คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 161

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 105 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5258/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานปลอมเอกสารโดยไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 161
การที่จำเลยกระทำการปลอมเอกสารใบรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษของที่ทำการไปรษณีย์พิษณุโลก ด้วยการกรอกข้อความให้ปรากฏว่าเป็นการรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษว่าได้ส่งไปตามหน่วยราชการต่าง ๆ แล้วอันเป็นเท็จ นั้น ตามใบรับฝากไปรษณีย์ในประเทศ รวม 7 ฉบับ ด้านบนมีข้อความระบุว่า ผู้ฝากส่งเป็นผู้กรอกข้อความ เมื่อผู้ฝากส่งกรอกข้อความแล้วได้นำส่งให้แก่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เพื่อนำซองเอกสารนั้นชั่งน้ำหนักและดำเนินการต่อโดยกรอกข้อความในส่วนด้านล่างที่มีข้อความระบุว่า เจ้าหน้าที่เป็นผู้กรอกข้อความซึ่งหมายถึงเจ้าพนักงานไปรษณีย์ผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารของที่ทำการไปรษณีย์พิษณุโลก ดังนั้น การที่จำเลยกระทำการปลอมเอกสารดังกล่าว โดยจำเลยมีหน้าที่ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบล ผ. เพียงเป็นผู้ปลดและผู้นำส่งประกาศประกวดราคาจ้างเหมาของผู้เสียหาย จำเลยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสารใบรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษดังกล่าว การที่จำเลยปลอมเอกสารดังกล่าว จึงไม่ถือว่ากระทำโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 161 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยได้รับการแต่งตั้งจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผ. ให้เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ เป็นเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ปลดและนำส่งเอกสารประกาศประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างของผู้เสียหายซึ่งกำหนด ให้มีหน้าที่นำเอกสารประกาศประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างดังกล่าว เผยแพร่ไปยังสถานที่ราชการต่าง ๆ รวมเจ็ดแห่ง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 31 ดังนั้น ข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยมีหน้าที่กรอกข้อความในใบรับฝากไปรษณีย์ด่วนพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2542 และตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นการนอกฟ้องและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4347/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะเจ้าพนักงาน: ลูกจ้างเทศบาลไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ต้องลงโทษในฐานะผู้สนับสนุน
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการ เทศบาลตำบลจักราช มิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 147, 151, 161 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17978/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คณะกรรมการสรรหา กทช. ไม่เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อาญา, ประธานวุฒิสภาไม่ใช่เจ้าพนักงาน, ฟ้องแจ้งความเท็จไม่成立
ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการ กสช. ก็ดี คณะกรรมการ กทช. ก็ดี และพนักงานสำนักงานของคณะกรรมการดังกล่าว ก็ดี เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. แต่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตรา 49 ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหา ที่มา และบทบาทหน้าที่ ไม่ได้กำหนดว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการ กสช. หรือ กทช. หรือพนักงานดังกล่าว เช่นนี้ ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวได้ชัดเจนว่า กฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมต้องมีอำนาจหน้าที่หรือมีความรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. จำเลยเป็นเพียงคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานที่จะต้องรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157, 158, 161 และ 162
ตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าพนักงานตามความหมายในลักษณะ 2 หมวด 1 แห่ง ป.อ. การยื่นรายงานเรื่องผลการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กทช. จึงไม่อาจที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248-15249/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานยักยอกทรัพย์และเบียดบังทรัพย์ของโจทก์โดยเจ้าหน้าที่ แม้ฟ้องผิดฐาน แต่ศาลลงโทษได้ตามความผิดที่รับฟัง
จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้
จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด
เงินตามเช็คเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินของโจทก์ที่ ธ. ในฐานะเลขานุการโครงการต้นกล้าอาชีพทำหนังสือขอให้โจทก์อนุมัติเพื่อนำไปชำระเงินยืมที่โครงการยืมเงินกลางของโจทก์มาใช้จ่าย เงินจำนวนนี้จึงมิใช่เงินส่วนตัวของ ธ. ทั้ง ธ. ก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ซึ่งโจทก์จะต้องชำระหนี้ให้แก่ ธ. การที่ ธ. มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นกรณีที่ ธ. ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีหน้าที่รับเงินตามเช็คแล้วนำไปชำระเงินยืมให้แก่โจทก์ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ที่ถูกจำเลยเบียดบังไป โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 147 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ, เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และทุจริตต่อหน้าที่เพื่อประโยชน์ตนเอง
การที่จำเลยนำสมุดบันทึกการประชุมในวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 ไปให้ จ. และ ส. ลงลายมือชื่อในบันทึกการประชุม ทั้งที่ไม่ได้มีการประชุม และบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า ร. เป็นผู้จดรายงานการประชุมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ร. ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่มีชื่อเข้าร่วมประชุมและประชาชนทั่วไปในตำบลท่าเรือ ทั้งเอกสารที่ทำปลอมขึ้นนั้นเป็นบันทึกรายงานการประชุมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นการปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือมีหน้าที่ขออนุมัติข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2538 จากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือเพื่อนำเสนอนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นตาม ป.อ. มาตรา 161 และการที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าวในสำเนาข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ว่ามีการประชุมจริง จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ และประชาชนในตำบลท่าเรือ โดยการนำงบประมาณมาจัดประมูลให้ผู้รับเหมาทำงานตามที่ตนเองต้องการ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157
จำเลยปลอมบันทึกการประชุม 2 ฉบับ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เจ้าพนักงานปลอมเอกสาร ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็เพื่อให้นายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานเรียกรับเงินเกินกำหนดเพื่อการจดทะเบียนที่ดิน และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทุกประเภท รวมทั้งงานในด้านเกี่ยวกับการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการกรอกข้อความในเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน แล้วนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนเกิดเหตุนานประมาณ 7 ปี จำเลยย่อมทราบและคำนวณค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นอย่างดี การที่จำเลยเรียกหรือรับเงินจำนวน 7,800 บาท ไว้แล้วนิ่งเฉยเสีย แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาเรียกหรือรับเอาเงินส่วนที่เกินไว้สำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
จำเลยพร้อมที่จะเสนอเรื่องราวขอจดทะเบียนขายที่ดินระหว่าง น. กับ ส. ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินเพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยกลับละเว้นไม่ดำเนินการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ดังนั้น ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
เมื่อจำเลยได้กรอกข้อความลงในใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ตามความเป็นจริง ตรงตามเจตนาของผู้ซื้อผู้ขายที่ดินทุกประการ และตราประทับของกระทรวงมหาดไทยก็ถูกต้อง เพียงแต่ยังไม่มีลายมือชื่อ นายอำเภอและยังมิได้ลงวันที่และเดือนที่ออกใบแทนฯ เท่านั้น เอกสารดังกล่าว จึงมิใช่เอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยมีเจตนาจะลอกเลียนแบบหรือปลอมเอกสาร ต้นฉบับ ๆ หนึ่งฉบับใด เป็นเพียงแต่เอกสารยังลงรายการไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ ตามระเบียบของทางราชการเท่านั้น และการที่นายอำเภอในฐานะเป็น เจ้าพนักงานที่ดินยังมิได้ลงชื่อรับรองเอกสารกับการที่ยังมิได้ลงวันเดือนปี ที่ออกเอกสาร ก็ไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้พบเห็นเอกสารจะหลงเชื่อว่าเป็น เอกสารที่ถูกต้องแท้จริงที่ทางราชการออกให้ไปได้ การกระทำของจำเลย ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารจึงไม่เป็นความผิดฐาน ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ประกอบด้วยมาตรา 266(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานเรียกรับเงินเกินกว่าค่าธรรมเนียม และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทุกประเภท รวมทั้ง งานในด้านเกี่ยวกับการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการกรอกข้อความในเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนเกิดเหตุนาน ประมาณ 7 ปี จำเลยย่อมทราบและคำนวณค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นอย่างดี การที่จำเลยเรียกหรือรับเงินจำนวน 7,800 บาท ไว้แล้วนิ่งเฉยเสีย แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาเรียกหรือรับเอาเงินส่วนที่เกินไว้สำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149
จำเลยพร้อมที่จะเสนอเรื่องราวขอจดทะเบียนขายที่ดินระหว่าง น. กับ ส. ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินเพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยกลับละเว้นไม่ดำเนินการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ดังนั้น ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตาม ป.อ. มาตรา 149 เมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 149 อันเป็น บทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
เมื่อจำเลยได้กรอกข้อความลงในใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ตามความเป็นจริง ตรงตามเจตนาของผู้ซื้อขายที่ดินทุกประการ และตราประทับของกระทรวงมหาดไทยก็ถูกต้อง เพียงแต่ยังไม่มี ลายมือชื่อนายอำเภอและยังมิได้ลงวันที่และเดือนที่ออกใบแทนฯ เท่านั้น เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยมีเจตนาจะลอกเลียนแบบหรือปลอมเอกสารต้นฉบับ ๆ หนึ่งฉบับใด เป็นเพียงแต่เอกสารยังลงรายการ ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ตามระเบียบของทางราชการเท่านั้น และการที่นายอำเภอในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินยังมิได้ลงชื่อรับรองเอกสารกับการที่ยังมิได้ลงวันเดือนปีที่ออกเอกสาร ก็ไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้พบเห็นเอกสารจะหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงที่ทางราชการออกให้ไปได้ การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 161 ประกอบด้วยมาตรา 266 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานเรียกรับเงินเพื่อช่วยเหลือในการสอบราชการ และความผิดเจ้าพนักงาน
จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายเตรียมข้อมูลของสถานบันบริการคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้รับแต่งตั้งจากอธิบดีกรมตำรวจให้เป็นกรรมการตรวจข้อสอบและรวมคะแนนในการสอบแข่งขันข้าราชการตำรวจและบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิปริญญาตรีเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรและกรรมการได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการจัดทำแผ่นเฉลยและคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจให้คะแนน จำเลยที่ 1 ได้ทำการตรวจกระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ผลการตรวจข้อสอบที่เครื่องคอมพิวเตอร์ปรากฏว่าไม่ตรงกับที่กองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ ได้แต่งตั้งกรรมการเพื่อตรวจกระดาษคำตอบของผู้สอบผ่านด้วยมือ โดยปรากฏว่ามีบุคคลสอบได้คะแนนน้อยกว่าที่เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจและสอบไม่ผ่านข้อเขียน พยานโจทก์มีความเห็นว่าความผิดพลาดเรื่องผลการตรวจกระดาษคำตอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์น่าจะเกิดจากการทุจริต เพราะคะแนนที่ผิดพลาดดังกล่าวได้สูงขึ้นทั้งสามคน และคะแนนสูงขึ้นอย่างมีระบบคือคะแนนสูงขึ้นอยู่ในช่วงที่สอบได้ไม่สูงหรือต่ำกว่านั้น และการผิดพลาดไม่น่าจะเกิดจากการผิดพลาดของเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่เกิดจากการกระทำของบุคคลเป็นผู้กระทำโดยสั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้พิมพ์คะแนนในกระดาษคำตอบและบันทึกเทปตามความต้องการไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1มาก่อน เชื่อว่าได้เบิกความและทำรายงานตามความเป็นจริง ทั้งมีพยานโจทก์อื่นเบิกความยืนยันว่าได้ส่งช่างผู้ชำนาญมาตรวจสอบบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุปรากฏว่าเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในสภาพปกติจึงฟังได้ว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำการตรวจข้อสอบอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ การที่จำเลยที่ 1 คุมเครื่องคอมพิวเตอร์ขณะตรวจข้อสอบอยู่เพียงผู้เดียวมีประสบการณ์และความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ ย่อมมีความสามารถที่จะแก้ไขโปรแกรมในการตรวจข้อสอบให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ จึงฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าความผิดพลาดในการตรวจให้คะแนนในกระดาษคำตอบที่ผิดพลาดเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ได้ทำการตั้งโปรแกรมสั่งเครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์คะแนนลงในกระดาษคำตอบและบันทึกคะแนนลงเทปบันทึกข้อมูลซึ่งเป็นเอกสารราชการของกองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ ตามความต้องการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและมีหน้าที่ทำ และกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าว ทำการแก้ไขเพิ่มเติมคะแนนลงในเอกสารดังกล่าวโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นและการแก้ไขคะแนนดังกล่าวเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กองบัญชาการศึกษากรมตำรวจ กรรมการตรวจข้อสอบ ผู้เข้าสอบและประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 265 การที่จำเลยที่ 1มอบกระดาษคำตอบซึ่งตรวจแล้วและเทปบันทึกข้อมูลให้แก่กรรมการตรวจข้อสอบไปดำเนินการต่อไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กองบัญชาการศึกษากรมตำรวจ ผู้เข้าสอบและประชาชน จึงมีความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265 และเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ ผู้เข้าสอบและประชาชนและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่เมื่อพยานโจทก์ทั้งสามปากไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีเหตุสงสัยว่าพยานจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 คำพยานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5133/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ไม่เป็นบททั่วไป-บทเฉพาะต่อกัน ผู้สนับสนุนความผิดมีโทษ
ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 161 เป็นความผิดคนละอย่างที่มีองค์ประกอบความผิด แตกต่างกัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงมิใช่เป็นความผิดตามบททั่วไปของบทเฉพาะตามมาตรา 161 จำเลยที่ 2 เป็นผู้มาติดต่อพาคนไปให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอม โดยให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมี ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการปลอมเอกสารราชการ และฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,161,265ประกอบมาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและเบียดบังเงินของเจ้าพนักงาน การลงโทษความผิดหลายกรรม
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสาร ดูแลรักษาเอกสารเกี่ยวกับการเงินและบัญชี ควบคุมดูแลเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินทุกประเภทของโรงเรียน พ. จำเลยได้กรอกข้อความและลงลายมือชื่อของข้าราชการหลายคนในสัญญารับรองการยืมเงินว่า บุคคลเหล่านั้นยืมเงินค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในกิจการของโรงเรียนอันเป็นความเท็จ และปลอมลายมือชื่อของผู้อำนวยการ โรงเรียนกับพวกเป็นผู้อนุมัติให้ยืมเงิน อีกทั้งปลอมสัญญารับรองการยืมเงินของบุคคลดังกล่าวโดยเพิ่มเติมข้อความหรือแก้ไขตัวเลขให้สูงขึ้น แล้วเบียดบังเงินส่วนนั้นไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 147 แต่การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมก็โดยมีเจตนาที่จะใช้เป็นหลักฐานในการเบียดบังเงินเป็นของตนการที่จำเลยเบียดบังเงินแต่ละครั้งจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 147อันเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดรวม 36 กระทง เท่านั้นแต่การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำ ของจำเลยในความผิดตามมาตรา 147 และมาตรา 161 เป็นความผิดหลายกรรมและพิพากษาลงโทษจำเลย ตามมาตรา 147 รวม 36 กระทงกับมาตรา 161 รวม 36 กระทงนั้นไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
of 11