คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 172 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 18 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในคดีอาญา การไม่ตั้งทนายความ, การคุ้มครองสิทธิ, และเหตุไม่รอการลงโทษ
ก่อนเริ่มพิจารณาคดีศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้ว จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ศาลจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดี ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ อันเป็นการกำหนดรายละเอียดของสิทธิไว้ชัดแจ้งเช่นเดียวกันกับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เมื่อจำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความและให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การจำเลยไว้ ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลย
จำเลยฎีกาว่า ในวันนัดสอบคำให้การจำเลย โจทก์และจำเลยต้องมาอยู่ต่อหน้าศาลพร้อมกันให้ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง เมื่อจำเลยให้การอย่างไรก็ให้ศาลจดไว้ ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องแถลงให้ศาลทราบว่ายังประสงค์ให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ วันนัดสอบคำให้การจำเลยจึงเป็นการนัดพิจารณาซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องมาในวันดังกล่าวนั้น เมื่อโจทก์ไม่มา จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 181 ประกอบมาตรา 166 นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้อุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และปรับ 800 บาท ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวยังไม่เกินห้าปีและกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกจนถูกเพิ่มโทษ เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ซึ่งมิใช่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษหรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 (1) และ (2) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8858/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ศาลในการสอบถามจำเลยหลังรับสารภาพ และผลของการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ศาลชั้นต้นมีหน้าที่อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและถามว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักลอบนำพารถยนต์ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร หรือช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับเอาไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งรถยนต์ของกลางที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นนั้นลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ต้องสอบถามจำเลยให้ชัดเจนว่าจะให้การรับสารภาพในข้อหาใด แล้วจึงพิพากษาลงโทษในข้อหาที่จำเลยให้การรับสารภาพดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามคำให้การของจำเลยให้ชัดเจนกลับพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานช่วยเหลือผู้ที่นำของที่ยังมิได้เสียภาษี ของต้องห้ามหรือของที่ต้องจำกัด เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ โดยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและมีผลให้กระบวนพิจารณาต่อไป ตลอดจนคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ชอบไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำงานของคนต่างด้าวเกินขอบเขตใบอนุญาต แม้เป็นงานต่อเนื่องการบริหารก็ผิด พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานกับบริษัท ป. ซึ่งประกอบกิจการสถานบริการ ในตำแหน่งผู้จัดการ แต่ได้ทำงานเป็นพนักงานผสมเหล้าให้ลูกค้าดื่ม อันเป็นการทำงานที่นอกเหนือไปจากที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องแล้วว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ แต่ได้ทำงานเป็นพนักงานผสมเหล้าให้ลูกค้าดื่ม ศาลย่อมไม่อาจแปลความตามคำฟ้องให้แตกต่างออกไปได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการสถานบริการที่ประกอบกิจการจำหน่ายสุรา จึงมีหน้าที่ควบคุมดูแลบริหารงานทั้งหมดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัท เมื่อบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายสุราให้แก่ลูกค้า การที่จำเลยผสมเหล้าให้แก่ลูกค้าของบริษัทดื่มถือเป็นลักษณะงานต่อเนื่องจากการบริหารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทซึ่งจำเลยเป็นลูกจ้างโดยไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเลยจะมาทำงานในตำแหน่งเป็นพนักงานผสมเหล้าอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อให้ได้รับเงินค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นเพิ่มขึ้นจากตำแหน่งเดิม การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 26 วรรคแรกแล้ว เมื่อความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นและจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นย่อมลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
ศาลเป็นผู้สอบถามจำเลยซึ่งจำเลยพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจดี แสดงว่าศาลได้สอบคำให้การจำเลยต่อหน้าศาลและจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์ จึงให้การรับสารภาพ เช่นนี้ จึงมีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อหน้าศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และคำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของจำเลยแล้ว หาใช่เกิดจากความไม่เข้าใจในภาษาไทยไม่ กรณีไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องใช้ล่ามแปลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันสอบคำให้การจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำเลยจากคดีเก่า ต้องมีการสืบพยานยืนยันตัวบุคคล โจทก์มีหน้าที่นำสืบ
ที่ ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง เป็นบทบัญญัติในการเริ่มต้นพิจารณาคดีของศาลเพื่อให้จำเลยเข้าใจฟ้องและสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และถูกต้อง มิใช่หมายความรวมถึงการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบด้วย การที่จำเลยจะถูกเพิ่มโทษหรือไม่เป็นคนละส่วนกับกรณีความผิดที่จำเลยถูกฟ้อง ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบจำเลยว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1390/2544 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษตามคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์หรือไม่ ก็ไม่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบ ทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 เดือน 12 วัน โจทก์ย่อมสามารถแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอสืบพยานในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์มิได้แถลงต่อศาลเพื่อขอสืบพยานในข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6007/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบถามจำเลยหลังรับสารภาพคดีอาญา: ศาลต้องสอบถามฐานความผิดที่จำเลยรับสารภาพเพื่อพิพากษาลงโทษให้ถูกต้อง
