คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 15

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,044 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5891/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่รับฎีกาและการนับโทษคดีอาญา: ศาลฎีกามีคำสั่งถึงที่สุดเมื่ออ่านคำสั่งให้จำเลยฟัง
ศาลฎีกาไม่รับคดีของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาพิพากษา และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความศาลฎีกา สืบเนื่องจากศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง กับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาไว้พิจารณาพิพากษา พ.ศ.2551 ข้อ 3 จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง จึงออกคำพิพากษาในรูปของคำสั่งตามบทบัญญัติและระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น เท่ากับศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีสำหรับจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 คดีของจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยระบุว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 21 ธันวาคม 2555 จึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5025/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีถึงที่สุดหลังศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ชอบ
การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 215 ประกอบมาตรา 158 (7) การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้จะไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายอันศาลฎีกาจะพึงรับวินิจฉัยหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะฉบับที่สอง ไม่กระทบอุทธรณ์ฉบับแรกที่ศาลรับไว้แล้ว
จำเลยยื่นอุทธรณ์ฉบับแรก ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ไว้แล้ว ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ฉบับที่สอง ศาลชั้นต้นจึงหมายนัดจำเลยและทนายจำเลยมาศาลเพื่อสอบถามว่าจำเลยจะใช้อุทธรณ์ฉบับใด แต่จำเลยและทนายจำเลยเพิกเฉยไม่มาดำเนินการภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด กรณีถือได้ว่าเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เฉพาะอุทธรณ์ฉบับที่สองเท่านั้น ไม่กระทบถึงอุทธรณ์ฉบับแรกที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ไว้โดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยกรณีจำเลยให้การรับสารภาพแล้วมาฎีกาปฏิเสธความผิด และศาลยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิสูจน์ความผิดจำเลย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะกลับมาฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21441/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีหมิ่นประมาทจากหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ ก.ตร./ก.ต.ช. เมื่อคดีเดิมยังอยู่ระหว่างพิจารณา
ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2639/2550 ของศาลแขวงดุสิต โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมิให้เลื่อนโจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกส่งคนไปคุกคามข่มขู่จำเลยและพยานของจำเลยในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ เพื่อขอให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณามิให้เลื่อนโจทก์ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชั่วคราวจนกว่าคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาจะถึงที่สุด ซึ่งมีสาระแห่งการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทของจำเลยเช่นเดียวกับคดีนี้ แม้การมีหนังสือขอความเป็นธรรมทั้งในคดีก่อนและคดีนี้ จำเลยจะได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อคณะกรรมการของ ก.ตร. และกรรมการ ก.ต.ช. คนละคนกันดังที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวกัน คือเจตนาที่จะร้องขอความเป็นธรรมมิให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณาเลื่อนตำแหน่งของโจทก์นั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์คดีก่อนกับคดีนี้เป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน เมื่อขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ คำฟ้องคดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21329/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาซ้อนและอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการและผู้เสียหาย
การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งก่อน แล้วต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในภายหลัง เมื่อไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการมิให้ฟ้องคดีอาญาที่ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยไว้แล้ว และบทบัญญัติมาตรา 33 แห่ง ป.วิ.อ. ก็ได้บัญญัติถึงการพิจารณาคดีซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันไว้ แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลย แต่การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของตนเอง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตจึงมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงมีสถานะเสมือนหนึ่งเป็นการฟ้องจำเลยซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยไว้ก่อน เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์คดีนี้จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14102/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาวางเงินชดใช้ค่าเสียหายเพื่อขอรอการลงโทษ แม้ศาลไม่อนุญาต ก็ไม่มีสิทธิถอนเงินคืน
การที่ระหว่างฎีกา จำเลยยื่นคำร้องขอวางเงิน 20,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายโดยมีเจตนาที่จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในคำร้องของจำเลยให้นัดพร้อมเพื่อสอบถามผู้เสียหายว่าประสงค์จะรับเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่แล้ว ทั้งฎีกาของจำเลยก็อ้างเหตุที่จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย เป็นเหตุหนึ่งที่ขอให้ศาลฎีการอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยด้วย เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษให้แก่จำเลยเท่ากับศาลฎีกาได้วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยพยายามบรรเทาความเสียหายด้วยการวางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการตามคำร้องของจำเลยที่ขอวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายและศาลฎีกานำข้อเท็จจริงตามคำร้องดังกล่าวมาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้ว แม้ศาลชั้นต้นเพิ่งออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้นหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่การวางเงินเพื่อให้ผู้เสียหายมารับไปย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่าจำเลยจะไม่ถอนเงินดังกล่าวกลับไป หากผู้เสียหายยังประสงค์จะรับเงินนั้น เมื่อต่อมาปรากฏตามคำร้องของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายประสงค์จะรับเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13933/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและการวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีโทษหนัก
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2554 ย่อมเป็นการไม่ชอบ ทั้งอุทธรณ์ของจำเลยมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้ง เป็นอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ชอบที่ศาลชั้นต้นจะไม่รับอุทธรณ์จำเลย และส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง เพราะเป็นคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยและพิพากษาให้ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ข้อที่ว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงเป็นอันถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13881/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญา จากการไม่ดำเนินคดีตามกำหนดศาล
ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า คดีของโจทก์มีมูล ให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา หมายเรียกจำเลยทั้งสามมาให้การในวันเดียวกับวันนัดพร้อม และให้โจทก์นำส่งหมายภายใน 7 วัน โจทก์ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวตามที่โจทก์ได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณานั้นแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในกำหนดเวลานั้น ถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) อันเป็นการทิ้งฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เสียจากสารบบความจึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 132 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11492/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาโดยการปิดหมายที่ภูมิลำเนาเดิมของจำเลยที่ย้ายที่อยู่แล้ว ถือเป็นการส่งโดยชอบหรือไม่
การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทราบโดยการปิดหมายนั้น หากเป็นการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ย้ายไปจากภูมิลำเนานั้นก่อนแล้วย่อมเป็นการส่งโดยชอบ และเมื่อครบกำหนด 15 วันแล้ว ย่อมมีผลใช้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 กรณีของจำเลยแม้ได้ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ให้จำเลยทราบ โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตามฟ้องของโจทก์ก็ตาม แต่ตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2554 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ในการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 25 เมษายน 2554 ให้จำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ส่งไม่ได้เพราะจำเลยย้ายที่อยู่ใหม่ ดังนี้ ก่อนศาลชั้นต้นจะเลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ออกไป และหมายนัดจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยให้เจ้าพนักงานศาลส่งโดยวิธีปิดหมายนั้น ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบเสียก่อนว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาตามคำฟ้องของโจทก์หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการดังกล่าวกลับมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายตามภูมิลำเนาของจำเลยในคำฟ้องของโจทก์ ทั้งกรณีมิใช่หน้าที่ของจำเลยที่ต้องแถลงที่อยู่ให้ศาลทราบ ข้อเท็จจริงตามรายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวย่อมเป็นกรณีที่จำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาตามคำฟ้องของโจทก์ไปแล้วก่อนมีการปิดหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 แม้จะปิดหมายครบ 15 วัน แล้วก็ไม่มีผลใช้ได้ตามกฎหมาย และถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทราบโดยชอบ การที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 และศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลับหลังจำเลยหลังจากออกหมายจับจำเลยเกินกว่าหนึ่งเดือนแล้ว ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันดังกล่าวและถือไม่ได้ว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยฟังโดยชอบแล้ว
of 205