คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ม. 54 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4783/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสิทธิบัตรยาจากสมุนไพร กวาวเครือ ที่ไม่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 โดยกล่าวอ้างว่าการประดิษฐ์ที่มีส่วนประกอบของกวาวเครือมีการเปิดเผยสาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2474 ก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์จึงไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น เพราะองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือเป็นส่วนประกอบพื้นๆ ธรรมดาที่บุคคลอื่นและโจทก์ใช้หรือผลิตกันอยู่ทั่วไป ทั้งไม่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรืออื่นๆ ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องการผลิตทางอุตสาหกรรม ไม่เป็นประโยชน์ทางอุตสาหกรรม คงถือเป็นเพียงการผสมสมุนไพร จึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ คำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นที่เข้าใจอย่างชัดแจ้งแล้วว่า สิทธิบัตรพิพาทไม่สมบูรณ์เพราะเหตุใด ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
โจทก์ประกอบธุรกิจจำหน่ายและผลิตยาและเครื่องสำอางซึ่งผลิตจากสมุนไพรกวาวเครือ ต่อมาเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ประกาศในหนังสือพิมพ์ให้ผู้ผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย และเสนอขายผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน หรือคล้ายกันกับองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือของจำเลยที่ 1 ยุติการกระทำและเรียกคืนผลิตภัณฑ์จากท้องตลาด จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่าโจทก์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรกวาวเครือเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งหากสิทธิบัตรพิพาทมีผลสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ย่อมจะมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าว และมีสิทธิห้ามบุคคลอื่นรวมทั้งโจทก์ในการประกอบการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือได้ ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากข้อถือสิทธิที่ระบุไว้ในสิทธิบัตรพิพาทเป็นสำคัญ โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรได้ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 934/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตร: การเพิกถอนเนื่องจากขาดความใหม่-ใช้แพร่หลายก่อนขอรับสิทธิบัตร และอำนาจฟ้องของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
บริษัท ค. ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ "วิธีการเดินชมทัศนียภาพบนพื้นทะเลและอุปกรณ์สำหรับการเดินชมทัศนียภาพบนพื้นทะเล" โจทก์ซึ่งประกอบกิจการนำเที่ยวโดยการเดินชมทัศนียภาพบนพื้นทะเลถือว่ามีความเกี่ยวข้องกับสิ่งประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาท และได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่มีการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรดังกล่าว นับเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรได้ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง
โจทก์มีพยานซึ่งอยู่ในวงการดำน้ำมาเบิกความชัดเจนว่าในส่วนของวิธีการตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรมีการใช้กันอย่างแพร่หลายแล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร พยานหลักฐานโจทก์ได้แสดงถึงรายละเอียดของระบบการทำงานของอุปกรณ์เดินใต้น้ำที่มีลักษณะเช่นเดียวกับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรพิพาท โจทก์หาจำต้องนำสืบแยกแสดงขั้นตอนต่าง ๆ ตามลำดับทั้ง 10 ขั้นตอน ตามข้อถือสิทธิข้อ 1 รวมทั้งรายละเอียดเพิ่มเติมข้อ 2 ถึงข้อ 7 และกล่าวถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่าใช้ร่วมกันทั้งหมดหรือไม่อย่างไร กรณีที่มีการนำระบบและอุปกรณ์มาใช้กับนักท่องเที่ยวเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรตามมาตรา 6 วรรคสอง (1)