คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 406 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5136/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม ศาลต้องรับและเรียกคู่ความใหม่เข้าร่วมพิจารณา
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาลกับโจทก์ บริษัท จ. อ. และ ช. แต่จำเลยผิดสัญญา จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฝ่ายโจทก์ซึ่งรวมถึงบริษัท จ. อ. และ ธ. เป็นฝ่ายผิดสัญญาและขอให้โจทก์ บริษัท จ. อ. และ ธ. ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจากการผิดสัญญาให้แก่จำเลย ฟ้องแย้งของจำเลยย่อมก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่า ฝ่ายโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ จึงควรรับฟ้องแย้งของจำเลยเพื่อรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันกับคำฟ้องโจทก์ และเมื่อตามฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์ บริษัท จ. อ. และ ธ. ซึ่งร่วมกับโจทก์ทำสัญญากับจำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลย จึงเห็นสมควรที่จะเรียกบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นคู่ความในคดีร่วมกับโจทก์ตามคำร้องของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2955/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ศาลไม่รับฟ้องแย้ง และแก้ไขค่าขึ้นศาลให้ถูกต้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาแบ่งส่วนกำไรจากการให้บริการดาวน์โหลดเสียงเพลงริงโทนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชำระส่วนแบ่งกำไรโดยอ้างว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงในหนังสือดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยทั้งหกฟ้องแย้งโดยบรรยายฟ้องแย้งว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ให้สร้างพัฒนาออกแบบ ควบคุมดูแลบริหารจัดการ และทำการตลาดข้อมูลดิจิตอล ข้อมูลทางธุรกิจลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของโจทก์และบริษัทในเครือผ่านสื่อมัลติมีเดีย ตามสัญญาจ้างพัฒนาธุรกิจ แล้วผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างตามสัญญาพัฒนาธุรกิจดังกล่าว ขอให้บังคับโจทก์ชำระหนี้ค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 เมื่อสัญญาพัฒนาธุรกิจที่จำเลยทั้งหกอ้างมีเนื้อหาเป็นคนละส่วนกับสัญญาแบ่งส่วนกำไรที่โจทก์ฟ้อง แม้ว่าสัญญาแบ่งส่วนกำไรจะมีที่มาจากสัญญาพัฒนาธุรกิจ แต่สาระสำคัญของเนื้อหาแตกต่างเป็นคนละเรื่องกัน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งหกจึงเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องโจทก์ ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ชอบที่จำเลยทั้งหกจะฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2116/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้อนุบาลต้องกระทำการร่วมกัน การฟ้องแย้งโดยลำพังไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นผู้อนุบาล จ. หาได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นการส่วนตัวไม่ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเสียหายและเปิดทางเข้าออก อาจดูเหมือนเป็นการบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดในฐานะส่วนตัวดังที่ศาลชั้นต้นเข้าใจก็เป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการบังคับคดี หาทำให้ฟ้องโจทก์ที่ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้อนุบาลของ จ. กลายเป็นฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัวไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโจทก์ในฐานะจำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุบาล จ. และสาระสำคัญของฟ้องแย้งก็เป็นเรื่องสัญญาเช่าเดียวกันกับที่โจทก์ใช้เป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าสัญญาเช่าดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาศัยข้ออ้างดังกล่าวเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องแย้งโจทก์ให้ออกไปจากห้องพิพาทและเรียกค่าเสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม
ป.พ.พ. มาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1590 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือคู่สมรสของ จ. เป็นผู้อนุบาลของ จ. ที่เป็นคนไร้ความสามารถนั้น บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้ ซึ่งตามคำสั่งศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในคดีหมายเลขแดงที่ 25/2548 ระบุเพียงว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้อนุบาลของ จ. ผู้ไร้ความสามารถ โดยมิได้กำหนดหน้าที่ของผู้อนุบาลแต่ละคนไว้โดยเฉพาะ และมิได้กำหนดให้ผู้อนุบาลกระทำการร่วมกันอย่างไร กรณีจึงต้องถือว่าการใดที่จำเลยทั้งสองกระทำการแทน จ. ต้องกระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยที่ 1 ร่วมให้การและฟ้องแย้งมานั้นจึงขัดต่อคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ต่อมา จ. ถึงแก่ความตายระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น อันมีผลให้ความเป็นผู้อนุบาลของจำเลยทั้งสองที่มีต่อ จ. ซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถสิ้นสุดลงในภายหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1572 (เดิม), 1581 (เดิม) แก้ไขใหม่มาตรา 1598/6 และ 1598/18 แล้ว และศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน จ. เจ้ามรดกจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตก็ตาม ก็หามีผลทำให้การขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ของจำเลยที่ 2 ที่สืบเนื่องมาจากการยื่นคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่กระทำโดยปราศจากอำนาจขัดต่อกฎหมาย กลับมีผลเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13706/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันทายาท และการฟ้องแย้งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกรายเดียวกัน
