คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 15

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,044 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7289/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงขัดกับการรับสารภาพ และคำขอส่วนแพ่งที่ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 334, 336 ทวิ และมีคำขอให้จำเลยคืนโครงหลังคาเหล็กของโรงงานและอุปกรณ์ส่วนควบของอาคารโรงงานหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดและราคาทรัพย์ใช้แทนย่อมรับฟังเป็นยุติตามฟ้อง จำเลยยื่นอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้รับว่าจำเลยกระทำโดยทุจริตและโรงเรือนมีสภาพเก่ามีราคาเพียง 50,000 บาท จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่จำเลยให้การรับสารภาพและเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องคำขอส่วนแพ่ง คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5991/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อฟื้นคดีอาญาซ้ำหลังคำสั่งถึงที่สุด และการไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยคำร้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องถึงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาให้ผู้ร้องฟัง ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 วรรคสอง, 18 และ ป.วิ.พ. มาตรา 147 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ผู้ร้องยังคงยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่เป็นครั้งที่สอง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มาตรา 18 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 40 (7) ก็เพื่อให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ที่ผู้ร้องยื่นครั้งที่สองและส่งสำนวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อให้วินิจฉัยคำร้องดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องเพราะคดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ไม่มีอำนาจที่จะรับวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5258/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานปลอมเอกสารโดยไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 161
การที่จำเลยกระทำการปลอมเอกสารใบรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษของที่ทำการไปรษณีย์พิษณุโลก ด้วยการกรอกข้อความให้ปรากฏว่าเป็นการรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษว่าได้ส่งไปตามหน่วยราชการต่าง ๆ แล้วอันเป็นเท็จ นั้น ตามใบรับฝากไปรษณีย์ในประเทศ รวม 7 ฉบับ ด้านบนมีข้อความระบุว่า ผู้ฝากส่งเป็นผู้กรอกข้อความ เมื่อผู้ฝากส่งกรอกข้อความแล้วได้นำส่งให้แก่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เพื่อนำซองเอกสารนั้นชั่งน้ำหนักและดำเนินการต่อโดยกรอกข้อความในส่วนด้านล่างที่มีข้อความระบุว่า เจ้าหน้าที่เป็นผู้กรอกข้อความซึ่งหมายถึงเจ้าพนักงานไปรษณีย์ผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารของที่ทำการไปรษณีย์พิษณุโลก ดังนั้น การที่จำเลยกระทำการปลอมเอกสารดังกล่าว โดยจำเลยมีหน้าที่ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบล ผ. เพียงเป็นผู้ปลดและผู้นำส่งประกาศประกวดราคาจ้างเหมาของผู้เสียหาย จำเลยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสารใบรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษดังกล่าว การที่จำเลยปลอมเอกสารดังกล่าว จึงไม่ถือว่ากระทำโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 161 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยได้รับการแต่งตั้งจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผ. ให้เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ เป็นเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ปลดและนำส่งเอกสารประกาศประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างของผู้เสียหายซึ่งกำหนด ให้มีหน้าที่นำเอกสารประกาศประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างดังกล่าว เผยแพร่ไปยังสถานที่ราชการต่าง ๆ รวมเจ็ดแห่ง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 31 ดังนั้น ข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยมีหน้าที่กรอกข้อความในใบรับฝากไปรษณีย์ด่วนพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2542 และตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นการนอกฟ้องและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419-4420/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์ในการรับอุทธรณ์คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการวินิจฉัยประเด็นความรับผิดทางแพ่งร่วมกับคดีอาญา
แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ในแต่ละฐานความผิดไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลจะพิพากษาคดีไปโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าศาลจะต้องพิพากษาคดีไปตามคำรับสารภาพของจำเลยโดยไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสมอไปไม่ เพราะในคดีอาญาเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และโจทก์ร่วมทั้งสามขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเป็นต้องสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามต่อไปเพื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ประกอบการกำหนดค่าสินไหมทดแทน ซึ่งพยานหลักฐานที่นำสืบคดีในส่วนแพ่งย่อมเกี่ยวพันกับคดีในส่วนอาญา ดังนั้นหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิด ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ และต้องพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ร่วมทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เกินคนละ 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีส่วนแพ่งมาไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าว กรณีเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และมาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2254/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ที่มิได้ว่ากล่าวในชั้นศาลต้น มิสามารถนำมาอ้างเพื่อลดโทษได้
