คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 15

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,044 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินชำระหนี้เช็ค - สิทธิการรับเงินค้างจ่าย - ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 345
จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เพื่อชำระหนี้ตามเช็คพิพาท เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจจ่ายให้ตามระเบียบ แต่ปรากฏว่ามีการขออนุญาตถอนเงินกลาง 20,000 บาท เพื่อจ่ายให้เทศบาลตำบล ห. ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย และจำเลยวางเงินรวม 73,060 บาท เมื่อวันที่ 14 และ 20 พฤศจิกายน 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตเนื่องจากผู้ร้องไม่นำหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายมาแสดง ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้น ขอให้ออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวาง 73,060 บาท และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้เสียหายขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาล 93,060 บาท ตามที่ลูกหนี้ได้วางไว้ตามความเป็นจริง อันเป็นการขอรับเงินภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่ทราบการแจ้งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจจ่ายตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ศาลตรวจจ่ายเงินเพียง 73,060 บาท โดยโอนเข้าบัญชีให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ไว้ จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการวางเงินจริงทั้งหมด 93,060 บาท และต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นว่า เงิน 20,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางใช้หนี้ให้แก่ผู้เสียหาย และศาลชั้นต้นได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้เสียหายแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่มารับเงินนับถึงวันที่ทำรายงานเป็นระยะเวลาเกิน 5 ปี จึงขอยกเลิกเช็คฉบับดังกล่าวและขอนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนำส่ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 นั้น ก็ไม่ถูกต้อง ศาลชั้นต้นต้องคืนเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินวางชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ไม่รับภายใน 5 ปี ศาลต้องคืนเงินให้เจ้าหนี้ แม้มีการทำผิดพลาดในการดำเนินการ
จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ตรวจจ่ายให้ตามระเบียบ แต่ปรากฏว่ามีการขออนุญาตถอนเงินกลาง 20,000 บาท เพื่อจ่ายให้เทศบาลตำบลหนองเรือ ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย และมีการวางเงิน 72,597 บาท เมื่อวันที่ 14 และ 20 พฤศจิกายน 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต เนื่องจากผู้ร้องไม่นำหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายมาแสดง ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นขอให้ออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวาง 72,597 บาท และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้เสียหายขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาล 92,597 บาท ตามที่ลูกหนี้ได้วางไว้ตามความเป็นจริง อันเป็นการขอรับเงินภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่ทราบการแจ้งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ตรวจจ่ายตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ศาลตรวจจ่ายเงินเพียง 72,597 บาท โดยโอนเข้าบัญชีให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ไว้ จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการวางเงินจริงทั้งหมด 92,597 บาท และการที่เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นว่าเงิน 20,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางใช้หนี้ให้แก่ผู้เสียหาย และศาลชั้นต้นได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้เสียหายแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่มารับเงินนับถึงวันที่ทำรายงานเป็นระยะเวลาเกิน 5 ปี จึงขอยกเลิกเช็คฉบับดังกล่าว และขอนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง นำส่ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 นั้น ก็ไม่ถูกต้อง ศาลชั้นต้นต้องคืนเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในคดีอาญา การไม่ตั้งทนายความ, การคุ้มครองสิทธิ, และเหตุไม่รอการลงโทษ
ก่อนเริ่มพิจารณาคดีศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้ว จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ศาลจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดี ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ อันเป็นการกำหนดรายละเอียดของสิทธิไว้ชัดแจ้งเช่นเดียวกันกับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เมื่อจำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความและให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การจำเลยไว้ ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลย
