คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ศุภมิตร บุญประสงค์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนมรดกโดยภริยาผู้รับโอนเกินสิทธิและอายุความมรดก การแบ่งสินสมรสและทรัพย์มรดก
การฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด หากพิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) เมื่อส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมีเพียงกึ่งหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 ศาลย่อมพิพากษาเพิกถอนเฉพาะส่วนที่ดินกึ่งหนึ่งกลับคืนสู่กองมรดกของผู้ตายได้
เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 จำเลยที่ 1 จัดการโอนมรดกทั้งหมดให้ตนเอง รวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แต่เป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการรับโอนมรดกของผู้ตายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แสดงว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทรัพย์มรดกของผู้ตายกลับคืนกองมรดกเพื่อแบ่งปันระหว่างทายาท จึงเป็นคดีมรดก ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่งปันกันโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 24990 ถือว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย จึงไม่อาจอ้างการครอบครองขึ้นต่อสู้โจทก์และโจทก์ร่วมได้ คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกผู้ตาย อยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1635 (2) ที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในฐานะสินสมรสกึ่งหนึ่ง และในฐานะทายาทผู้รับมรดกอีกกึ่งหนึ่งรวมเป็นสามในสี่ส่วนของที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 และ 123 เป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 และ 123 ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายทั้งแปลง และเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 ซึ่งเป็นสินสมรสของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 225 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 58/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้สินบนเจ้าพนักงาน: การแยกความผิดผู้ให้สินบนและผู้รับ รวมถึงการพิสูจน์เจตนา
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน แม้จะยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานก็ตาม การที่ ร. โทรศัพท์ติดต่อให้จำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 50,000 บาท มาให้เจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 เพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้นำเงินสินบนมาที่บ้านเกิดเหตุหลังจากความผิดสำเร็จแล้ว จึงมิใช่เป็นการร่วมกระทำความผิดกับ ร. ในลักษณะของตัวการ ทั้งมิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดจึงไม่เป็นผู้สนับสนุน อีกทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 มาถึง ก็ถูกร้อยตำรวจเอก ธ. กับพวกจับกุมทันทีโดยไม่มีโอกาสที่จะพูดคุยกับร้อยตำรวจเอก ธ. หรือ ร. ถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่มีพฤติการณ์ใดที่จะบ่งชี้ว่าได้ร่วมกับ ร. ให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัว ร. และ ก. และมิให้ยึดรถกระบะ เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของ ร. ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกับ ร. ให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยแต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้ตามคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4594/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ต้องข่มขืนใจหรือจูงใจบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ร่วมกระทำความผิด
ป.อ. มาตรา 148 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น..." นั้น การข่มขืนใจหรือจูงใจต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นมิใช่ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน เมื่อ ธ. เป็นผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจําเลย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือจูงใจบุคคลอื่นเพื่อให้มอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจําเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5511/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของโจทก์หลังจำเลยถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน และอายุความของคดี
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และมาตรา 1273/4 จะบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียนและห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งต่อเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน โดยให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย แต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่โจทก์จะฟ้องคดีได้ การที่ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนอันเป็นผลให้ถือว่าจำเลยที่ 1 คงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกจากทะเบียนเลยก็ตาม แต่ผลของกฎหมายที่กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังจากศาลมีคำสั่งเท่านั้น หามีผลทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบแต่อย่างใด และเมื่อจำเลยทั้งห้ายกข้อต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ ย่อมเป็นภาระการพิสูจน์ของโจทก์ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความจริงว่า ฟ้องของตนไม่ขาดอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 เป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการ จะไม่ทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์คงมีคำพยานของพนักงานติดตามเร่งรัดหนี้สินของโจทก์มาเบิกความ โดยไม่ปรากฏว่าพยานรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องโดยตรงในการรับชำระหนี้แต่อย่างใด แม้โจทก์จะอ้างอิงรายการคำนวณภาระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยค้างรับเป็นพยานประกอบคำเบิกความ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ฝ่ายเจ้าหนี้เป็นผู้จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียว ทั้งยังไม่มีข้อความตอนใดในเอกสารยืนยันได้ว่า รายการนำเงินเข้าบัญชี 15,000 บาท เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 เป็นการกระทำของฝ่ายจำเลยทั้งห้า ประกอบกับโจทก์ไม่มีหลักฐานการนำเงินเข้าฝากมาแสดงและมิได้ติดตามพยานที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดทำเอกสารหรือการรับชำระหนี้มาเบิกความเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงกับให้โอกาสจำเลยทั้งห้าซึ่งปฏิเสธเรื่องการชำระหนี้ได้ซักค้านหาความจริงตามกระบวนความ ลำพังคำพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์ที่นำสืบมาจึงนับว่ายังมีข้อควรตำหนิและไม่พึงเชื่อถือรับฟังเป็นแน่นอนตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 หรือลูกหนี้คนใดได้ชำระหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 การที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยของงวดถัดจากวันทำสัญญา คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 สิทธิเรียกร้องที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ล่วงพ้นกำหนดเวลาสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือบอกกล่าวการผิดนัดของผู้ค้ำประกัน, ดอกเบี้ยผิดนัด, และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในสัญญากู้