การที่โจทก์ จำเลยและทายาททำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการมรดกของทายาทตระกูล อ. ว่าจำเลยเพียงผู้เดียวจะรับผิดในหนี้สินที่มีอยู่กับธนาคาร โดยทายาทยินยอมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และให้กิจการขายรถจักรยานยนต์บริษัท บ. จำกัด พร้อมหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่เกี่ยวกับกิจการดังกล่าวให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว โดยให้กิจการเป็นของจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกและหนี้สินเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เมื่อจำเลยชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเสร็จสิ้น จำเลยย่อมมีสิทธิในที่ดินตามบันทึกข้อตกลง
ฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ว่า โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 39247 ซึ่งเป็นมรดกของ จ. ให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 1,113,900 บาท และได้แบ่งปันให้ทายาทโดยธรรมบางส่วนแล้วยกเว้นจำเลยกับทายาทบางคนยังไม่ได้รับส่วนแบ่ง และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาทโดยธรรมทุกคนในอัตราส่วนคนละเท่า ๆ กัน ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยขอให้โจทก์แบ่งทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39247 ที่โจทก์ขายไปและกล่าวไว้ในฟ้องเดิมว่ายังไม่ได้แบ่งให้จำเลย การที่จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งทรัพย์มรดกรายเดียวกันกับที่โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องเดิม จึงเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ชอบที่จะว่ากล่าวให้เสร็จสิ้นในคดีเดียวกัน จำเลยไม่จำต้องแยกไปฟ้องเป็นคดีต่างหากตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12177/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม หักกลบลบหนี้ได้ หากเป็นหนี้เงินและถึงกำหนดชำระ
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระค่าสินค้าที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อให้แก่ลูกค้า จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่า โจทก์ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้จำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ค้างชำระค่าบำเหน็จนายหน้าจึงขอบังคับให้โจทก์ชำระค่าบำเหน็จนายหน้าแก่จำเลยที่ 2 โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในวันเวลาต่างกันกับคำฟ้อง เช่นนี้ มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระแก่โจทก์ก็เนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการสั่งซื้อสินค้าเพื่อส่งให้แก่ลูกค้า โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดชำระค่าบำเหน็จนายหน้าที่ค้างชำระแก่จำเลยที่ 2 จึงเกิดจากการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เช่นเดียวกัน กรณีจึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจสั่งซื้อสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แม้จะไม่ใช่หนี้ค่าบำเหน็จของการสั่งซื้อค่าสินค้าตามฟ้องในครั้งนี้ก็ตาม แต่ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เป็นมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน คือหนี้เงินและหนี้ทั้งสองรายถึงกำหนดชำระแล้ว จึงชอบที่จะนำมาหักกลบลบกันได้และพิจารณาพิพากษาไปในคราวเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 หาใช่เป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9345/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายเครื่องจักรเก่า ยอมรับสินค้าแล้วมีหน้าที่ชำระราคา แม้ภายหลังมีชำรุด การฟ้องแย้งเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม
เครื่องบรรจุเอกสารพิพาททั้งสามเป็นเครื่องเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เป็นธรรมดาที่สมรรถนะของเครื่องไม่อาจเทียบได้กับเครื่องใหม่ การซื้อขายสินค้าจึงต้องพิจารณาจากข้อตกลงและพฤติการณ์ของคู่สัญญาเป็นกรณีไป ดังนั้น การปรับบทกฎหมายในเรื่องความรับผิดกรณีมีความชำรุดบกพร่องจึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของกฎหมายในแต่ละมาตราประกอบกัน ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะมาตราหนึ่งมาตราใด จากข้อเท็จจริงเมื่อโจทก์ติดตั้งเครื่องบรรจุเอกสารแต่ละเครื่องเสร็จ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาให้บริการกัน ต่อมามีการทำใบสั่งซื้อเครื่องบรรจุเอกสารทั้งสามเครื่อง แสดงว่าจำเลยยอมรับสินค้าของโจทก์ตามสภาพของสินค้าที่มีการติดตั้งแล้ว และขณะติดตั้งเครื่องบรรจุเอกสารไม่ได้ชำรุดบกพร่อง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าเครื่องบรรจุเอกสารจะอ้างความชำรุดบกพร่องอันไม่สามารถเห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบมาปฏิเสธไม่ชำระค่าสินค้าไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลงแห่งสัญญา ส่วนภายหลังนั้นการใช้งานเครื่องบรรจุเอกสารมีความชำรุดบกพร่อง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยต้องว่ากล่าวกันตามข้อตกลงสัญญาให้บริการ มิใช่กรณีที่จำเลยจะอ้างเป็นเหตุไม่ชำระราคาค่าสินค้าได้
