คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 12

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12640/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามประกาศกระทรวงแรงงาน แม้ทำสัญญาก่อนประกาศใช้
ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 นั้น นอกจากจะมีข้อ 10 ซึ่งกำหนดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ อันเป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในความเสียหายจากการทำงานให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไปในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญาแล้วยังมีข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า กรณีที่มีการเรียกหรือรับหลักประกันเกินที่กำหนดไว้มาก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น ให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ด้วย แสดงว่านายจ้างและลูกจ้างไม่อาจตกลงนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศดังกล่าวกำหนด ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์แม้จะทำกันก่อนประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งเกิดขึ้นภายหลังก็ต้องบังคับไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศฉบับดังกล่าวคือไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10743/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน-ประกาศกระทรวงแรงงาน: ไม่อาจใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลังบังคับสัญญาเดิมที่เกิดก่อนประกาศมีผลใช้บังคับ
การค้ำประกันเป็นสิทธิในทางแพ่ง ต้องใช้กฎหมายในขณะเกิดเหตุหรือเกิดความเสียหาย
การที่ประกาศฯ ข้อ 12 ที่ว่านายจ้างที่เรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากลูกจ้างเป็นทรัพย์สินหรือให้บุคคลค้ำประกันไว้มีมูลค่าเกินว่า 60 เท่าของค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยอยู่ก่อนวันที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานไม่เกินกว่าจำนวนมูลค่าของหลักประกันที่กำหนดไว้ในประกาศฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ เป็นการกำหนดวิธีปฏิบัติให้นายจ้างดำเนินการหลังจากประกาศฯ มีผลใช้บังคับแล้ว ไม่ใช่กรณีที่ให้ประกาศฯ มีผลย้อนหลัง
ตาม ข้อ 2 ระบุให้ประกาศฯ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ก. ลูกจ้างของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ก่อนวันที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ต้องบังคับตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลย (ผู้ค้ำประกันการทำงานของ ก.) ได้ทำกับโจทก์ไว้