คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 24

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4280/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างเสียชีวิต ต้องด้วยความยินยอมของทุกฝ่าย หรือตกลงร่วมกัน หากไม่มีความตกลง การจ่ายเป็นรายเดือนตามกฎหมายจึงชอบ
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20..." และมาตรา 24 บัญญัติว่า "การจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 นายจ้างและลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี จะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้" จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับค่าทดแทนเป็นรายเดือน เพื่อให้มีเงินช่วยเหลือในการดำรงชีวิตในระยะยาว การจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นนั้น จะทำได้ต้องเกิดจากการตกลงกันระหว่างนายจ้างหรือสำนักงานประกันสังคมกับลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พิจารณาตกลงอนุมัติให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองคราวเดียว แต่กลับปรากฏว่าจำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 11 และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยให้จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือน ตามมาตรา 18 (4) จึงเท่ากับว่าจำเลยไม่ประสงค์จะตกลงกับโจทก์ทั้งสองในการจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่สามารถขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนได้ตามมาตรา 24 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนคราวเดียวบางส่วนจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15972/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างเสียชีวิตเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้รับประโยชน์ตามกฎหมาย ไม่ใช่สิทธิที่ตกทอดแก่ทายาท
ในการจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จ่ายเป็นรายเดือนมีกำหนด 8 ปี ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 (4) นั้น ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายกับผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนดังกล่าวจะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้ตามมาตรา 24 แม้ บ. ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 (2) ได้ขอรับค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจากจำเลยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วเห็นควรที่จะจ่ายค่าทดแทนให้ บ. คราวเดียวได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของสิทธิที่สมควรได้รับตามแนวปฏิบัติการพิจารณาจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) คราวเดียวเต็มจำนวน การที่ บ. ยอมรับค่าทดแทนจากจำเลยส่วนแรกเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งไปก่อนจึงถือเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ บ. เกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 24 มีผลทำให้ค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งของ บ. จะถึงกำหนดจ่ายหลังจากได้รับเงินครั้งแรกไปแล้ว 4 ปี
แม้จะปรากฏต่อมาว่าสิทธิในการได้รับค่าทดแทนของ บ. ได้สิ้นสุดลงเพราะ บ. ถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดจ่ายค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งก็ตาม กรณีก็ต้องนำส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งดังกล่าวของ บ. ผู้หมดสิทธิไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไปตามมาตรา 21 วรรคสอง ดังนั้น สิทธิในการได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 โจทก์ซึ่งแม้จะเป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของ บ. แต่ก็มิใช่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 จึงไม่มีสิทธิขอรับค่าทดแทนเมื่อถึงกำหนดจ่ายส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งจากจำเลย