จำเลยแถลงว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และขอสืบพยานประกอบ ต่อมาจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน จึงไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ ในสำนวนว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ
การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญในคดีกับเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับห้องเช่าของจำเลยที่มียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจในการตรวจค้นห้องเช่าจนพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และแหล่งที่มาของเมทแอมเฟตามีนของกลางว่าจำเลยซื้อมาจาก ด. แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวบางส่วนจะปรากฏตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 และสำเนาบันทึกการจับกุมเอกสารท้ายคำร้องดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่สืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างจึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีถึงที่สุดเมื่อศาลฎีกายกข้อฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้มีการยื่นฎีกา
คดีนี้จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้วเห็นว่าฎีกาของจำเลยไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยนั้นเป็นการไม่ชอบ และมีคำพิพากษายกฎีกาของจำเลย ถือได้ว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้วว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง การที่ศาลฎีกายกฎีกาของจำเลยจึงมิใช่เป็นเพียงแบบของการจัดทำคำพิพากษาของศาล เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 คดีของจำเลยจึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1600/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เนื่องจากไม่ได้ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) เท่านั้น โดยยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ด้วย เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579-1580/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนในคดีอาญา: การกระทำผิดกรรมเดียวกันในช่วงเวลาเดียวกันทำให้ฟ้องหลังเป็นฟ้องซ้อน
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดว่าอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันทั้งสองสำนวน แม้ทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังที่โจทก์ระบุว่าเป็นโบราณวัตถุ 217 ชิ้น และสร้อยลูกปัดโบราณ 332 เส้น จะเป็นทรัพย์คนละอย่างกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก แต่เมื่อการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก จึงเป็นการกระทำในคราวเดียวอันเป็นกรรมเดียวกัน ฟ้องสำนวนหลังจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำนวนหลังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม – ละเมิดอำนาจศาล – รัฐธรรมนูญสิ้นสุด – ไม่เป็นสาระวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำเลยฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 วรรคท้าย ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จำเลยอุทธรณ์เพียงขอให้ลดโทษจำคุกเหลือ 15 วัน หรือรอการลงอาญาโทษจำคุกส่วนที่เหลือเท่านั้น ดังนี้การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงยุติไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยไม่อาจฎีกาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้อีก ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นดำเนินคดีแก่จำเลยโดยไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 40 (2) บัญญัติไว้ นั้น เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สิ้นสุดลงแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงไม่เป็นสาระอันควรวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา, การละเมิด, อายุความ และการยกข้อต่อสู้ที่ไม่ชัดเจน
ศาลชั้นต้นในคดีก่อนพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง เพราะโจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เท่ากับว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้ จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงและผลคดีอาญาดังกล่าวมาผูกพันข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์มิได้เป็นเจ้าของรถพ่วงคันเกิดเหตุ และวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ต้องถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งทำให้ปรากฏว่ารถพ่วงคันเกิดเหตุเป็นของโจทก์ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการจงใจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์อันเป็นการทำละเมิด จำเลยทั้งสามไม่อาจปฏิเสธความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมิใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 46 แต่อย่างใด
จำเลยทั้งสามมิได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 26 ตุลาคม 2544 จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยให้ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามก็มีความหมายชัดแจ้งว่า โจทก์จะต้องรู้ถึง เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ซึ่งขัดแย้งกับที่จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 กรณีไม่อาจนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันที่จำเลยทั้งสามอ้างในอุทธรณ์มารับฟัง โดยถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าโจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ตามที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ได้
of 205