คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ม. 31

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10351/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงลายมือชื่อกรรมการไม่ถือเป็นการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535 มาตรา 19 วรรคสอง และมาตรา 31 กล่าวเฉพาะข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิเท่านั้นที่หากมีการแก้ไขจะต้องนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ดังนั้น แม้ลายมือชื่อของนางสาว ส. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ จะเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปบ้าง แต่ก็ไม่ถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535 มาตรา 19 วรรคสอง และมาตรา 31 กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 8 ที่ว่า ผู้ถือหุ้นหรือบริษัทจะถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกจากข้อความหรือรายการใด ๆ ที่ต้องจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ จนกว่านายทะเบียนจะได้รับจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อนาย ส. กรรมการโจทก์ลงลายมือชื่อร่วมกับนางสาว ส. ซึ่งเป็นกรรมการอีกคนหนึ่งและประทับตราสำคัญของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในหนังสือรับรอง การมอบอำนาจของโจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4564/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยรถยนต์สูญหาย: การยักยอกโดยผู้ยืมรถ ไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของประกันภัย
รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกยักยอกโดย ก. ซึ่งเป็นผู้ที่ขอยืมรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไปใช้ ทั้งไม่ได้ความว่า ก. เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าว จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยร่วม ผู้รับประกันภัย จะปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้
ตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่มีเงื่อนไขข้อใดที่ระบุว่า หากผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่ไม่แจ้งความเสียหายหรือไม่แจ้งเหตุที่ทำให้เกิดความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยให้จำเลยร่วม ผู้รับประกันภัย ทราบในทันที จะทำให้จำเลยร่วมหลุดพ้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ไปปรึกษากับพนักงานสอบสวนในเรื่องรถยนต์ถูกยักยอกแล้วไปแจ้งโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อเพื่อให้โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจแจ้งความดำเนินคดีก็เป็นการดำเนินการอันจำเป็นเพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมายของจำเลยที่ 1 ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแล้ว ส่วนโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัย ไม่มีหน้าที่แจ้งเหตุให้จำเลยร่วมทราบ ดังนั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งเหตุรถยนต์ถูกยักยอกไปให้จำเลยร่วมทราบจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยร่วมปฏิเสธความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้