พบผลลัพธ์ทั้งหมด 42 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแบ่งสินสมรสหลังหย่า: ศาลพิพากษาให้โอนที่ดินพร้อมบ้านให้โจทก์ได้ แม้ข้อตกลงระบุเฉพาะบ้าน
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย และขอบังคับให้จำเลยแบ่งสินสมรสทุกรายการให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยให้การต่อสู้ว่า บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าไม่เป็นโมฆะ การจัดแบ่งสินสมรสตามข้อ 3 เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนการหย่า ถือได้ว่ามีการแบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรส โดยยกให้จำเลยทั้งหมดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งสินสมรสใหม่อีก เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แล้ว ถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาขอแบ่งสินสมรสทั้งปวงระหว่างโจทก์กับจำเลยกึ่งหนึ่งโดยขอให้ไม่ยึดถือตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ากันด้วยความสมัครใจ บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจึงสมบูรณ์มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวระบุสินสมรสที่ตกลงยกให้โจทก์เพียงบ้านเลขที่ 109/4 โดยไม่ได้กล่าวถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 อันเป็นที่ตั้งของบ้านดังกล่าวแต่อย่างใด และโจทก์มีคำขอให้แบ่งสินสมรสอีก 5 รายการ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยปกปิดไว้ซึ่งรวมถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 ที่พิพาทด้วย แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยแบ่งที่ดังกล่าวอันเป็นสินสมรสให้แก่โจทก์เพียงกึ่งหนึ่ง แต่โจทก์ย่อมไม่อาจบรรยายฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งแปลงได้ เพราะโจทก์ตั้งรูปเรื่องมาว่าบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของโจทก์และโจทก์ต้องการขอแบ่งสินสมรสรายการอื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าด้วย เมื่อข้อเท็จจริงยุติในชั้นฎีกาว่าบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามีผลใช้บังคับได้ และจำเลยยังไม่ได้แบ่งสินสมรสรายการที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็ได้วินิจฉัยแล้วว่า บ้านเลขที่ 109/4 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 เป็นส่วนควบตามกฎหมายของที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 และเมื่อพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีในทางสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 แล้วเห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาแบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างกันโดยจำเลยตกลงยกที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 พร้อมบ้านเลขที่ 109/4 ให้แก่โจทก์ทั้งหมด โดยนับตั้งแต่วันที่มีการทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า เมื่อมูลค่าที่ดินพิพาทไม่ได้สูงเกินไปกว่าราคาประเมินกึ่งหนึ่งของสินสมรสในคดีนี้และยังอยู่ในประเด็นพิพาทว่า จำเลยต้องแบ่งสินสมรสรายการนี้ให้โจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 89706 พร้อมบ้านเลขที่ 109/4 ให้โจทก์ทั้งหมด จึงไม่เป็นการพิพากษาที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนฯ มาตรา 182/1 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันในคดีทำร้ายร่างกายและกระทำชำเราเด็ก ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ลงโทษทุกกรรม
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำชำเราผู้ตายในคราวเดียวกันกับที่จำเลยทำร้ายผู้ตาย โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมหลังจากที่มีการตรวจพิสูจน์ศพผู้ตายแล้ว การทำร้ายทางเพศเกิดขึ้นเป็นประจำไม่ใช่คราวใดคราวหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งเจตนาของจำเลยที่ใช้มือตีไปที่ศีรษะและบริเวณหลังคือเจตนาทำร้ายผู้ตายที่เป็นเด็กด้วยความโมโห และเจตนากระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสามารถแยกออกจากเจตนาของจำเลยที่กระทำความผิดข้อหากระทำชำเราได้ การกระทำของจำเลยจึงเห็นได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลในการกระทำทั้งสองข้อหาแตกต่างกัน จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจทำนิติกรรมแทนคนไร้ความสามารถ: ต้องรอคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้อนุบาลก่อน
ที่ผู้ร้องอ้างว่าจะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 6 เพื่อจัดการทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถนั้นที่จะยื่นคำร้องขอได้ เมื่อปรากฏว่าในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ศาลยังไม่มีคำสั่งว่า ม. เป็นคนไร้ความสามารถ และมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลของ ม. ผู้ร้องซึ่งยังไม่อยู่ในฐานะผู้อนุบาล จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องทำนิติกรรมแทน ม. ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3957/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานอั้งยี่, ฟอกเงิน, และฉ้อโกงประชาชน: การปรับบทและลงโทษที่ถูกต้อง
