คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/39 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12167/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการบังคับคดีในคดีฟื้นฟูกิจการ: เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ลูกหนี้ไม่มีสิทธิขอออกหมายบังคับคดีเอง
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคห้าและวรรคหก บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการทวงหนี้ ขอออกคำบังคับและขอออกหมายบังคับคดีต่อศาล เพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแจ้ง อันเป็นอำนาจและหน้าที่โดยเฉพาะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะต้องดำเนินการ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลออกคำบังคับและส่งคำบังคับเพื่อบังคับคดีแก่ผู้ถูกทวงหนี้ไว้แล้วโดยชอบก็ตาม แต่ลูกหนี้ก็ไม่มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตามมาตรา 90/39 วรรคหก ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17210/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาล้มละลายจากหนี้ค้างชำระสัญญาเช่าซื้อและคำบังคับทวงหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้จึงดำเนินการทวงหนี้ จนศาลล้มละลายกลางออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ โดยจำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งความ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 วรรคสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างแต่เพียงว่าไม่ทราบเรื่องการทวงถามหนี้โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมิได้ปฏิเสธ แต่ก็มิได้โต้แย้งหรือขอให้ศาลเพิกถอนคำบังคับ คำบังคับดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยทั้งสาม โจทก์ไม่จำต้องนำสืบอ้างส่งพยานหลักฐานสัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกัน รายการคำนวณยอดหนี้และรายการค่าเสียหาย ภาระหนี้หลังการขายทอดตลาดแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าหนี้ที่ทวงถามโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขาดอายุความ
ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ครั้งที่สองวันที่ 18 สิงหาคม 2551 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้การส่งครั้งแรกพนักงานไปรษณีย์จะแจ้งเหตุขัดข้องในการนำส่งว่า "ไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า" แต่ก็ปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรท้ายคำแถลงขอจัดส่งคำคู่ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ตามสถานที่โจทก์นำส่งหนังสือทวงถามจริง และในการนำส่งหนังสือทวงถามครั้งที่สอง ก็ปรากฏว่ามีผู้เกี่ยวพันเป็นหลานสาวคือ ส. ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่รับหมายเรียกคดีล้มละลายคดีนี้แทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อรับหนังสือไว้แทน พฤติการณ์แสดงชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหนังสือทวงถาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือและทราบการทวงถามโดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5166/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/39 ถือเป็นหนี้เด็ดขาด หากผู้ถูกทวงหนี้ไม่ปฏิเสธตามกำหนด
หนังสือทวงหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่มีไปถึงผู้ร้องได้ระบุว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/39 และระบุจำนวนหนี้ที่ผู้ร้องจะต้องชำระแก่ผู้บริหารแผนตามสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ร้องทำกับลูกหนี้ว่าหนี้ที่ต้องชำระเป็นหนี้อะไร จำนวนเท่าใด และจะต้องชำระแก่ผู้บริหารแผนของลูกหนี้ภายในระยะเวลาใดอย่างชัดแจ้ง ทั้งยังแจ้งด้วยว่าหากผู้ร้องจะปฏิเสธหนี้ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันรับหนังสือ มิฉะนั้นถือว่าเป็นหนี้ลูกหนี้ตามที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดนั้น จึงเป็นการแจ้งตามบทบัญญัติมาตรา 90/39 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ แล้ว ผู้ร้องจะอ้างว่าเข้าใจว่าหนังสือทวงหนี้ดังกล่าวเป็นหนังสือทวงหนี้ทั่ว ๆ ไป และไม่เข้าใจบทบัญญัติมาตรา 90/39 ดังกล่าวหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องมิได้ปฏิเสธหนี้ไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 14 วัน นับแต่วันรับหนังสือ หนี้ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปจึงเป็นหนี้เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/39 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางให้ไต่สวนคำร้องของผู้ร้องเพื่อพิจารณายอดหนี้ที่เป็นหนี้ลูกหนี้ใหม่ได้
ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจศาลล้มละลายกลางที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุผลตามรูปคดีว่ามีเหตุสมควรที่จะงดการบังคับคดีไว้หรือไม่ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางไต่สวนคำร้องของผู้ร้องเพื่อพิจารณายอดหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้ร้องใหม่และขอให้งดการบังคับคดีไว้ อันเป็นการของดการบังคับคดีไว้ก่อนในระหว่างไต่สวนคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวโดยมิได้อ้างเหตุอันสมควรประการอื่นเพื่อให้ศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาว่ามีเหตุสมควรที่จะงดการบังคับคดีไว้หรือไม่ จึงเป็นคำร้องที่มิชอบที่ศาลล้มละลายกลางจะรับไว้พิจารณา