คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 96

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 260 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงร่วมกัน: การกระทำที่ร่วมกันหลอกลวงให้เกิดความเสียหายทางการเงิน และประเด็นอายุความ
ใบจองหุ้นสามัญเป็นเพียงหลักฐานให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในการเป็นผู้ซื้อหุ้นที่บริษัท ห. จะจัดสรรให้เมื่อมีการจดทะเบียนเพิ่มทุนแล้ว แม้โจทก์จะทำสัญญาจองซื้อหุ้นเป็นเวลานานเป็นปีแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้รับใบหุ้นและพยายามทวงถามจำเลยทั้งสองก็ตาม โจทก์ย่อมไม่ทราบว่าถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงหรือไม่ เพราะอาจมีปัญหาเกี่ยวกับบริษัทโดยตรงที่ไม่สามารถจดทะเบียนเพิ่มทุนได้ ระหว่างที่รอโจทก์จึงไม่สามารถทราบได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาฉ้อโกงโจทก์ จนกระทั่งวันที่ 20 มีนาคม 2541 จำเลยทั้งสองยอมรับกับโจทก์ว่าไม่มีการจดทะเบียนเพิ่มทุน จึงไม่มีหุ้นโอนให้โจทก์ พร้อมคืนเงินค่าจองหุ้นและชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท เพื่อไม่ให้โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์จึงทราบว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหมิ่นประมาท: การรับหนังสือแจ้งข้อร้องเรียนถือเป็นวันที่รู้ความผิด
โจทก์รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง สถานที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์คือ วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงจึงเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ ซึ่งเป็นข้าราชการตาม ป.พ.พ. มาตรา 46
ผู้อำนวยการกองการศึกษาอาชีพมีหนังสือถึงโจทก์ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมกับแนบหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของจำเลยที่ 2 อันมีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ไปให้โจทก์ทราบด้วย หนังสือดังกล่าวได้ส่งถึงวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับหนังสือไว้แทนโจทก์ และได้ทำบันทึกนำเสนอโจทก์พร้อมลงวันที่กำกับในวันเดียวกัน โจทก์ไม่นำสืบว่าวันนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับหนังสือตามที่เจ้าหน้าที่เสนอ และไม่นำสืบว่าเหตุใดจึงเพิ่งเกษียณส่งหนังสือในวันที่ 2 มีนาคม 2542 แม้โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบและสั่งการให้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 2 มีนาคม 2542 ก็เป็นวิธีการดำเนินการตามระบบราชการเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันเดียวกัน คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์และฟ้องคดีนี้ภายใน 3 เดือน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฉ้อโกง: การรู้เรื่องความผิดและตัวผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ
ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 ปรากฏตามคำเบิกความโจทก์ร่วมและ น. ภริยาของโจทก์ร่วมได้ความว่า หลังจากมอบรังนกนางแอ่นและไม้จันทร์หอมให้จำเลยแล้ว จำเลยบอกให้โจทก์ร่วมรอรับเงินอยู่ที่ลานจอดรถซึ่งเป็นสถานที่ส่งมอบสินค้านั้นเอง โจทก์ร่วมและ น. จึงรอจำเลยอยู่บริเวณดังกล่าว ตั้งแต่เวลาประมาณ 16 ถึง 17 นาฬิกา จนกระทั่งเที่ยงคืนจำเลยก็ไม่ไปตามนัด เมื่อโจทก์ร่วมโทรศัพท์ติดต่อไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยจำเลยก็ปิดเครื่องโทรศัพท์ของจำเลยเสีย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวโจทก์ร่วมควรจะรู้เสียตั้งแต่ในขณะนั้นแล้วว่าจำเลยเจตนาฉ้อโกงตน การที่โจทก์ร่วมพยายามโทรศัพท์ถึงจำเลยอีกหลายครั้งในเวลาต่อมาทั้งๆ ที่จำเลยรับบ้างไม่รับบ้าง หรือบางครั้งรับปากว่าจะนำเงินไปชำระแต่แล้วก็ผิดนัด เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลย ซึ่งถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเพิ่งทราบหรือแน่ใจถึงการกระทำของจำเลยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 อันเป็นวันที่จำเลยอ้างต่อ บ. ว่าได้ให้เงินโจทก์ร่วมแล้วแต่เพียงใด การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมในวันที่ 23 มีนาคม 2544 จึงเป็นการร้องทุกข์เมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความร้องทุกข์ฉ้อโกง: เริ่มนับเมื่อรู้เจตนาทุจริต ไม่ใช่เมื่อแน่ใจ
โจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยเจตนาฉ้อโกงตนในวันใดอายุความร้องทุกข์ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น การที่โจทก์ร่วมพยายามโทรศัพท์ถึงจำเลยอีกหลายครั้งหลายหนในเวลาต่อมาทั้งๆ ที่จำเลยรับบ้างไม่รับบ้าง หรือบางครั้งรับปากว่าจะนำเงินไปชำระแต่แล้วก็ผิดนัดเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเพิ่งทราบถึงการกระทำความผิดของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฉ้อโกง: การรับรู้ความผิดของผู้เสียหายเป็นจุดเริ่มต้นนับอายุความ
จำเลยชักชวนโจทก์ร่วมให้ลงทุนทำธุรกิจกับจำเลย โดยอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ของโรงแรมเพื่อจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมไทยให้ชาวต่างประเทศมาซื้อและนำไปทำกล่องปากกาย่านลิเภาส่งให้บริษัท ก. พร้อมกับนำหลักฐานการติดต่อโรงแรมและบริษัท ก. มาให้ดู โจทก์ร่วมจึงโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยรวม 13 ครั้ง จากนั้นโจทก์ร่วมก็ไม่เห็นว่าจำเลยจะดำเนินการใดๆ และคอยติดตามทวงถามจำเลยว่าดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจไปมากน้อยเพียงใด จำเลยบ่ายเบี่ยงว่ากำลังติดต่ออยู่และยังดำเนินการไม่เสร็จ โจทก์ร่วมจึงทวงเงินคืน แต่แทนที่จำเลยจะคืนเงินกลับสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ร่วมสองฉบับ ซึ่งนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2543 อันเป็นวันที่โจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยครั้งแรกถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมนั้นก็เป็นระยะเวลาหลายเดือน โจทก์ร่วมย่อมน่าจะรู้แต่นั้นแล้วว่าจำเลยหลอกลวงเอาเงินไปโดยมิได้ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจตามที่ชักชวนไว้ ครั้นโจทก์ร่วมนำเช็คทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงินธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมทวงถาม แต่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายอีก จึงเป็นพฤติการณ์ที่มาสนับสนุนให้โจทก์ร่วมรู้แน่ชัดยิ่งขึ้นอีกว่าถูกจำเลยหลอกลวงแล้ว การที่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นไม่เป็นผลลบล้างการรับรู้ของโจทก์ร่วมที่ถูกจำเลยหลอกลวง แต่วันที่โจทก์ร่วมไปทวงถามเงินคืนจากจำเลยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นวันใด จึงต้องถือเอาวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมเป็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ร่วมแล้ว เมื่อโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยวันที่ 1 ตุลาคม 2544 จึงเกินกว่า 3 เดือน คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องอาญา: ความเสียหายจากการยักยอกทรัพย์ของผู้เช่าซื้อ และอำนาจร้องทุกข์