แม้บัญชีธนาคาร ก. สาขาซีคอนสแควร์ เลขที่บัญชี 659-1-32XXX-X ของจำเลยที่ 4 ที่มีการรับโอนเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในคดีนี้ เป็นบัญชีเดียวกับบัญชีที่รับโอนเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในคดีหมายเลขแดงที่ 1822/2561 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ และจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 7 ในคดีดังกล่าว เรื่องความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและความผิดฐานฟอกเงินเช่นเดียวกับคดีนี้ก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นคนละคนกัน และการรับโอนเงินจากผู้เสียหายทั้งสองคดีมาเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวต่างวันต่างเวลากัน แม้การกระทำความผิดมีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่สามารถแยกเจตนาในการรับโอนเงินจากผู้เสียหายแต่ละคนต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน แม้ในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 7 ศาลจังหวัดนครสวรรค์จะได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่เมื่อเป็นความผิดคนละกรรมกันกับคดีนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมไม่ระงับ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่ว่าบัญชีธนาคารของตนจะใช้เป็นแหล่งรับโอนเงินเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดที่มาของเงินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด และเมื่อมีเงินของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงได้ถูกยักย้ายนำมาเข้าบัญชีซึ่งปรากฏชื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของบัญชี ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 รับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก่อนหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษในความผิดมูลฐาน อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1), 60
การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และการแสดงตนเป็นคนอื่นโดยส่งภาพเต็มยศของพลตำรวจตรี ท. และเอกสารปลอมไปให้ผู้เสียหายทางไลน์อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและมีเจตนาเดียว คือเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือผู้ถูกหลอกลวงอื่น ความผิดดังกล่าวตามฟ้องข้อ 2 และข้อ 4 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมูลฐานที่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินจึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ สำเร็จแล้ว และเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำต่างจากการกระทำความผิดฐานอื่นนั้นได้ ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามฟ้องข้อ 3 จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงินเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
จำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่ว่าบัญชีธนาคารของตนจะใช้เป็นแหล่งรับโอนเงินเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดที่มาของเงินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด และเมื่อมีเงินของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงได้ถูกยักย้ายนำมาเข้าบัญชีซึ่งปรากฏชื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของบัญชี ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 รับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก่อนหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษในความผิดมูลฐาน อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1), 60
การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และการแสดงตนเป็นคนอื่นโดยส่งภาพเต็มยศของพลตำรวจตรี ท. และเอกสารปลอมไปให้ผู้เสียหายทางไลน์อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและมีเจตนาเดียว คือเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือผู้ถูกหลอกลวงอื่น ความผิดดังกล่าวตามฟ้องข้อ 2 และข้อ 4 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมูลฐานที่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินจึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ สำเร็จแล้ว และเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำต่างจากการกระทำความผิดฐานอื่นนั้นได้ ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามฟ้องข้อ 3 จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงินเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3296/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าใช้จ่ายในการเตรียมแต่งงาน (ถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง) ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมตามฐานะทางสังคม และผู้ผิดสัญญาหมั้นต้องรับผิดชอบ
