คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 25 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9164/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงในคดีแพ่งที่เกินทุนทรัพย์ และค่าสินไหมทดแทนจากเหตุละเมิดทางรถยนต์
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและประสงค์จะดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนมีสิทธิดำเนินคดีในส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว กรณีจึงไม่ต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นทุนทรัพย์เพียงใด ดังนี้แม้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงและโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งทุนทรัพย์ที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของศาลแขวงก็ตาม ศาลแขวงก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งของผู้เสียหายที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา แม้เกินอำนาจพิจารณาคดีแพ่ง
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายทดแทนแก่ตนก็ได้" การที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและต้องไปดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ดำเนินคดีในส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว ดังเช่นกรณีที่พนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย กรณีจึงไม่ต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตาม ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำขอท้ายฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการทำที่ดินและการตรวจสอบหลักเขต ไม่ถือเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณราคาได้ คดีอยู่ในอำนาจศาลแขวง
คำขอท้ายฟ้อง ซึ่งมีความว่า "ให้จำเลยชำระค่าทำที่ดินให้เรียบร้อย ทำขอบกันดินเช่นแปลงอื่น และการยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินเพื่อตรวจสอบหลักเขตพร้อมปักหน้าเขตที่ดินใหม่ เป็นเงิน 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน)" ตามคำขอเช่นนี้เป็นการขอบังคับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 25,000 บาท เท่านั้น มิได้ขอบังคับให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด การที่โจทก์ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวและเสียค่าใช้จ่ายก็เป็นเรื่องของโจทก์ในทำนองเดียวกันกับการเรียกค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมแซมทรัพย์สินไว้ก่อนโดยที่ยังไม่มีการซ่อมแซม ส่วนการที่โจทก์จะเรียกร้องเงิน 25,000 บาท จากจำเลยได้หรือไม่ เพียงใดนั้น ย่อมเป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีต่อไป กรณีไม่อาจแปลไปได้ว่าคำขอดังกล่าวเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย คดีของโจทก์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์และอยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง