คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 181 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6506/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะลูกจ้าง: ศาลวินิจฉัยผิดประเด็นจากคำให้การและข้อเท็จจริงที่รับรอง ย้อนสำนวนให้วินิจฉัยใหม่
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงาน ต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงานจริง แต่มิได้เลิกจ้างหรือถอดถอนโจทก์จากการเป็นพนักงาน เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า "ให้รอไว้สอบโจทก์ในวันนัด" แต่หลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางมิได้สั่งคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตให้แก้ไขคำให้การตามคำร้องดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี, การแก้ไขคำฟ้อง, คำให้การไม่ชัดเจน, และผลของการมอบอำนาจในการฟ้องคดี
เดิมโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนค่าเสียหายว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายที่แก้ไขใหม่จึงมีใจความว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์นับแต่เดือนธันวาคม 2549 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 เดือน ในวันนัดพิจารณาดังกล่าวจำเลยชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอใช้โอกาสยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การยกข้อต่อสู้ใหม่หักล้างข้ออ้างของโจทก์ที่กล่าวมาในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 181 (2) แต่จำเลยไม่ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเพื่อหักล้างข้ออ้างใหม่ของโจทก์ และยินยอมให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยจนแล้วเสร็จสิ้นกระแสความในวันนั้นเอง เท่ากับว่าจำเลยยังคงให้การยกข้อต่อสู้ว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมโดยอ้างเหตุแห่งการนั้นตามเดิมว่า จำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องโจทก์ เพราะจำเลยไม่ทราบว่านับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 เรื่อยมา โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้อย่างไร เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญาเช่า ซึ่งเป็นข้อต่อสู้โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเดิม จึงเป็นคำให้การที่อ้างเหตุแห่งการนั้น ไม่ตรงกับคำฟ้องที่แก้ไขใหม่ ถือว่าคำให้การจำเลยในประเด็นข้อนี้ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า คำฟ้องในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและรับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยจะมาฎีกาในประเด็นข้อนี้อีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1501-1502/2517

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงในคดีแพ่ง และการพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าออกจากห้องเช่าอันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 2,000 บาทแม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าที่ดินและห้องพิพาทเป็นของบุคคลอื่น ไม่ใช่ของโจทก์ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ หรือรับรองให้อุทธรณ์ หรือได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาภาคให้อุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาที่ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นการเกินคำขอหรือไม่ศาลอุทธรณ์มิได้ยกขึ้นวินิจฉัยโจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายตามศาลชั้นต้นศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243,247
ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยเดือนละ400 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากห้องเช่าของโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ว่า "สำเนาให้จำเลย พิจารณาสั่งในวันนัด" หลังจากนั้นศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อมาจนเสร็จสำนวน โดยมิได้มีคำสั่งคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแล้วแต่ประการใด และโจทก์ก็มิได้ทักท้วงขอให้ศาลมีคำสั่งคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ จึงไม่อาจถือว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ จึงเป็นการเกินคำขอที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142