พิธีสมรสในปัจจุบันมิได้จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางขนบธรรมเนียมประเพณีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อแสดงถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคู่บ่าวสาวรวมถึงครอบครัวของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในงานพิธีสมรสจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของคู่บ่าวสาว สถานะทางการเงินตลอดจนสถานภาพทางสังคมของทั้งคู่ ดังจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันคู่บ่าวสาวจะใช้บริการจัดเตรียมงานโดยติดต่อกับบริษัทที่ทำธุรกิจวางแผนจัดงานแต่งงานที่ให้บริการคำปรึกษาและประสานงานเกี่ยวกับงานหมั้นและงานแต่งงาน ด้วยการแนะนำรูปแบบของงานให้เหมาะสมกับคู่บ่าวสาว และควบคุมให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ภายในงบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งจะให้การบริการโดยดูแลเรื่องเครื่องแต่งกายและภาพถ่ายของคู่บ่าวสาวตั้งแต่การถ่ายภาพก่อนวันแต่งงานและวันหมั้นไปจนถึงพิธีสมรส ทำให้การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งกลายเป็นที่นิยมอย่างหนึ่งที่คู่รักแทบทุกคู่ต่างถ่ายภาพก่อนวันแต่งงานเตรียมไว้ เพื่อนำภาพถ่ายไปใช้ทำการ์ดแต่งงาน หรือนำภาพถ่ายไปใช้ตกแต่งในการจัดงานวันหมั้นหรือวันทำพิธีสมรส ตลอดจนทำวิดีโอคู่บ่าวสาวนำเสนอในงานแต่งงาน และเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกภายหลังวันงานแต่งงาน ดังนี้ ทำให้การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งมิใช่สิ่งฟุ่มเฟือยแต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการสมรสที่จำเป็นสำหรับคู่บ่าวสาวเพื่อให้งานพิธีสมรสเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (2) เมื่อได้ความว่าในการเตรียมการสมรสโจทก์กับจำเลยได้ร่วมกันตัดสินใจจัดเตรียมงานโดยกำหนดให้มีการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งก่อนแต่งงานจึงเป็นความตั้งใจและสมัครใจของทั้งสองฝ่ายที่ประสงค์จะถ่ายภาพพรีเวดดิ้งก่อนแต่งงาน มิใช่เกิดจากความประสงค์ของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวการดำเนินการของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเตรียมการก่อนสมรสโดยสุจริต ทั้งโจทก์และจำเลยต่างประกอบอาชีพแพทย์มีรายได้สูง ย่อมมีสถานภาพทางสังคมที่ดี มีเกียรติ และเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป เมื่อคำนึงถึงสถานะทางการเงินตลอดจนสถานภาพทางสังคมของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามฐานานุรูปและตามสมควร ประกอบกับเหตุที่ผิดสัญญาหมั้นเกิดจากความผิดของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ควรให้ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ จึงรับฟังได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายเนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (2) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าเลี้ยงชีพหลังหย่า: ศาลพิจารณาเจตนาสุจริตของคู่สัญญา แม้ข้อตกลงระบุแหล่งเงิน แต่ไม่ได้จำกัดสิทธิในการจ่าย
ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยภายหลังหย่าเป็นความตกลงระงับข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสที่มีต่อกันไว้ได้ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 การตีความข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยจะอาศัยเพียงลำพังข้อสัญญาข้อหนึ่งข้อใดเพียงข้อเดียว ย่อมไม่อาจทราบเจตนาอันแท้จริงในทางสุจริตของคู่สัญญาได้ สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีความว่า จำเลยยอมชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 ตุลาคม 2561 และจะชำระทุกวันที่ 10 ของทุกเดือนไปจนกว่าจะครบ 5 ปี แม้สัญญาระบุว่าเป็นข้อตกลงในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่แท้ที่จริงเป็นข้อตกลงในเรื่องการจ่ายค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่า และสัญญาข้อ 8 ที่ว่า จำเลยตกลงจะชำระเงินโบนัสแก่โจทก์ปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 หลังจากที่จำเลยได้จ่ายเงินตามสัญญาข้อ 7 ครบ 5 ปี ในปี 2566 ซึ่งมีลักษณะเป็นเงินค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าเช่นกันและเป็นการจ่ายค่าเลี้ยงชีพต่อเนื่องกับสัญญาข้อ 7 รวมแล้วเป็นเวลา 10 ปี เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงยอมผ่อนผันตามคำเรียกร้องของโจทก์ในคำฟ้อง ด้วยการลดจำนวนเงินที่เรียกร้องทั้งสองจำนวนลงจากที่จำเลยจะต้องจ่ายในช่วง 5 ปีแรก เดือนละ 35,000 บาท เหลือเดือนละ 25,000 บาท และช่วง 5 ปีหลัง จากที่จำเลยต้องจ่ายเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) จำนวนครึ่งหนึ่งของเงินได้ เหลือเพียงปีละ 100,000 บาท