จำเลยฎีกาว่า ในวันนัดสอบคำให้การจำเลย โจทก์และจำเลยต้องมาอยู่ต่อหน้าศาลพร้อมกันให้ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง เมื่อจำเลยให้การอย่างไรก็ให้ศาลจดไว้ ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องแถลงให้ศาลทราบว่ายังประสงค์ให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ วันนัดสอบคำให้การจำเลยจึงเป็นการนัดพิจารณาซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องมาในวันดังกล่าวนั้น เมื่อโจทก์ไม่มา จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 181 ประกอบมาตรา 166 นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้อุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และปรับ 800 บาท ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวยังไม่เกินห้าปีและกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกจนถูกเพิ่มโทษ เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ซึ่งมิใช่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษหรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 (1) และ (2) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บุกรุกเคหสถานหลังทราบสิทธิครอบครองของผู้อื่น จำเลยอ้างสิทธิเดิมไม่ได้ แม้ฟ้องไม่ระบุบท 362 ศาลฎีกาแก้โทษปรับ
แม้คําพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นจะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคําวินิจฉัยดังกล่าวที่ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านก็ตาม แต่ปัญหาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกหรือไม่ ศาลยังต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันซึ่งตามสัญญามีข้อความว่าจำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญา จำเลยทำหนังสือระบุให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุโดยชอบ หากจำเลยเห็นว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมและโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้แย้งกันในทางแพ่ง จำเลยชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีอำนาจพลการที่จะเข้าไปตัดแม่กุญแจที่โจทก์ ใช้ปิดประตูหน้าบ้านออกแล้วใช้แม่กุญแจของจำเลยคล้องแทน ทำให้โจทก์เข้าบ้านที่เกิดเหตุไม่ได้ ขณะเกิดเหตุจำเลยทราบดีว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยังเข้าไปในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุจนถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกแล้ว เมื่อผลแห่งคําพิพากษาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ จำเลยเข้าไปตัดกุญแจประตูบ้าน เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว คําพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ จำเลยไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสารเพื่อฉ้อโกงประกันสังคม: การพิจารณาความผิดหลายกรรม, เจตนา, และโทษ
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยมีรายละเอียดว่า โจทก์ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยมาโดยตลอด ถือว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยด้วย ซึ่งการวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องย้อนไปวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยตามที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่ อุทธรณ์จำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยกล่าวอ้าง มิใช่อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ เพิ่งยกข้อเท็จจริงนั้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ อันไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยเพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ชอบแล้ว
การกระทำความผิดในแต่ละวันเกิดเหตุจะเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่จำเลยมีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้ประกันตนที่ถูกปลอมเอกสารแต่ละคนเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า วันเกิดเหตุแต่ละวันจำเลยทำเอกสารและเอกสารสิทธิปลอม แล้วจำเลยนำเอกสารที่ทำปลอมดังกล่าวไปใช้แสดงเพื่อฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงโจทก์ร่วม ดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยทำเอกสารและเอกสารสิทธิปลอมเพื่อจะนำไปใช้ฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงโจทก์ร่วม อันเป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์และคลินิกมีรายได้จากการบริการทางการแพทย์จากบุคคลดังกล่าว การกระทำของจำเลยแต่ละวันเกิดเหตุจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยถูกผูกพันตามคำพิพากษาเดิม แม้จะอ้างว่าไม่ทราบ และการกระทำละเมิดหลังคำพิพากษาเดิมมีผลทางอาญา