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องคดีโจทก์ไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นมีหน้าที่อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดนั้น แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามให้ชัดแจ้งกลับพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบ และมีผลให้กระบวนพิจารณาถัดมา ตลอดจนคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่ชอบไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3865/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบถามการรับสารภาพฐานความผิด: จำเป็นต้องระบุฐานความผิดที่จำเลยรับสารภาพเพื่อความถูกต้องของกระบวนการยุติธรรม
คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องคดีโจทก์ไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นมีหน้าที่อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและถามว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้างตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นก็ต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในฐานความผิดนั้น แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามให้ชัดแจ้งกลับพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในฐานความผิดดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบ และมีผลให้กระบวนพิจารณาถัดมาตลอดจนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่ชอบไปด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบคำให้การจำเลยใหม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3642/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของกรรมการบริษัทต่อการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แม้พ้นจากตำแหน่งแล้ว
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมุติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายจะดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ต้องกระทำโดยผู้แทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินหรือปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยและการกระทำของจำเลยที่ 2 ก็ยังเป็นความผิดตลอดเวลาที่ยังไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 อันเป็นเวลาหลังจากเกิดเหตุแล้วก็ตาม แต่ก็หาเป็นเหตุให้มีผลลบล้างความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุไม่ หากจำเลยที่ 2 ต้องเสียหายจากการที่ยังไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องดังกล่าวหลังจากนั้นอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ดังนั้นจำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าปรับตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9334/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การในคดีอาญาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง การยื่นคำร้องและแสดงเหตุผลสมควรเป็นสิ่งจำเป็น
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย มาตรา 39 วรรคสอง และ ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง จะบัญญัติรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้หลายประการ กล่าวคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งให้สิทธิแก่จำเลยที่จะให้การต่อศาลหรือไม่ให้การก็ได้ แต่ในกรณีที่จำเลยให้การต่อศาลแล้วหากประสงค์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การนั้น จำเลยจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 163 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.อ. ซึ่งหมายความว่าหากจำเลยประสงค์จะขอแก้คำให้การ จำเลยต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลและแสดงเหตุอันสมควรมาในคำร้องขอด้วยว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องแก้หรือเพิ่มเติ่มคำให้การเพราะเหตุใด ทั้งนี้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุผลที่จำเลยอ้างอิงในคำร้องขอว่าเป็นเหตุผลอันสมควรหรือไม่
จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดจริงตามฟ้อง โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงนัดฟังคำพิพากษา เมื่อถึงวันฟังคำพิพากษา จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพตามฟ้องและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ แม้คำให้การของจำเลยดังกล่าวระบุว่าจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพตามฟ้องและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ ก็ถือเป็นการแก้ไขคำให้การตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสองแล้ว เมื่อจำเลยขอแก้ไขคำให้การโดยมิได้ยื่นคำร้องขอแก้คำให้การ และมิได้แสดงให้ปรากฏว่ามีเหตุผลสมควรแก้คำให้การอย่างไร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8179/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับคำให้การปฏิเสธเฉพาะบางข้อหา ศาลต้องไม่ลงโทษในข้อหาที่จำเลยปฏิเสธหากโจทก์ไม่สืบพยาน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน วันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำให้การรับสารภาพและยื่นคำร้องอีกฉบับหนึ่งประกอบด้วย แม้ในคำร้องจะสรุปความได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคงให้การปฏิเสธ แต่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในคำร้องในวันนัดสืบพยานโจทก์นั้นว่า สอบจำเลยยืนยันตามคำร้อง รับคำร้อง สำเนาให้โจทก์ ซึ่งแม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่ แต่ก็ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยเกี่ยวกับคำร้องต่อหน้าโจทก์ซึ่งไปศาลและลงชื่อรับทราบกระบวนพิจารณาของศาลในวันนั้นแล้วด้วย โดยโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบข้อความในคำร้องแล้ว เมื่อเป็นกรณีที่โจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยให้การปฏิเสธในข้อหาความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่โจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน จึงฟังลงโทษจำเลยได้เพียงฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6255/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ตัวตนจำเลยเพื่อการนับโทษต่อ จำเลยให้การรับสารภาพความผิดตามฟ้อง ไม่ถือเป็นการรับสารภาพว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอื่น
ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงต่างหากจากข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดและเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเพียงว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น มิได้ให้การรับด้วยว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในที่คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏเช่นนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ จะนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยในคดีดังกล่าวหาได้ไม่
of 2