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันและจำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์บอกกล่าวทวงถามและมีหนังสือบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือหักทอนทางบัญชีกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 30 กันยายน 2554 หลังจากนั้นไม่มีการเบิกถอนเงินอีก แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ ไม่ประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันอีก สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงโดยปริยาย โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นกับจำเลยที่ 1 ได้อีก จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อโจทก์ทวงถาม โดยโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัด หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต่อโจทก์ ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงิน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ครั้งสุดท้ายวันที่ 20 ธันวาคม 2559 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระงวดถัดไป ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2560 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 จึงเป็นการบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่หลุดพ้นความรับผิด
สำหรับค่าเบี้ยประกันภัยและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันนั้น เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ และโจทก์บอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในค่าเบี้ยประกันภัยและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ทดรองจ่ายไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3346/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาเงินกู้เนื่องจากการลาออกจากการเป็นพนักงานประจำ และผลกระทบต่อการชำระหนี้
ตามข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท ก. ข้อ 34 (3) ระบุคุณสมบัติของสมาชิกว่า ต้องเป็นพนักงานประจำของบริษัท ก.(มหาชน) และข้อ 19 ระบุว่า ถ้าประสงค์จะลาออกจากการเป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ตามข้อ 34 (3) จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินซึ่งมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นก่อน อีกทั้งตามหนังสือกู้ยืมเงิน ข้อ 14 ระบุว่า หากผู้กู้จะขอลาออกจากงานประจำต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ให้กู้ทราบก่อนและจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นทันทีก่อน ถ้าผู้กู้ไม่ปฏิบัติตามยินยอมให้บริษัทการบินไทย ฯ หรือผู้ให้กู้หักเงินเดือน ค่าจ้างเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ให้กู้เสร็จสิ้นทันที กับทั้งระบุว่าหากผู้กู้ผิดนัดหรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้กู้ยินยอมให้หักเงินเดือนหรือค่าจ้างชำระหนี้ทันทีจนกว่าจะครบถ้วน ซึ่งตามข้อบังคับสหกรณ์ฯ และข้อตกลงดังกล่าวล้วนให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของผู้กู้ว่าต้องมีสถานะเป็นพนักงานประจำของบริษัท ก. เป็นสาระสำคัญ เมื่อข้อเท็จริงฟังได้ว่าโจทก์ลาออกจากพนักงานประจำของบริษัท ก. โดยไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือแก่จำเลยที่ 1 ผู้ให้กู้ทราบก่อนและโจทก์ไม่จัดการชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 14 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิไม่จ่ายเงินกู้งวดที่เหลือแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2787/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็ก และการบังคับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา
การยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่คดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน: ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่เรียกร้องทรัพย์สินคืนจากผู้ถือครองแทนห้างฯ
การชำระบัญชีนั้น เป็นกระบวนการที่ผู้ชำระบัญชีเข้าทำการตรวจสอบบัญชี ทรัพย์สินและหนี้สินของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน หากปรากฏว่าห้างฯ มีหนี้ค้างชำระอยู่แก่บุคคลภายนอก ผู้ชำระบัญชีก็ต้องจัดการนำทรัพย์สินของห้างฯ ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกให้เสร็จสิ้นไป ในทางกลับกัน หากปรากฏว่าห้างฯ มีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินใด ๆ อยู่แก่บุคคลภายนอก ผู้ชำระบัญชีก็ต้องดำเนินการเรียกร้องให้บุคคลภายนอกส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวคืนเข้ากองทรัพย์สินของห้างฯ หากบุคคลภายนอกซึ่งมีทรัพย์สินที่ต้องชำระหรือส่งมอบคืน ไม่ยอมชำระหรือส่งมอบคืน ผู้ชำระบัญชีก็ย่อมต้องฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาลเป็นเรื่อง ๆ ไป คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แทนห้างฯ ซึ่งมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กรณีถือว่าจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้เป็นหุ้นส่วน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีที่จะต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินดังกล่าวคืนมายังกองทรัพย์สินของห้างฯ เพื่อจัดการชำระบัญชีในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน หากจำเลยที่ 3 ไม่ยอมโอนที่ดินคืน ผู้ชำระบัญชีก็ต้องฟ้องร้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินดังกล่าวคืน เพื่อผู้ชำระบัญชีจะได้รวบรวมและจัดการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปตามกฎหมาย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ และขอให้บังคับจำเลยที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ และส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์หรือแก่ผู้ชำระบัญชีเป็นการไม่ชอบ เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีต้องดำเนินการในการชำระบัญชีของห้างฯ ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบในคดีหมิ่นประมาท และขอบเขตการโต้แย้งดุลพินิจศาล
การกระทำของ น. ที่แอบนำเอาเครื่องบันทึกเสียงมาทำการบันทึกการสนทนาระหว่างจำเลยทั้งสองกับคู่สนทนา โดยจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าขณะที่ตนทำการสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงไปในเครื่องบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยทั้งสองอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดาจึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย ส่วนจะมีเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้นได้หรือไม่เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 อันเป็นข้อยกเว้นให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีการอันเกิดจากการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรง ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ลักษณะแห่งคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริตชอบด้วยกฎหมายมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองได้ การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ เท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป ประกอบกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้แสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ มิใช่ผู้ที่จะต้องได้รับการลงโทษในทางอาญา หากศาลปฏิเสธไม่รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ดังนี้ การรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวกลับจะเป็นผลเสียมากกว่า บันทึกเสียงการสนทนาและข้อความจากการถอดเทปจึงไม่อาจรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และ 226/1
การโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองไม่พอฟังว่า จำเลยทั้งสองกล่าวถ้อยคำตามฟ้องอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้โจทก์ทั้งสองจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงนั้นก็ยังต้องว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองด้วย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15