คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 406 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9174/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งเรื่องค่าเช่าไม่เกี่ยวข้องกันกับฟ้องเรียกค่าภาษี ศาลไม่รับฟ้องแย้ง
เทศบาลตำบลโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ค่าภาษีตามกฎหมายสำหรับโรงเรือนและที่ดิน ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าจากโจทก์ตามมูลหนี้สัญญาเช่าอาคารพิพาท ซึ่งการที่โจทก์ผู้เช่าจะผิดสัญญาเช่าที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อความรับผิดในมูลหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคนละส่วนและมาจากคนละมูลหนี้ไม่เกี่ยวข้องกันฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4799/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุกล้ำที่ดินด้วยกันสาด ศาลตัดสินให้ใช้สิทธิภาระจำยอมและชำระค่าใช้ที่ดิน
กันสาดด้านหน้าและด้านหลังตึกแถวของจำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ โดยบริษัท ท. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมได้ก่อสร้างและแบ่งขายพร้อมที่ดิน จำเลยกับพวกซื้อตึกแถวที่มีกันสาดที่สร้างขึ้นพร้อมอาคารดังกล่าวอยู่แล้ว ต่อมาโจทก์ซื้อที่ดินในสภาพที่มีกันสาดด้านหน้าและด้านหลังตึกแถวของจำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์จากบริษัท ท. อีก เมื่อจำเลยมิได้เป็นผู้สร้างตึกแถวพร้อมกันสาด หากแต่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมเป็นผู้สร้างในที่ดินของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 มาใช้บังคับโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 1312 วรรคแรก จำเลยจึงมีสิทธิใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ที่อยู่ใต้แนวกันสาดที่รุดล้ำเข้าไปนั้นได้ โดยถือว่ากันสาดที่รุกล้ำนั้นเป็นมาโดยสุจริต แต่จำเลยต้องเสียค่าใช้ที่ดินนั้นแก่โจทก์ โดยโจทก์ต้องจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมให้จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยรื้อกันสาดอันเป็นสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์จนกว่าจำเลยจะไม่ใช้ค่าใช้ที่ดินนั้น เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น คงฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายซึ่งไม่ใช่ค่าใช้ที่ดิน ศาลจึงบังคับให้ไม่ได้ และเมื่อฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมย่อมตกไปด้วยเพราะฟ้องแย้งต้องมีฟ้องเดิมและตัวโจทก์เดิมเป็นจำเลยต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องขับไล่ vs. สิทธิในที่ดิน: การรวมพิจารณาฟ้องแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์และละเมิด
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินและบ้านพิพาทโดยอ้างว่า จำเลยทั้งสามขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์โดยไม่มีการซื้อขายกันจริงเพื่อที่โจทก์จะไปดำเนินการกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. และนำที่ดินและบ้านพิพาทจำนองเป็นประกันหนี้แทนจำเลยทั้งสอง ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทหรือไม่ หากฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่จำเลยทั้งสามให้การไว้ดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามและต้องดำเนินการคืนที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสาม ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามในส่วนที่ขอให้โจทก์รับเงินเพื่อไปไถ่ถอนและจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนให้แก่จำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับฟ้องเดิมชอบที่จำเลยทั้งสามจะฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามที่อ้างว่า จำเลยทั้งสามมอบหมายให้โจทก์ไปดำเนินการกู้ยืมเงินและจำนองที่ดินและบ้านพิพาทแทนจำเลยทั้งสาม แต่โจทก์กลับเบียดบังที่ดินและบ้านพิพาทของจำเลยทั้งสามเป็นของตนเองแล้วนำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อจำเลยทั้งสามให้ได้รับความเสียหาย จึงขอให้โจทก์ชดใช้ค่าทดแทนเดือนละ 50,000 บาท ฟ้องแย้งในส่วนนี้เป็นเงื่อนไขที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงก่อนว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของที่แท้จริง แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าโจทก์จงใจที่จะกระทำละเมิดจำเลยทั้งสามโดยแกล้งฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามให้ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท รวมทั้งพิจารณากำหนดค่าทดแทนตามที่จำเลยทั้งสามขอในคำขอท้ายฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามในส่วนนี้จึงเป็นการอ้างว่าโจทก์จงใจทำละเมิดจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคนละเรื่องกับฟ้องเดิมและเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 