แม้ บ. ผู้เช่าซื้อยังชำระราคาค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกดังกล่าวยังเป็นของ ว. ผู้ให้เช่าซื้อ แต่ บ. ก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อนั้นและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ ว. ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจาก บ. บ. ย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับ ว. เจ้าของรถยนต์บรรทุกดังกล่าว คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อ บ. รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 แต่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ซึ่งเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การร้องทุกข์เกิน 3 เดือน ทำให้คดีขาดอายุความ แม้ผู้เสียหายมีสิทธิร้องทุกข์
แม้ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าซื้อ คดีนี้เป็นกรณีความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เช่าซื้อมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 150/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีเช็ค: เริ่มนับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ไม่ใช่วันที่ออกเช็ค
คดีความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 ซึ่งความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มิใช่เกิดขึ้นในวันที่ลงในเช็คพิพาท ดังนี้ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 จึงถือว่าความผิดของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นในวันดังกล่าว ฉะนั้น การเริ่มนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2538 อันเป็นวันที่ลงในเช็คพิพาท เมื่อโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 20 ตุลาคม 2538 ภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7721/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีข่มขืน, ภาวะเสียเปรียบ, และอำนาจศาลในการลงโทษตามความผิดที่ปรากฏ
การกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นการร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ผู้เสียหายทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในบ้านของจำเลยและถูกจำเลยข่มขู่ว่าหากไม่ยิมยอมให้จำเลยกระทำชำเราจะส่งตัวผู้เสียหายให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ผู้เสียหายอยู่ในภาวะเสียเปรียบไม่อาจต่อสู้ขัดขืนจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของตนได้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก อันเป็นความผิดที่รวมการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ด้วยแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5210/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความ, การไม่บังคับขายหลักทรัพย์, และความเสียหายจากการผิดสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการ โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 โดยทำสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัดเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ต่อมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้าเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ที่ลูกค้าวางเป็นประกัน เมื่อมีอัตราส่วนระหว่างมูลค่าหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันรวมกับทรัพย์สินที่วางเป็นประกันหักด้วยหนี้ต่อมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันเท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 15 ในวันทำการถัดจากวันที่มูลค่าลดลงในอัตราดังกล่าว ประกาศนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและผู้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์หรือลูกค้าโดยรวม การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 ว่าหลักทรัพย์ของโจทก์ตามบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2539 มีอัตราส่วนลดลงเท่ากับร้อยละ 7.0511 ให้โจทก์ชำระเงินหรือนำตั๋วเงินหรือทรัพย์สินอื่นตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดมาประกันเพิ่มเติม โดยไม่บังคับขายหลักทรัพย์ เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดังกล่าว ย่อมก่อความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ผู้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ทันทีนับแต่วันที่จำเลยทั้งหกฝ่าฝืน เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวทราบเรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 แต่ไม่ได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์สำหรับข้อหานี้จึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ชำระเงินหรือนำตั๋วเงินหรือทรัพย์สินอื่นตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดมาประกันเพิ่มเติม แต่โจทก์มิได้วางประกันเพิ่มเติม ทั้งมิได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ขายหลักทรัพย์ตามข้อตกลงในสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัด พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์สมัครใจให้จำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์ในวันถัดจากวันที่อัตราส่วนดังกล่าวลดลงต่ำกว่าร้อยละ 15 ตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ไป โดยขณะขายหลักทรัพย์จะมีอัตราส่วนดังกล่าวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 20 ก็เป็นผลมาจากการผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระเงินหรือหาหลักประกันมาวางเพิ่มเติมตามสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น เมื่อไม่ได้ความว่า จำเลยทั้งหกได้รับประโยชน์อันมิควรได้โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือได้กระทำการโดยทุจริต จึงมิใช่การเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของโจทก์อันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของนิติบุคคลนั้น ตามมาตรา 309 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
of 26