คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 10 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความหลังประกาศกระทรวงแรงงาน: ผลกระทบต่อความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
วันที่ 3 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงินคนละ 250,000 บาท วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานด้วยการค้ำประกันด้วยบุคคลไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ย หากมีการค้ำประกันเกินกำหนดดังกล่าวให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันใหม่ไม่เกินจำนวนตามที่กำหนด ต่อมาโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงาน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมชำระหนี้ให้โจทก์คนละ 250,000 บาท ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานระงับสิ้นไป และทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 สัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นหลังจากที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 สัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13530/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันในสัญญาจ้างงานตามประกาศกระทรวงแรงงาน แม้ทำสัญญาค้ำก่อนประกาศมีผล
ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ที่ออกโดยอาศัยมาตรา 6 และมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ในข้อ 10 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันโดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ แม้ประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ภายหลังจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ก็ตาม แต่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความเสียหายแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปประมาณต้นปี 2552 และโจทก์ทราบการกระทำของจำเลยที่ 1 ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2552 กรณีความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันย่อมเกิดหลังจากประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องใช้ประกาศดังกล่าวอันเป็นกฎหมายที่มีผลในขณะนั้นใช้บังคับ แม้ตามข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อต้องรับผิดตามประกาศดังกล่าวไม่เกินกว่าหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ได้รับ ส่วนที่ต้องรับผิดตามข้อตกลงเกินกว่านั้นถือว่าขัดต่อประกาศดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลให้ข้อตกลงในส่วนที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดเสียเปล่าไป จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์หกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12640/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามประกาศกระทรวงแรงงาน แม้ทำสัญญาก่อนประกาศใช้
ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 นั้น นอกจากจะมีข้อ 10 ซึ่งกำหนดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ อันเป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในความเสียหายจากการทำงานให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไปในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญาแล้วยังมีข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า กรณีที่มีการเรียกหรือรับหลักประกันเกินที่กำหนดไว้มาก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น ให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ด้วย แสดงว่านายจ้างและลูกจ้างไม่อาจตกลงนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศดังกล่าวกำหนด ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์แม้จะทำกันก่อนประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งเกิดขึ้นภายหลังก็ต้องบังคับไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศฉบับดังกล่าวคือไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10743/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน-ประกาศกระทรวงแรงงาน: ไม่อาจใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลังบังคับสัญญาเดิมที่เกิดก่อนประกาศมีผลใช้บังคับ
การค้ำประกันเป็นสิทธิในทางแพ่ง ต้องใช้กฎหมายในขณะเกิดเหตุหรือเกิดความเสียหาย
การที่ประกาศฯ ข้อ 12 ที่ว่านายจ้างที่เรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากลูกจ้างเป็นทรัพย์สินหรือให้บุคคลค้ำประกันไว้มีมูลค่าเกินว่า 60 เท่าของค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยอยู่ก่อนวันที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานไม่เกินกว่าจำนวนมูลค่าของหลักประกันที่กำหนดไว้ในประกาศฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ เป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติให้นายจ้างดำเนินการหลังจากประกาศฯ มีผลใช้บังคับแล้ว ไม่ใช่กรณีที่ให้ประกาศฯ มีผลย้อนหลัง
ตาม ข้อ 2 ระบุให้ประกาศฯ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ก. ลูกจ้างของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ก่อนวันที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ต้องบังคับตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลย (ผู้ค้ำประกันการทำงานของ ก.) ได้ทำกับโจทก์ไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกเก็บเงินประกันความเสียหายจากการทำงานของลูกจ้าง: หลักเกณฑ์และขอบเขตตามกฎหมาย
อ. เป็นผู้จัดการสถานีมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมทรัพย์สินภายในร้านสะดวกซื้อของโจทก์ จึงเข้าลักษณะงานที่โจทก์จะเรียกเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้
การที่ อ. ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยรายวันวันละ 233.33 บาท ขณะที่โจทก์ได้รับเงินประกันซึ่งโจทก์สามารถเรียกได้ไม่เกิน 30 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันที่นายจ้างรับเงินประกันคิดเป็นเงิน 13,999.80 บาท โจทก์หักค่าจ้างของอ. ไว้เป็นเงินประกันจำนวน 9,415 บาท จึงเป็นจำนวนเงินที่โจทก์สามารถเรียกได้และโจทก์ได้นำเงินประกันดังกล่าวไปฝากไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. อันเป็นสถาบันการเงินในนามของ อ. จึงเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ แม้โจทก์จะไม่ได้แจ้งชื่อสถาบันการเงิน ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้ อ. ทราบก็ไม่มีผลกระทบต่อการเรียกเก็บเงินประกันความเสียหายในการทำงานที่โจทก์เรียกเก็บจาก อ. โดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำเงินประกันดังกล่าวมาหักจากค่าเสียหายที่ อ. ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในการทำงานได้และไม่จำต้องคืนเงินประกันดังกล่าวแก่ อ. ด้วย