179 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7154/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตรา, หนี้เงินกู้, ผิดนัดชำระหนี้, การคิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์แต่เป็นเรื่องโจทก์นำเงินมาร่วมลงทุนแต่การค้าขาดทุนจึงขอคืน และให้จำเลยทำสัญญากู้ให้โจทก์ ต่อมาจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้วโดยโอนสิทธิการเช่าห้องเช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้โจทก์ใช้หนี้แทน และมีข้อตกลงว่า หากขายได้ราคาเกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์นำมาลงทุน โจทก์ต้องนำเงินส่วนที่เกินคืนจำเลย โจทก์ขายได้แต่ไม่ยอมคืนเงินส่วนที่เหลือจึงขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือคืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อพยานหลักฐานจำเลยฟังไม่ได้ว่า จำเลยโอนสิทธิการเช่าห้องเช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็น หาได้มีความเกี่ยวพันกับมูลหนี้เดิมตามฟ้องแต่ประการใดไม่ หากเป็นความจริงตามที่จำเลยว่าก็ชอบที่จำเลยจะนำคดีไปฟ้องเป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก มิใช่มากล่าวอ้างแล้วตั้งเป็นข้อเรียกร้องรวมในคดีนี้ จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ปัญหาฟ้องแย้งเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5438/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยอายุความ: การใช้สอยที่ดินต้องสงบ เปิดเผย และเจตนาได้สิทธิ
การได้สิทธิภาระจำยอมโดยอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย ซึ่งได้แก่มาตรา 1382 กล่าวคือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องได้ใช้สอยอสังหาริมทรัพย์อื่นโดยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอมในอสังหาริมทรัพย์นั้นติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้ภาระจำยอมเหนืออสังหาริมทรัพย์นั้น คดีนี้ได้ความว่า ทางพิพาทเกิดขึ้นจาก ท. บิดาจำเลยอนุญาตให้ ม. บิดาโจทก์ใช้เป็นทางออกไปสู่ทางสาธารณประโยชน์ การที่โจทก์และบุคคลในครอบครัวของโจทก์ใช้สิทธิเดินผ่านทางพิพาท จึงเป็นการอาศัยสิทธิของ ท. ทั้งปรากฏต่อมาว่าในปี 2535 ที่มารดาโจทก์เสียชีวิต โจทก์ได้ให้ ส. นำรถตักดินมาทำทางพิพาท จำเลยก็ห้ามไม่ให้ ส. ทำทาง แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังหวงกันมิให้โจทก์หรือบุคคลอื่นใช้ทางพิพาทโดยพลการ จึงถือได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิและการอนุญาตให้ใช้จากฝ่ายจำเลย แม้จะใช้ทางพิพาทตลอดมาเกิน 10 ปี ก็ไม่ถือเป็นการใช้โดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอม ทางพิพาทจึงไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมโดยอายุความแก่ที่ดินโจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้องโจทก์พร้อมกับฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ถอนการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของจำเลย ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยจนกว่าจะถอนการคัดค้าน กับให้โจทก์และบริวารขนย้ายลูกรังออกไปจากที่ดินพิพาทห้ามรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยต่อไปด้วย แต่ต่อมาปรากฏว่าทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินตามที่จำเลยยื่นคำขอให้แก่จำเลยแล้ว อันทำให้ฟ้องแย้งของจำเลยที่มีคำขอบังคับให้โจทก์ถอนการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของจำเลยและขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการคัคค้านดังกล่าวต้องตกไปโดยปริยาย ส่วนคำขออื่นตามฟ้องแย้งก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยยังติดใจที่จะเรียกร้องเอาจากโจทก์ต่อไปเพราะเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ประเด็นเดียวว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ โดยไม่มีประเด็นตามคำขอในฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านย่อมถือว่าจำเลยสละประเด็นแล้ว จึงไม่มีประเด็นในส่วนฟ้องแย้งของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงต้องพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางภาระจำยอมแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยมิได้ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วยนั้นไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1723/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในบ้านที่ปลูกในที่ดินที่ยกให้ผู้อื่น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องรื้อถอนหากไม่ใช่เจ้าของบ้าน
