พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในการยื่นคำร้องถอนผู้จัดการมรดกต้องมีเหตุตามกฎหมาย และต้องเกิดขึ้นหลังครบกำหนดเวลาที่ผู้จัดการมรดกต้องปฏิบัติหน้าที่
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งอ้างเหตุเพียงประการเดียวว่า ผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในเวลาอันสมควร ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728" แสดงว่า ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากไม่ดำเนินการในเวลาดังกล่าวอาจถูกศาลถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายในหนึ่งปี การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกก่อนที่จะครบกำหนดเวลาหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดอันจะเป็นเหตุให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และจะถือว่าผู้ร้องไม่มีความสามารถตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 (2) อันจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นร้องขอ จึงยังไม่มีเหตุตามคำร้องขอ ที่จะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือจำต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาผู้ร้องยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังอันจะถือว่าเป็นเหตุตามคำร้องขอหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8073/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในที่ดินพิพาทกับมรดก: ไม่จำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดก
ที่ดินตามคำร้องขอไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าเป็นกรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายเพื่อขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ได้ ส่วนผู้คัดค้านก็มิได้กล่าวอ้างว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ร้องแต่อย่างใด ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างโต้เถียงกันว่าฝ่ายใดมีสิทธิในที่ดินตามคำร้องขอเท่านั้นเมื่อฝ่ายใดเห็นว่าตนถูกอีกฝ่ายโต้แย้งสิทธิในที่ดินดังกล่าว ก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนเรียกร้องเอาที่ดินจากฝ่ายที่โต้แย้งโดยตรงอย่างคดีมีข้อพิพาท ไม่จำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดกเพราะไม่เป็นประโยชน์แก่กองมรดกแต่ประการใด กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713(1)(2) ที่จะใช้สิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 611/2527
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตั้งผู้จัดการมรดก: ทายาทไม่สูญหาย-ข้อพิพาทสิทธิทรัพย์มรดก ไม่เข้าเงื่อนไขขอตั้งผู้จัดการมรดก
ตามคำร้องขอที่ผู้ร้องอ้างว่า เจ้ามรดกยังมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 3 คน แต่อพยพไปอยู่ต่างจังหวัดไม่ทราบที่อยู่แน่นอนนั้น ถือไม่ได้ว่า ทายาทโดยธรรมดังกล่าวของเจ้ามรดกสูญหายไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713(1) ทั้งตามคำร้องของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดก ก็ไม่ได้กล่าวถึงเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกมาด้วย เป็นกรณีที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างอ้างว่าตนมีสิทธิในทรัพย์มรดกดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ชอบที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากฝ่ายที่โต้แย้งโดยตรงอย่างคดีมีข้อพิพาท กรณีของผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713(1)(2) ที่จะใช้สิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ได้