทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก ซึ่งหากต้องการให้ที่ดินมีทางเข้าออก อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ดินและทำถนนเพื่อเป็นทางเข้าออก แต่โจทก์หาดำเนินการเช่นนั้นไม่ กลับจะมาขอเปิดทางจำเป็นเพื่อใช้ถนนคอนกรีตอันเป็นสาธารณูปโภคที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และนายสุจินต์ ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินได้ลงทุนจัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรร โดยโจทก์ไม่ต้องลงทุนทำถนนคอนกรีตเอง และเมื่อเปิดทางจำเป็นแล้วยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ที่ดินของโจทก์ แต่กลับกันกลับทำให้ถนนคอนกรีตดังกล่าวต้องรับภาระจากการใช้งานที่เพิ่มขึ้นทั้งที่ดินของโจทก์ เป็นที่ดินว่างเปล่าและโจทก์ไม่เคยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกมาก่อน แม้โจทก์จะอ้างว่าการขอผ่านทางจำเป็นในที่ดินพิพาทจะสะดวกที่สุดก็ตาม ก็เป็นความสะดวกของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว และไม่ใช่ทางเลือกที่ทำให้ที่ดินที่ล้อมอยู่เสียหายแต่น้อยที่สุด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทางจำเป็นต้องพิสูจน์สภาพข้อเท็จจริงก่อนกระทำการรังวัดในที่ดินของผู้อื่น การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดฐานบุกรุก
แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 จะบัญญัติให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ซึ่งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่นจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมใช้ทางผ่านที่ดินของตนเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมที่จะเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของผู้อื่นได้โดยพลการ ทั้งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะต้องพิจารณาจากสภาพความจริงในขณะนั้นว่าเข้าเงื่อนไขตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 บัญญัติไว้หรือไม่ด้วย
ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่น และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมยังคงมีข้อโต้เถียงในข้อเท็จจริงกันอยู่ว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ถูกที่ดินของผู้เสียหายล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้จริงหรือไม่ จึงจำต้องให้ศาลในคดีแพ่งชี้ขาดข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นยุติก่อนว่าตามสภาพของที่ดินพิพาทในขณะนั้นเข้าเงื่อนไขเป็นทางจำเป็นซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะใช้ทางนั้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปรังวัดและถ่ายรูปทางในที่ดินของผู้เสียหายโดยพลการ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขอันเป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม: การจดทะเบียนทางภาระจำยอม การรับโอนทรัพย์สินโดยไม่สุจริต และการชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งสาม โดยทำข้อตกลงว่ากรณีจำเลยสามารถหาทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ จำเลยจะให้ทางออกแก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ทั้งสาม เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว เป็นทางกว้าง 3 เมตร ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาไม่ใช่เป็นแต่เพียงความยินยอม จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าจำเลยสัญญาจะให้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อความต่อไปว่า เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว ก็เป็นเพียงข้อจำกัดในการใช้ภาระจำยอมว่าให้แก่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่จะใช้ภาระจำยอมได้ ส่วนข้อความว่าหากโจทก์คนใดคนหนึ่งขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกครอบครัว ยินยอมให้จำเลยปิดทางออกได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายเท่านั้นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ต่อมาเมื่อจำเลยนำที่ดินที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสามไปจัดสรรและทำทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนั้น ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมที่โจทก์ทั้งสามได้มาโดยนิติกรรม การที่จำเลยทำกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสามขอให้รื้อกำแพงได้
เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น
จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป
จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง
จำเลยโอนที่ดินภารยทรัพย์ทางพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของภารยทรัพย์อีกต่อไป สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสามบังคับจำเลยให้จดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13874/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางจำเป็น: การพิจารณาความเหมาะสมของที่ดินที่ใช้เป็นทางออกสู่สาธารณประโยชน์ ต้องพิจารณาความเสียหายที่น้อยที่สุด
คลองบางสี่บาทมีสภาพเป็นทางระบายน้ำ ตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุม น้ำในคลองเน่าเสีย เรือไม่สามารถลอดใต้สะพาน สภาพเช่นนี้ประชาชนไม่สามารถใช้คลองสัญจรไปมาได้อย่างคลองสาธารณะอื่น จึงไม่ถือเป็นทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349