เดิมโจทก์ร่วมฟ้อง ส. เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 902/2556 หมายเลขแดงที่ 2060/2557 ของศาลชั้นต้น ขอให้ขับไล่และรื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินโจทก์ร่วม และห้าม ส. กับบริวารเกี่ยวข้อง จำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจ ส. ต่อสู้คดี ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม ทางที่อยู่ระหว่างที่ดินโจทก์ร่วมและ ส. เป็นทางสาธารณะ พิพากษาให้ ส. รื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมและห้าม ส. กับบริวารเข้าเกี่ยวข้องหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของโจทก์ร่วม คดีถึงที่สุด โดยคดีก่อน ส. กับจำเลยในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ส. ให้การและเบิกความรับว่า พ. บิดาจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและที่ดินมือเปล่าหลายพันไร่ โดยใส่ชื่อ พ. ส. จำเลย กับบุตรอื่นของ พ. ในเอกสารสิทธิหลายฉบับบางฉบับใส่ชื่อผู้จัดการมรดกของ พ. เยี่ยงนี้ ส. จึงมีชื่อเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแทน พ. นับแต่วันออกเอกสารสิทธิ เมื่อ พ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ ส. และจำเลยรวมทั้งทายาทอื่นของ พ. การที่ ส. ผู้ถูกโจทก์ร่วมฟ้องในคดีเดิมย่อมอยู่ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกแทนจำเลยและทายาทอื่นของ พ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745, 1356 และ 1359 จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับ ส. และถูกผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 หาใช่บุคคลภายนอกที่ไม่ถูกผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมไม่ เมื่อคดีเดิมถึงที่สุดและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาเสร็จแล้ว จำเลยกระทำละเมิดขึ้นใหม่ กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองในคดีเดิมวินิจฉัยไว้ว่าการกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการละเมิดด้วยการปักเสาปูนและล้อมรั้วลวดหนามบนทางสาธารณประโยชน์ปิดกั้นเส้นทางรถยนต์ที่ใช้เข้าออกจากที่ดินของโจทก์ร่วม เมื่อคดีเดิม ส. ฎีกาโดยโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา และต่อมา ส. แถลงขอยุติคดีโดยไม่ต้องการฎีกาต่อไปและขอถอนจำเลยจากการเป็นผู้รับมอบอำนาจ ศาลชั้นต้นอนุญาต คดีเดิมจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันแถลงดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง และผูกพันโจทก์ร่วมกับจำเลย การที่จำเลยยังคงดื้อรั้นดันทุรังไม่ยอมรับผลแห่งคำพิพากษาตามกฎหมายโดยยังคงเข้าไปปักเสาปูนและกั้นรั้วลวดหนาม ทั้งศาลชั้นต้นในคดีเดิมมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้รื้อถอนเสาปูนและรั้วรวดหนามบางส่วนตามที่คู่ความตกลงกัน จึงเป็นการกระทำโดยรู้อยู่แก่ใจว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม ทางที่อยู่ระหว่างที่ดินโจทก์ร่วมและ ส.เป็นทางสาธารณะ ทั้งประสงค์ให้เกิดผลเป็นการปิดกั้นเส้นทางรถยนต์ที่โจทก์ร่วมใช้เข้าออกจากที่ดินพิพาทสู่ทางสาธารณะ ซึ่งจิตใจของวิญญูชนคนธรรมดาทั่วไปโดยวิสัยและพฤติการณ์เยี่ยงจำเลยพึงรับรู้และคาดหมายได้อย่างแน่แท้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง และเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 เดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4753/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินวางศาลชดใช้ค่าเสียหาย: สิทธิการรับเงินขาดอายุ 5 ปี เงินตกเป็นของแผ่นดิน
เมื่อจำเลยนำเงินมาวางเพื่อบรรเทาผลร้ายให้โจทก์ ศาลมีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบว่า มีเงินมาวางไว้ที่ศาลเพื่อให้โจทก์มารับไป เมื่อมีการแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว หากโจทก์ไม่มารับเงินไปภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ทราบว่ามีการวางเงิน เงินค้างจ่ายจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 345 คดีนี้จำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อบรรเทาผลร้ายให้โจทก์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ศาลชั้นต้นได้แจ้งให้โจทก์ทราบในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลในวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ว่าจำเลยนำเงินมาวางศาลและให้โจทก์ติดต่อรับเงิน แม้โจทก์ไม่ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา แต่ศาลชั้นต้นได้จดแจ้งเหตุที่โจทก์ไม่ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 50 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แล้ว ทั้งต่อมาเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์โจทก์ก็ระบุในอุทธรณ์ว่าจำเลยนำเงินมาวางศาล 5,000 บาท ต้องถือว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยนำเงินมาวางศาลและโจทก์มีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2559 แล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารับเงินที่จำเลยวางไว้ที่ศาลในภายหลังเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 อีก ไม่ทำให้วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยนำเงินมาวางศาลและโจทก์มีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป เงินที่จำเลยนำมาวางศาลและโจทก์ยังไม่มาขอรับ จึงเป็นเงินค้างจ่าย ดังนั้น การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอรับเงิน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเกินกำหนดห้าปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่ามีการวางเงิน เงินค้างจ่ายดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดินแล้ว และโจทก์เป็นอันสิ้นสิทธิที่จะขอรับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4479/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากจำเลยที่ 1 หมดสิทธิฎีกา หลังศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีฆ่าผู้อื่น
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ตาม ป.อ. มาตรา 288 จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่อาจฎีกาได้ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1), 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาอุทธรณ์ต้องมีเหตุผลพิเศษ/สุดวิสัย และการปลอมเอกสารธรรมดา ไม่ใช่เอกสารสิทธิ
การขอขยายระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลมีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงต้องมีเหตุสุดวิสัย จำเลยอ้างเหตุว่าจำเลยเจ็บป่วยกะทันหันและถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ได้ คำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จึงไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยฟัง ปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนั้น การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้แก่จำเลยที่จะฎีกา
อนึ่ง เอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ แต่ใบโปรโมชั่นที่จำเลยปลอมเป็นเพียงเอกสารที่ให้ห้างโฮมโปรใช้เพื่อคำนวณเงินส่วนลดหรือส่วนชดเชยแต่ละช่วงเวลาที่ห้างโฮมโปรขายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าแล้วนำไปหักทอนกับเงินค่าสินค้าที่โจทก์จำหน่ายให้แก่ห้างโฮมโปร หาเป็นเอกสารซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิไม่ การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารดังกล่าวจึงเป็นการปลอมและใช้เอกสารธรรมดา มิใช่เป็นการปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ โดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 21 มีนาคม 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4217/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สั่งจำคุก 19 ปี
โจทก์ร่วมอายุ 10 ปีเศษ ถูกจำเลยล่วงละเมิดทางเพศ มิได้ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมต้องกระทำโดยผู้แทนโดยชอบธรรม กรณีเป็นบิดาต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อบิดาโจทก์ร่วมหย่าขาดกับมารดาโดยให้มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่า บิดาโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และมาตรา 5 (1) การที่โจทก์ร่วมโดยบิดาโจทก์ร่วมขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตนั้น มิได้เป็นไปตามบทบังคับอันว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย แต่ว่าจะยกฟ้องหรือไม่รับพิจารณาเสียทีเดียวยังไม่ได้ ชอบที่จะสั่งให้แก้ไขความบกพร่องเสียก่อนตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์หรือฎีกา และจำเลยเพิ่งฎีกาขึ้นมา และคดีไม่อาจทำให้คำวินิจฉัยของศาลฎีกาเกี่ยวกับปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์หรือไม่เปลี่ยนแปลงไป การจะสั่งให้แก้ไขอำนาจฟ้องของโจทก์ร่วมให้ถูกต้องเสียก่อนในกรณีนี้จึงไม่จำเป็นเพราะไม่เกิดประโยชน์อย่างใด
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวม 2 ฉบับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องของโจทก์ร่วมโดย ส. ซึ่งเป็นบิดา แต่ไม่รับคำร้องอีกฉบับของโจทก์ร่วมโดย พ. ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วม โดยไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว และได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา ทั้งโจทก์ร่วมโดย พ. ยังเคยขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในคดีส่วนแพ่งด้วย ต้องถือว่า พ. ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วม ได้ให้ความยินยอมตามคำร้องของโจทก์ร่วมโดย ส. ฉบับที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องแล้ว จึงไม่ต้องมีคำสั่งกำหนดให้โจทก์ร่วมแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง
of 205