แม้คำฟ้องและสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพจากเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) ในช่วง 5 ปี หลังก็ตาม แต่น่าจะเป็นเพราะโจทก์ต้องการเรียกร้องเป็นเงินครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานหรือโบนัสของจำเลย มิได้ถือเอาเป็นข้อสำคัญว่าเงินที่จะนำมาจ่ายให้แก่โจทก์จะต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้มาจากบริษัท บ. ประกอบกับสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้อย่างใดว่า เงินที่จะจ่ายแก่โจทก์ต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้จากบริษัท บ. เมื่อพิเคราะห์เจตนาอันแท้จริงของโจทก์และจำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยมีเจตนาตกลงกันให้จำเลยจ่ายเงินเป็นค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ตามสัญญาข้อ 8 อีกปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 เป็นต้นไป นอกเหนือจากที่จะต้องจ่ายตามสัญญาข้อ 7 อย่างไรก็ตามหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 เป็นหนี้ในอนาคต ยังไม่ถึงกำหนดตามคำพิพากษาตามยอม จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาตามยอมของศาล เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้มีการบังคับคดีแก่จำเลยได้ คำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้อายัดเงินในบัญชีธนาคารของจำเลยนั้น เป็นการไม่ชอบ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 252 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ 2553 มาตรา 182/1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3029/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิพากษาเรื่องสินสมรสหลังหย่า การได้มาซึ่งทรัพย์สินหลังฟ้องหย่า และการประมูลซื้อทรัพย์สิน
เมื่อจำเลยรับว่าที่ดินพิพาทจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนบุคคลอื่น จำเลยจึงไม่อาจยกข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ขึ้นอ้างได้ โจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคสอง จำเลยปฏิเสธว่าไม่ใช่สินสมรส จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์
การจัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาในกรณีที่มีการฟ้องหย่ากัน ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) บัญญัติว่า "ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า" คดีนี้เป็นฟ้องให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาเมื่อมีการหย่ากันแล้วโดยคำพิพากษาของศาล จึงต้องบังคับตามมาตรา 1532 (ข) กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้นให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า การพิจารณาการได้มาเกี่ยวกับสินสมรสจึงต้องพิจารณามาตรา 1532 (ข) ประกอบด้วย โดยหากเป็นกรณีที่มีการหย่าโดยคำพิพากษา ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสที่จะเป็นสินสมรสจะต้องได้มาอย่างช้าสุดไม่เกินวันฟ้องหย่า จำเลยฟ้องหย่าโจทก์วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 จำเลยจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20691 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 53456 จำเลยจดทะเบียนรับโอนมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 อันเป็นการได้รับโอนมาภายหลังจากวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นฟ้องหย่าโจทก์แล้ว และทางนำสืบของโจทก์ไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยนำเงินที่เป็นสินสมรสไปชำระค่าที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้จำเลยได้มาภายหลังวันที่ฟ้องหย่า จึงไม่เป็นสินสมรสของจำเลยกับโจทก์ตามมาตรา 1574 (1) ประกอบมาตรา 1532 (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20691 และเลขที่ 53456 จากจำเลย
การจัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาในกรณีที่มีการฟ้องหย่ากัน ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) บัญญัติว่า "ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า" คดีนี้เป็นฟ้องให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาเมื่อมีการหย่ากันแล้วโดยคำพิพากษาของศาล จึงต้องบังคับตามมาตรา 1532 (ข) กล่าวคือ ในส่วนของการบังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้นให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า การพิจารณาการได้มาเกี่ยวกับสินสมรสจึงต้องพิจารณามาตรา 1532 (ข) ประกอบด้วย โดยหากเป็นกรณีที่มีการหย่าโดยคำพิพากษา ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสที่จะเป็นสินสมรสจะต้องได้มาอย่างช้าสุดไม่เกินวันฟ้องหย่า จำเลยฟ้องหย่าโจทก์วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 จำเลยจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20691 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 53456 จำเลยจดทะเบียนรับโอนมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 