ด้านทิศตะวันออกของที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากทางสาธารณประโยชน์เพียง 50 เซนติเมตร เท่ากับความกว้างของที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ซึ่งปิดล้อมอยู่ด้านนี้ แต่ด้านทิศตะวันตกของที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากทางสาธารณประโยชน์ถึง 4 เมตร 50 เซนติเมตร เท่ากับความกว้างของที่ดินของจำเลยทั้งสี่ จากที่ดินของโจทก์เมื่อผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 เพื่อออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ก็เป็นระยะทางที่ใกล้กว่าที่จะผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสี่ออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ถึง 280 เมตร แม้ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกจะมีความกว้างประมาณ 4 เมตร ถึง 6 เมตร 40 เซนติเมตร ส่วนทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกแม้มีความกว้างถึง 12 เมตร มี 4 ช่องเดินรถ แต่ก็ไม่ได้มีความกว้างเช่นนี้ตลอดแนวที่ดินของจำเลยทั้งสี่ คงมีความกว้างเช่นนี้เฉพาะบริเวณที่อยู่หน้าสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 2 พ้นจากนั้นก็ลดลงเหลือเพียง 2 ช่องเดินรถ เฉพาะความกว้างเพียงบางส่วนของทางสาธารณประโยชน์ด้านนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความสะดวกในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกมีมากกว่าทางด้านทิศตะวันออก โดยเฉพาะทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกนี้ติดกับทางเข้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 2 และอยู่ตรงข้ามกับสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายของห้างซึ่งน่าจะมีการจราจรที่พลุกพล่านมากกว่าทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออก เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นของโจทก์ที่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์แล้ว ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกจึงมีความเหมาะสมแก่ความจำเป็นมากกว่าเพราะเนื้อที่ดินที่จะต้องสูญเสียไปเนื่องจากการทำทางผ่านมีความกว้างเพียง 50 เซนติเมตร น้อยกว่าเนื้อที่ดินที่จำเลยทั้งสี่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการผ่านของโจทก์ถึง 4 เท่า ทั้งเมื่อเทียบขนาดความกว้างของที่ดินแล้ว ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ย่อมอยู่ในสภาพที่สามารถทำประโยชน์ได้มากกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ซึ่งปรากฏว่า จำเลยทั้งสี่ทำร้านขายอาหารและเครื่องดื่มอยู่บนที่ดินด้วย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 มีสภาพเป็นร่องสวน
ถนนภายในหมู่บ้านเป็นทางสาธารณประโยชน์ ประชาชนทั่วไปย่อมมีสิทธิใช้สอยร่วมกัน ผู้ใดจะกีดกันหรือไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้สอยไม่ได้เพราะไม่ใช่ทรัพย์ส่วนตัว ส่วนผู้ที่ใช้สอยไม่ว่าเป็นสาธารณประโยชน์ประเภทใดก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั่วไปและกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์นั้นเพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นและไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สาธารณประโยชน์นั้นเช่นกัน ที่โจทก์อ้างว่า ชาวบ้านภายในหมู่บ้าน พ. จะไม่ยินยอมให้โจทก์ใช้ถนนภายในหมู่บ้านและการนำรถบรรทุกดินผ่านถนนในหมู่บ้านจะทำให้ถนนเสียหาย จึงไม่ใช่เหตุผลที่โจทก์จะนำมาอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถใช้ทางสาธารณประโยชน์ภายในหมู่บ้านได้ เมื่อยังมีที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ที่โจทก์จะผ่านออกถึงทางสาธารณประโยชน์ได้และจะเกิดความเสียหายแก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยกว่าของจำเลยทั้งสี่ ทั้งไม่ได้ทำให้โจทก์สูญเสียความสะดวกหรือประโยชน์ใช้สอยที่พอสมควรแก่ความจำเป็นที่จะออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้แล้ว แต่โจทก์กลับมาขอผ่านในที่ดินของจำเลยทั้งสี่ซึ่งจะได้รับความเสียหายมากกว่าจึงเป็นกรณีเกินกว่าความจำเป็นของโจทก์ที่จะออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ จึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1349

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13760/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางจำเป็น: ศาลฎีกาตัดสินให้เปิดทางผ่านที่ดิน แม้มีทางสาธารณประโยชน์ แต่การใช้ทางเดิมสะดวกกว่า และกำหนดค่าทดแทน
แม้ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกจะติดกับแม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 แต่ปัจจุบันแม่น้ำท่าคอยไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรไม่มีเรือโดยสารหรือเรือสินค้าสัญจรผ่านไปมาคงมีแต่เรือหาปลาและในหน้าแล้งจะมีผักตบชวาขึ้นเต็มหนาแน่นเช่นนี้ แม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 จึงหาใช่ทางสาธารณะที่จะใช้เป็นทางออกของที่ดินโจทก์ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง แต่หมายความว่าที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือในสภาพยากลำบากอื่นทำนองเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง เมื่อเจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์และโจทก์เคยใช้ทางพิพาทที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้
สิทธิในทางจำเป็นย่อมเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายตามสภาพความเป็นจริงของที่ดินในขณะยื่นฟ้อง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม จะพิจารณาแต่ในทางที่โจทก์มีความประสงค์ใช้เส้นทางแล้วพิพากษาให้ตามที่โจทก์ขอหาได้ไม่ ต้องพิจารณาคำนึงถึงฝ่ายจำเลยด้วยว่า การเปิดทางนี้ทำให้จำเลยเสียหายแต่น้อยที่สุดหรือไม่ และการที่จะให้โจทก์ใช้ทางสาธารณะ อันจะเป็นการกระทบสิทธิในที่ดินของบุคคลอื่นอีกย่อมไม่สมควรกระทำ
เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็น แม้จะยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ซึ่งจำเลยเจ้าของที่ดินที่มีทางพิพาทตั้งอยู่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิผ่านทางจำเป็นใช้ค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปได้เอง โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาลก่อน จะถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกค่าทดแทนเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยมิได้อุทธรณ์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8686/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทางผ่านที่ดินของผู้อื่นในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมีค่าตอบแทน และผลผูกพันต่อทายาท