การพิจารณาว่าฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนใดเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมหรือไม่ เพียงใด จะต้องพิจารณาจากคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งฉบับเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใดเท่านั้น คำฟ้องโจทก์บรรยายสรุปว่า จำเลยสั่งซื้อเครื่องบรรจุเอกสารจากโจทก์ จำเลยได้รับสินค้าแล้ว เมื่อถึงกำหนดชำระราคาสินค้า จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้า จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งสรุปว่า การรับสินค้าของจำเลยเป็นการรับเพื่อทดลองใช้ เมื่อทดลองใช้แล้วสินค้ามีการชำรุดบกพร่อง จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าและเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือไปกว่าราคาที่ยึดหน่วงไว้ ดังนั้น คำขอในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคำขอที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าตามคำฟ้องของโจทก์นั่นเอง ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7001/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ต้องไม่มีข้อต่อสู้ หากมีข้อพิพาทเรื่องหนี้ค่าเสียหาย จำเลยมิอาจหักกลบลบหนี้ได้
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าสินค้าที่โจทก์ชำระไป เนื่องจากจำเลยไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยอ้างว่าโจทก์มีหนี้ค่าเสียหายที่ต้องรับผิดต่อจำเลย จากการไม่ชำระค่าสินค้าและรับมอบสินค้าทั้งหมดภายในกำหนด แต่โจทก์ปฏิเสธความรับผิด เช่นนี้ถือว่าหนี้ค่าเสียหายหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวยังมีข้อต่อสู้อยู่ จำเลยมิได้ฟ้องแย้งเพื่อให้ได้ข้อยุติว่า โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยหรือไม่ เพียงใด จำเลยจึงนำหนี้ค่าเสียหายหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งจำเลยอ้างเพียงฝ่ายเดียวมาหักกลบลบหนี้กับเงินค่าสินค้าของโจทก์ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3528/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและดอกเบี้ยค่าชดเชย/วันหยุดพักผ่อนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
ระยะเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 6 อายุความ
ดอกเบี้ยของค่าชดเชยและดอกเบี้ยของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อจำเลยที่ 1 มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยไม่กล่าวถึงดอกเบี้ย จำเลยร่วม (ลูกจ้าง) ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอันเป็นหนี้ประธาน
เงินบำเหน็จและเงินรางวัลประจำปีไม่ใช่เงินอย่างใดอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ที่พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจวินิจฉัยออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 124 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างฟ้องศาลได้ภายในกำหนดอายุความ ไม่อยู่ภายใต้กำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายใน 30 วัน ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสอง (นายจ้าง) ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 อ้างเหตุว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง จำเลยร่วม (ลูกจ้าง) ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ทั้งสองจ่ายเงินรางวัลประจำปีให้แก่ตน เป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ให้ ก.พนักงานของโจทก์ที่ 1 ไปรับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองย่อมทราบดีว่ามีคำสั่งของจำเลยที่ 1 มาถึงตน การที่ ก. รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แต่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ลงทะเบียนรับคำสั่งในวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเหตุที่เจ้าหน้าที่นำคำสั่งมามอบให้ล่าช้าโดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอื่นมาเป็นเหตุปฏิเสธว่าไม่ทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 กรณีถือว่าโจทก์ทั้งสองทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แล้ว โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีวันที่ 16 มิถุนายน 2549 จึงเกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลพิจารณาฟ้องแย้ง: ทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท ไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวง แม้เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม
แม้ฟ้องแย้งของจำเลยจะเกี่ยวกับฟ้องเดิม ซึ่งทำให้สามารถยื่นเข้ามาในคำให้การได้ แต่ฟ้องแย้งมีลักษณะเป็นคำฟ้อง การเสนอคำฟ้องแย้ง จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาท จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะรับคดีไว้พิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) การจะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 192 วรรคสี่ มาใช้บังคับแก่คดีได้นั้น จะต้องเป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1570/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว
การฟ้องคดีล้มละลายเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ คดีนี้ แม้โจทก์จะหลุดพ้นจากการล้มละลายโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 71 แต่ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109 ทั้งอยู่ในระหว่างการขายทอดตลาดตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังคงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น และนำเงินมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและอาคารพิพาทนั้นเป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง
of 41