อันเป็นการได้รับโอนมาภายหลังจากวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นฟ้องหย่าโจทก์แล้ว และทางนำสืบของโจทก์ไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยนำเงินที่เป็นสินสมรสไปชำระค่าที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้จำเลยได้มาภายหลังวันที่ฟ้องหย่า จึงไม่เป็นสินสมรสของจำเลยกับโจทก์ตามมาตรา 1574 (1) ประกอบมาตรา 1532 (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20691 และเลขที่ 53456 จากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าทดแทนหลังการหย่าตกทอดถึงทายาทและปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ โดยสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น แม้จะสละหรือโอนมิได้และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 1598/41 ก็ตาม แต่โจทก์มีสิทธิดังกล่าวก่อนที่จะถึงแก่ความตาย ประกอบกับโจทก์ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยที่ 1 ตามสิทธิแล้ว สิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์โดยแท้ และเป็นกองมรดกของโจทก์ตามมาตรา 1600 เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายสิทธินี้ย่อมตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหย่าข้ามสัญชาติ: ศาลไทยต้องพิจารณากฎหมายอังกฤษก่อนพิพากษาหย่า
การหย่าระหว่างโจทก์ซึ่งมีสัญชาติไทยกับจำเลยซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษในประเทศไทยนั้นมีลักษณะเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่เกี่ยวพันกับกฎหมายระหว่างประเทศอันตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 โดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 27 บัญญัติว่า "ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ เหตุหย่า ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" ซึ่งมีความหมายว่า ในกรณีที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลสัญชาติอื่นหรือทั้งสองฝ่ายเป็นคนสัญชาติอื่นแต่มาฟ้องหย่าในประเทศไทย ศาลไทยจะพิพากษาให้หย่ากันได้ต่อเมื่อกฎหมายของประเทศสามีหรือภริยาหรือทั้งสองฝ่ายยินยอมให้สามีภริยาที่สมรสกันตามกฎหมายแล้วสามารถหย่ากันได้ ดังนั้นข้อที่ว่ากฎหมายแห่งประเทศอังกฤษอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติอังกฤษหย่าได้หรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญที่ศาลต้องพิจารณาเสียก่อน และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฏ เพราะกฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่ากฎหมายอังกฤษอันเป็นกฎหมายสัญชาติของจำเลยผู้เป็นสามียินยอมให้หย่าได้และมีเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายไทยซึ่งเป็นกฎหมายสัญชาติของโจทก์ผู้เป็นภริยาและเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า เมื่อโจทก์มิได้นำสืบว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษอันเป็นกฎหมายสัญชาติของจำเลยยอมให้คู่สมรสหย่ากันได้ ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลไทยจึงไม่อาจพิพากษาให้หย่ากันได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ หรือจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็สามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1595/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การติดตามทรัพย์สินจากการฟอกเงิน: สิทธิของเจ้าของเดิม vs. การคืนทรัพย์สินให้แผ่นดิน
ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์โดยรับเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อไว้โดยสุจริต เมื่อกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อยังเป็นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ภายหลังจากทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งรถยนต์ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อได้ แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานมาชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบที่จะคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เสียทีเดียว แต่ชอบที่จะคืนเงินลงทุนที่ยังเหลืออยู่ภายหลังหักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดนั้นชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 แล้ว โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องดำเนินการขายทอดตลาดรถยนต์ แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ไม่เกินเงินลงทุนที่ยังขาดอยู่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้หักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเท่ากับเป็นการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ใช้หรือรับประโยชน์จากทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ในระหว่างเช่าซื้อโดยไม่เสียค่าตอบแทน เป็นการเสียหายแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน