คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 24

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1666/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจรัฐสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หลังปิดงานกระทบเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อย
ก่อนที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 สั่งให้โจทก์รับลูกจ้างในส่วนที่โจทก์ปิดงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้ตามอัตราที่เคยจ่าย จำเลยทั้งสองให้โอกาสโจทก์และสหภาพแรงงานอัลมอนด์ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาโดยตลอดจนถึงขั้นตอนที่โจทก์ใช้สิทธิปิดงานสำหรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 150 คน และหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยังคงควบคุมดูแลข้อพิพาทแรงงานอย่างใกล้ชิดตลอดมาโดยให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไกล่เกลี่ยอีกหลายครั้ง แต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และมีทีท่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายลูกจ้างจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดงานพากันไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล สถานทูตสหรัฐอเมริกา และไปพบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่กองทัพบก ปรากฏว่าแต่ละหน่วยงานไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทแรงงานนี้ได้ ทั้งพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าหากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปอีกเหตุการณ์อันเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานอาจเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้กิจการของโจทก์เป็นการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเครื่องประดับ และโจทก์ปิดงานโดยถูกขั้นตอนตามกฎหมายก็ตาม ก็ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 35 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมโดยจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายเพื่อรอการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ คำสั่งที่ 94/2550 ของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุเพิกถอน
มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติให้นำมาใช้แก่ข้อพิพาทแรงงานที่อยู่ในขั้นตอนที่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 ข้อพิพาทแรงงานรายนี้ได้ล่วงเลยขั้นตอนข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้จนถึงขั้นตอนการปิดงานแล้ว จึงนำมาตรา 24 มาใช้บังคับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6977/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าชดเชยกรณีมีเงินบำเหน็จสูงกว่า เงินบำเหน็จทดแทนค่าชดเชยได้ตามกฎหมาย
ตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 124/2501 กำหนดให้บริษัทสุรามหาราษฎร จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 3 จ่ายเงินชดเชยและเงินบำเหน็จตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งให้แก่พนักงาน และจำเลยที่ 3 จ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีตามคำสั่งดังกล่าวให้โจทก์รับไปแล้ว โจทก์ก็ยอมรับว่าเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีที่ได้รับเป็นเงินบำเหน็จตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 เงินบำเหน็จตัดตอนรายปี ที่จำเลยที่ 3 จ่ายให้โจทก์จึงเป็นการจ่ายและรับตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม หาใช่โจทก์รับโดยอาศัยสิทธิตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ เพราะบันทึก ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว กำหนดเพียงวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามคำสั่งกระทรวง อุตสาหกรรมที่ 124/2501 ว่าให้จ่ายตัดตอนเป็นรายปีได้เท่านั้น
ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างที่จำเลยที่ 3 ตกลงให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ที่บริษัทสุรามหาคุณ จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับสหภาพแรงงานเป็นทางการและเคยถือปฏิบัติมาก่อนแก่พนักงาน และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้บริษัทสุรามหาคุณ จำกัด จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง โดยวินิจฉัยว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้างเมื่อนำไปรวมกับค่าจ้างเป็นการให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างดีขึ้น จึงต้องนำไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคิดค่าชดเชย และค่าชดเชยดังกล่าวที่ได้รับก็เป็นค่าชดเชยตามจำนวนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย แต่กรณีที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับค่าครองชีพอันถือว่าเป็นผลประโยชน์ที่เคยได้รับหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่ามีผลประโยชน์ดังกล่าวที่โจทก์จะพึงได้รับ ส่วนค่าชดเชยซึ่งเป็นผลประโยชน์อีกประการหนึ่งที่โจทก์จะพึงได้รับและจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องจ่ายก็มีเฉพาะค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 124/2501 และตามกฎหมายเช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 3 ได้จ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 124/2501 และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้โจทก์ทั้งห้ารับไปแล้ว และคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วย แรงงาน และเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชย ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงิน ชดเชย แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว ซึ่งแสดงว่าประสงค์ให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงิน ชดเชยหรือค่าชดเชยให้โจทก์ครบถ้วนตามกฎหมายแรงงาน คือ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฎหมายแรงงานที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเลิกจ้าง และถ้าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จด้วย และเงินบำเหน็จมากกว่าค่าชดเชยก็ถือว่าได้จ่ายค่าชดเชยครบถ้วนตามกฎหมายรวมไปกับเงินบำเหน็จแล้ว จำเลยที่ 3 จ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีให้โจทก์รับไปแล้ว และเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับ ถือว่าจำเลยที่ 3 จ่ายค่าชดเชยรวมไปกับเงินบำเหน็จตัดตอนรายปีให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2520

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงาน: ความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงฯ กับคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มิใช่ตัวการตัวแทน
กระทรวงมหาดไทยจำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เพื่อทำหน้าชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ฯลฯ เป็นการปฏิบัติการตามบทบัญญัติของกฎหมาย คณะกรรมการสัมพันธ์ที่จำเลยแต่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หาใช่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวการและตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ แต่เป็นการที่จำเลยและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่างก็จะต้องปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์