บ้านพิพาทอยู่ในที่ดินที่ ท. จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ให้ ด. บุตรจำเลยโดยมิได้ระบุว่ายกให้แต่ที่ดินมิได้ยกบ้านพิพาทให้ด้วย ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 แม้จำเลยจะมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านพิพาทในฐานะเจ้าบ้านก็มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทส่วนที่รุกล้ำออกไปแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจำเลยมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท แม้จำเลยจะอยู่ในบ้านพิพาทด้วยก็ถือว่าอยู่ในฐานะบริวารของ ด. จำเลยไม่ได้เป็นผู้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และจำเลยก็ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 465/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวเนื่องกับฟ้องเดิม ศาลไม่รับฟ้องแย้งได้ ชอบแล้ว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยอื่นละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ด้วยการร่วมกันนำอุปกรณ์ชุดเครื่องรับสัญญาณ อุปกรณ์ถอดรหัสและแปลงสัญญาณ อุปกรณ์กระจายสัญญาณของโจทก์ทั้งสองไปติดตั้งไว้ในอาคารแล้วแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำโดยการกระจายสัญญาณเสียงและภาพทางโทรทัศน์ในระบบของโจทก์ไปตามสัญญาหรือสายอากาศที่ต่อเข้าไปในห้องเช่าในอาคารจำนวน 225 ห้อง ไปพร้อมกับระบบการให้บริการสัญญาณทางโทรทัศน์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิก เพื่อให้ผู้เช่าห้องได้รับฟังและรับชมรายการทางโทรทัศน์ของโจทก์โดยมีเครื่องหมายบริการของโจทก์ปรากฏในรายการโทรทัศน์นั้นด้วย ขอให้จำเลยที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายและหยุดการกระทำละเมิด ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 ที่อ้างว่า ตัวแทนหรือพนักงานของโจทก์พ่วงต่อสัญญาณโทรทัศน์ของโจทก์เข้ามาในเครื่องรับสัญญาณของจำเลยที่ 4 ทำให้จำเลยที่ 4 ได้รับความเสียหาย แม้เป็นการฟ้องในมูลละเมิดเช่นกัน แต่ก็เป็นการละเมิดต่างครั้งต่างคราวกันและมูลเหตุคนละเรื่องกัน ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 ที่กล่าวอ้างใช้สิทธิทางศาลอันเนื่องมาจากการที่โจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 4 เพราะโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเอาความเท็จมาฟ้องต่อศาล เป็นฟ้องแย้งที่อาศัยเหตุแห่งการฟ้องของโจทก์มาเป็นข้อกล่าวอ้าง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับฟ้องเดิม จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8245-8251/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากชื่อเสียงที่เสียหาย ไม่เกี่ยวเนื่องกับข้อพิพาทแรงงาน จึงไม่รับฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค้างจ่ายค่าจ้างจึงร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำวินิจฉัยแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน อันเป็นการฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งได้มีคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม แต่การที่จำเลยฟ้องแย้งกล่าวอ้างว่าโจทก์ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นการฟ้องให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมิได้สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานในหน้าที่ของโจทก์ และมีประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6996-6997/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งค่าอุปการะเลี้ยงดูในคดีจดทะเบียนบุตรชอบด้วยกฎหมาย ศาลรับฟ้องแย้งและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
คำฟ้องของโจทก์มีคำขอท้ายฟ้อง 2 ประการ คือ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนรับเด็กหญิง ญ. จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์มีอำนาจปกครอง อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวเนื่องจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่งเอง สมควรที่จะได้วินิจฉัยให้เสร็จไปในคราวเดียวกันไม่เยิ่นเย้อที่จะต้องรอให้คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จนคำพิพากษาถึงที่สุดเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงจะมาฟ้องขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลัง กรณีถือได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6996-6997/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งค่าอุปการะเลี้ยงดูเกี่ยวเนื่องกับคำขอจดทะเบียนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลควรพิจารณาร่วมกันได้
คำฟ้องของโจทก์มีคำขอ 2 ข้อคือ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และให้โจทก์มีอำนาจปกครอง อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวเนื่องจากคำขอของโจทก์นั่นเอง สมควรที่จะได้วินิจฉัยให้เสร็จไปในคราวเดียวกัน ไม่ต้องรอให้คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จนคำพิพากษาถึงที่สุดเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงจะมาฟ้องขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลัง ถือได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม
of 41