คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 47

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 24 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่นายจ้างนำส่งเงินสมทบประกันสังคม แม้มีคำสั่งทบทวนสิทธิลูกจ้าง
แม้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 85 บัญญัติให้นายจ้าง ผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใดซึ่งไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตาม พ.ร.บ.นี้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนและเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งคำวินิจฉัยนั้น
เดิมสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 มีคำสั่งว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่จำต้องนำส่งเงินสมทบทั้งในส่วนของลูกจ้างและของนายจ้างอีกต่อไปนับแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เนื่องจากโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างของพนักงานขาย SA โจทก์จึงไม่ได้นำส่งเงินสมทบนับแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 ถึงงวดเดือนสิงหาคม 2552 ต่อมาสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 แจ้งให้โจทก์ทราบความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาทบทวนคำสั่งเดิมและยกเลิกคำสั่งเดิมแล้วมีคำสั่งใหม่เนื่องจากมติของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานซึ่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมให้ความเห็นชอบ โดยมีคำสั่งใหม่ว่าให้พิจารณานิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นราย ๆ ไป และก่อนที่จะวินิจฉัยนิติสัมพันธ์ความเป็นลูกจ้างของโจทก์แต่ละราย ให้โจทก์ส่งเงินสมทบให้แก่พนักงานขาย SA นับแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไปก่อน โจทก์และลูกจ้างของโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อไปได้ ดังนี้การพิจารณาทบทวนคำสั่งเดิม ยกเลิกคำสั่ง และออกคำสั่งใหม่ของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ยังไม่ได้ปลดชื่อพนักงานขาย SA ออกจากการเป็นผู้ประกันตน ซึ่งมีพนักงานขาย SA จำนวน 10 คน ยื่นขอรับและได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ อันเป็นการใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนได้ในฐานะผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และเมื่อโจทก์กับพนักงานขาย SA มีนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง โจทก์จึงมีหน้าที่หักค่าจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างและนำส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างให้แก่จำเลยตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไป ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 46 และมาตรา 47

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1441/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเที่ยวเป็นค่าจ้าง เงินสมทบประกันสังคม นายจ้างต้องจ่ายเงินเพิ่มแม้ศาลเคยตัดสินว่าไม่ใช่ค่าจ้าง
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 49 บัญญัติให้นายจ้างซึ่งนำส่งเงินสมทบไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 47 ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่ เป็นการบัญญัติหน้าที่และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มไว้โดยชัดแจ้งและเคร่งครัด สามารถคำนวณเงินเพิ่มได้แน่นอน และไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่านายจ้างจะมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่
โจทก์ (นายจ้าง) ไม่นำค่าเที่ยวซึ่งเป็นค่าจ้างของลูกจ้างรวมเข้าเป็นฐานคำนวณเงินสมทบ จึงนำส่งเงินสมทบให้แก่จำเลยไม่ครบจำนวน โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14873-14889/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างหักเงินสมทบประกันสังคมแล้วไม่นำส่ง ไม่มีหน้าที่คืนเงินให้ลูกจ้าง
ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้างที่จ่ายแก่ลูกจ้างส่งเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และนายจ้างมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมภายในกำหนดเวลา มิฉะนั้นต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มกับมีโทษตามกฎหมาย เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหักค่าจ้างของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นเงินสมทบแล้วไม่นำส่งเงินสมทบ จนกระทั่งถูกสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 10 ติดตามทวงถาม และมีการทำสัญญารับสภาพหนี้กันไว้ จึงเป็นการบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 10 แล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่คืนเงินค่าจ้างที่หักเป็นเงินสมทบแล้วให้แก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ด โจทก์ทั้งสิบเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4886/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายเงินสมทบประกันสังคมโดยนายจ้างแม้ไม่ใช่จากค่าจ้าง ไม่กระทบสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีตาย
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 47 เป็นเพียงการกำหนดวิธีการและหน้าที่ของนายจ้างที่จะดำเนินการนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนและในส่วนของนายจ้างแก่สำนักงานประกันสังคมว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร และยังบัญญัติให้นายจ้างมีอำนาจที่จะหักค่าจ้างของลูกจ้างอันเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ทั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็หามีบทบัญญัติใดที่พอจะแปลว่าเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนจะต้องเป็นเงินที่หักมาจากค่าจ้างของผู้ประกันตนเพียงประการเดียวเท่านั้น หากนายจ้างส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนนอกจากค่าจ้างของผู้ประกันตนแล้วจะเป็นเหตุให้ผู้ประกันตนมิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 54 แต่อย่างใดไม่ เมื่อนายจ้างส่งเงินสมทบในส่วนของ ท. ลูกจ้างถึงเดือนกันยายน 2544 แม้จะเป็นเงินของนายจ้าง มิใช่เป็นเงินที่หักมาจากค่าจ้างของ ท. โดยมีเจตนาที่จะช่วยเหลือ ท. ให้ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลตามสิทธิอันเป็นการแสดงถึงความเอื้ออาทรของนายจ้างต่อลูกจ้าง จึงหาใช่เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อ ท. ถึงแก่ความตายในวันที่ 2 มกราคม 2545 ย่อมเป็นกรณีที่ ท. ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนถึงแก่ความตาย โจทก์ผู้เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ท. ย่อมมีสิทธิได้ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าจ้างก่อนกำหนดไม่กระทบสิทธิประโยชน์ทดแทนประกันสังคม หากมีการหักเงินสมทบตามกฎหมาย
ไม่มีกฎหมายใดบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายเดือนในวันสิ้นสุดของเดือน มิฉะนั้นจะไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าจ้าง และตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 47 วรรคหนึ่งทุกครั้งที่นายจ้างจ่ายค่าจ้าง นายจ้างต้องหักค่าจ้างส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมโดยไม่มีเงื่อนไขไม่ว่าการจ่ายค่าจ้างนั้นจะได้กระทำเมื่อใด ทั้งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับนายจ้างกำหนดให้จ่ายค่าจ้างเดือนละครั้งทุกวันที่ 25 ของเดือนหากตรงกับวันหยุดให้จ่ายค่าจ้างก่อนวันหยุดนั้น ปรากฏว่าวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์2544 เป็นวันหยุด นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ให้โจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 การที่จ่ายค่าจ้างในวันดังกล่าวจึงไม่ใช่การจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า เมื่อนายจ้างได้หักค่าจ้างของโจทก์เพื่อส่งเป็นเงินสมทบแล้วในวันเดียวกันจึงต้องถือว่าโจทก์ได้จ่ายเงินสมทบเดือนกุมภาพันธ์ 2544 แล้วตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์2544 โจทก์จึงเป็นผู้ประกันตนที่ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน ตามเงื่อนไขในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรซึ่งตลอดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544
โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรเหมาจ่ายจำนวน 4,000บาท ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 66 ประกอบประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ลงวันที่ 30 มีนาคม 2538 และมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเป็นการเหมาจ่ายร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามมาตรา 57 เป็นเวลา 90 วันตามมาตรา 67 เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท จึงมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวจำนวน 22,500 บาท เป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดจำนวนไว้แน่นอน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าจำเลยจะต้องชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4198/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม: การว่าจ้างเหมาค่าแรงและลักษณะนายจ้าง-ลูกจ้าง
ผู้ประกอบกิจการที่จะอยู่ในฐานะนายจ้างของคนงานรับเหมาค่าแรง ตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการที่ได้ว่าจ้างเหมาค่าแรงให้แก่ผู้รับเหมาค่าแรงรายใดรายหนึ่งเป็นผู้จัดหาคนงานให้แก่ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้รับเหมาค่าแรงนำงานอันเป็นธุรกิจ หรือกระบวนการผลิตของผู้ประกอบกิจการไปให้คนงานของผู้รับเหมาค่าแรงทำในสถานประกอบกิจการหรือสถานที่ทำงานโดยใช้เครื่องมือที่สำคัญในการทำงานของผู้ประกอบกิจการ และคนงานเหล่านั้นต้องมีฐานะเป็นลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงด้วย
โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าข้าว ในการขนข้าวลงเรือไปขายให้แก่ลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ โจทก์ว่าจ้าง ส. จีนเต็งใหญ่เป็นผู้รับเหมาค่าแรงขน ส. จะให้ ท. จีนเต็งหัวหน้าสายเป็นคนจัดหาคนงานซึ่งสมัครใจรับจ้างรายวันเฉพาะกิจเป็นคราว ๆ มาขนข้าวสาร โดยก่อนขนข้าวสารลงเรือ คนงานต้องผสมข้าวสารด้วยเครื่องจักรของโจทก์และบรรจุใส่กระสอบผ่านสายพานในโกดังของโจทก์ อันเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ทำงานที่โจทก์เป็นผู้จัดหา แล้วแบกกระสอบข้าวสารไปลงเรือ การทำงานของคนงานจึงอยู่ภายใต้การควบคุมและสั่งการของ ส. ส. ย่อมมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือคนงานทุกคน ประกอบกับ ส. เป็นคนจ่ายค่าจ้างให้แก่คนงานที่มาแบกขนข้าวสารแต่ละวัน นิติสัมพันธ์ระหว่าง ส. กับคนงานจึงเข้าลักษณะจ้างแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ส. มีฐานะเป็นนายจ้างของคนงาน และเมื่อการทำงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของโจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะนายจ้างของคนงานทั้งหมดด้วย เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์มีลูกจ้างเกิน 10 คน โจทก์ย่อมมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง กรณีเปลี่ยนวันที่มีหน้าที่ชำระเงินสมทบ และชำระเงินสมทบให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายเงินสมทบประกันสังคมแม้จ่ายล่วงหน้าก็ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรได้ หากจ่ายครบ 7 เดือน
การหักเงินสมทบของลูกจ้างส่งสำนักงานประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 47 หมายความว่า ทุกครั้งที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างนายจ้างต้องหักค่าจ้างของลูกจ้างส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคม โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการจ่ายค่าจ้างตามปกติหรือตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง
นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในวันที่ 25 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นการจ่ายล่วงหน้าก่อนวันสิ้นเดือนอันเป็นกำหนดจ่ายตามปกติก็เพื่อความสะดวกที่ลูกจ้างจะนำเงินไปใช้จ่ายในระหว่างคลอดบุตรซึ่งไม่ปรากฏว่ามีเจตนาทุจริต เมื่อมีการจ่ายค่าจ้างแล้ว ผู้เป็นนายจ้างก็มีหน้าที่ต้องหักค่าจ้างที่จ่ายแก่ลูกจ้างดังกล่าวส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมและเมื่อหักแล้วจะมีผลถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้าง เท่ากับลูกจ้างจ่ายเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2540 และ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 6 วรรคสาม บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน ให้ถือว่าเงินสมทบที่หักจากค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้างในเดือนใดเป็นการจ่ายเงินสมทบของเดือนนั้น และไม่ว่าเงิน สมทบนั้นจะได้หักไว้หรือนำส่งเดือนละกี่ครั้ง ให้ถือว่ามีระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบเท่ากับหนึ่งเดือน" จึงถือว่า เป็นการจ่ายเงินสมทบสำหรับเดือนธันวาคม 2540 และถือว่าเป็นการจ่ายเงินสมทบเท่ากับหนึ่งเดือน
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ประกันตนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรไว้ในมาตรา 65 ว่า? ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดเดือนเป็นสำคัญ มิได้บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนต้องทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดเดือน
คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีเหตุที่ศาลแรงงานจะเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าและการส่งเงินสมทบประกันสังคมเพื่อสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร
แม้นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ล่วงหน้าก่อนวันสิ้นเดือนอันเป็นกำหนดจ่ายตามปกติของนายจ้างก็ตาม แต่ก็เพื่อความสะดวกที่โจทก์จะนำเงินไปใช้จ่ายในระหว่างคลอดบุตรซึ่งไม่ปรากฏว่ามีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด เมื่อมีการจ่ายค่าจ้างนายจ้างก็มีหน้าที่ต้องหักค่าจ้างส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคม และถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้าง เมื่อนับรวมกับเงินสมทบที่ส่งไปก่อนหน้านั้นแล้ว โจทก์ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบเจ็ดเดือนแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรตามกฎหมาย
of 3