ทางพิพาทอยู่บนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประชาชนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์มีเพียงสิทธิครอบครอง ดังนั้น ผู้ครอบครองจึงไม่อาจนำที่ดินออกขาย แต่เมื่อพิเคราะห์สัญญาซื้อขายที่ดินเพื่อทำทางพิพาท ก็พอจะแปลเจตนาของคู่สัญญาได้ว่า เป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนในการอนุญาตให้ใช้ทางพิพาท โดยได้รับค่าตอบแทน 2,000 บาท สัญญาดังกล่าวจึงเป็นบุคคลสิทธิผูกพันให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตาม โจทก์เป็นบุตรของ อ. ผู้ซื้อ ส่วนจำเลยเป็นบุตรของ ผ. ซึ่งเป็นผู้ทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าว ขณะ ห. รับเงินค่าตอบแทนการใช้ทางพิพาท ผ. ยังเป็นผู้ครอบครองอยู่ ปัจจุบันโจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ อ. และ ผ. ในที่ดินในเขตปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่อนุญาตให้ใช้ทางพิพาทตามที่สัญญาไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิปิดกั้นไม่ให้โจทก์ใช้ทางพิพาท ส่วนโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิจะขอให้ศาลพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12116/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการใช้ทางจำเป็นและการพิสูจน์ทางออกสู่ทางสาธารณะของที่ดิน หากไม่มีทางออกตามกฎหมาย สิทธิภาระจำยอมอาจเกิดขึ้น
ก. ยกที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ ให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการกรมตำรวจ ที่ดินส่วนนี้จำเลยที่ 1 ใช้จัดตั้งสถานีวิทยุตำรวจตระเวนชายแดนค่ายพระเจ้าตากนับแต่ได้รับการยกให้ในปี 2528 มีการกันที่ดินไว้เป็นทางสาธารณประโยชน์เพื่อเชื่อมจากที่ดินจำเลยที่ 1 สู่ทางหลวงแผ่นดินสายตาก - เถิน (พหลโยธิน) ซึ่งเป็นทางสาธารณะไว้ก่อนตั้งแต่ ก. แสดงเจตนายกที่ดินให้แก่กระทรวงการคลัง จึงไม่ใช่กรณีที่ดินจำเลยที่ 1 มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจผ่านที่ดินโจทก์ซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้ แม้ทางเข้าที่ดินจำเลยที่ 1 ผ่านทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินมีความสูงชันกว่ากันมาก ก็เป็นความสูงชันแตกต่างระหว่างทางสาธารณะด้วยกัน มิใช่ความสูงชันของที่ดินจำเลยที่ 1 กับทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงมิอาจถือประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง ได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชนะคดีโดยวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น หากจำเลยทั้งสองยังติดใจในประเด็นเรื่องทางภาระจำยอมอยู่ แม้จำเลยทั้งสองไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็ต้องยกขึ้นเป็นประเด็นในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัย เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ตั้งประเด็นในเรื่องทางภาระจำยอมไว้ จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12102/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม vs. ทางจำเป็น: การใช้ทางโดยอาศัยความสัมพันธ์เครือญาติไม่ก่อให้เกิดภาระจำยอม ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกประเด็น
โจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิ ป.ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมิใช่เป็นการใช้สิทธิในทางพิพาทอันเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินจึงไม่ก่อให้เกิดภาระจำยอม หลังจากจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของทางพิพาท โจทก์ทั้งสามมิได้มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าใช้ทางพิพาทโดยมีเจตนาเพื่อให้ได้ทางภาระจำยอม โจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทโดยถือวิสาสะอาศัยความเกี่ยวพันในทางเครือญาติ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทในลักษณะเป็นปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้โจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองกว่าสิบปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นทางภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแต่ประการเดียว แม้คำฟ้องบรรยายว่า ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมรอบ ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะประโยชน์ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสามมิได้ขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นด้วย ชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรื้อถอนประตูเหล็กและรั้วออกไปหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลยกฟ้องโจทก์ทั้งสามด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสามจะฟ้องใหม่ในเรื่องทางจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9325/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางจำเป็น: การแบ่งแยกที่ดินก่อนมีถนนสาธารณะ และการพิสูจน์การถูกล้อมรอบด้วยที่ดินผู้อื่น
ทางจำเป็นจะขอได้ต่อเมื่อที่ดินมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทางสาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 เมื่อปรากฏว่าที่ดินของโจทก์และที่ดินพิพาทถูกแบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดียวกันก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย 1 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 มาบังคับได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ 3 ทาง แต่เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์ ซึ่งเจ้าของที่ดินอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางหรือไม่ก็ได้ และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให้โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก จึงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด
of 33