คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9425/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดสรรที่ดิน น.ส.3ก. แม้ไม่ขออนุญาต ก็ยังเป็นการจัดสรรตามประกาศ คปต. ฉบับที่ 286 และเกิดภาระจำยอม
การที่ จ. ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำนวน 226 แปลง และสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อขายโดยทำถนนพิพาทเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกทางสาธารณะ ถือว่าเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ทางพิพาทย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรรวมทั้งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของโจทก์โดยผลแห่งกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 แม้ จ. จะมิได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินหรือหลีกเลี่ยงการขออนุญาตจัดสรรที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว ก็ไม่ทำให้การจัดสรรที่ดินนั้นกลับไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายจากโครงการจัดสรรที่ดิน แม้ซื้อโดยสุจริตก็ไม่อำนวยความคุ้มครอง
ถนนที่ ส. ผู้จัดสรรได้จัดให้เป็นทางเข้าออกตามโครงการสู่ทางสาธารณะได้นั้นไม่สามารถใช้ได้เนื่องจากมีสภาพเป็นหนองน้ำ ส. จึงจัดให้ใช้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนดาวดึงส์ติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จนเทศบาลนครสวรรค์ได้เข้ามาปรับปรุงเกลี่ยดินในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นถนนและเคยนำยางแอสฟัลต์มาราดถึง 2 ครั้ง โดย ส. มิได้ โต้แย้งหรือคัดค้าน ถือได้ว่า ส. จัดให้ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 10218 ของจำเลยที่ 2 เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนดาวดึงส์อันเป็นสาธารณูปโภคเพื่อการจัดสรรที่ดินตามโครงการที่ดินดังกล่าวย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรโดยผลแห่งกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286ฯ ข้อ 32 ประกอบข้อ 30 แม้จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 10218 มาจาก ส. โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้ทางภาระจำยอมนั้นระงับสิ้นไป จำเลยที่ 2 จึงต้องรับภาระตามกฎหมายดังกล่าวด้วยโดยไม่คำนึงว่าโจทก์ทั้งห้าได้ทางภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่
โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าอยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อขายของ ส. ซึ่งจัดแบ่งที่ดินเป็นแปลงๆ พร้อมทางเข้าออกของที่ดินตามโครงการจัดสรร แต่เนื่องจากสภาพที่ดินตามที่ ส. ได้จัดแบ่งให้เป็นทางเข้าออกตามโครงการจัดสรรไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ เนื่องจากที่ดินส่วนอื่นๆ เป็นหนองน้ำเกือบหมดทั้งโครงการ ส. จึงได้ยกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ให้เป็นทางเข้าออกผ่านออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ทั้งห้าใช้ทางดังกล่าวออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จนได้เป็นทางภาระจำยอมตามกฎหมายเป็นการบรรยายถึงสิทธิของโจทก์ทั้งห้าที่จะใช้ทางพิพาทได้โดยไม่ให้จำเลยทั้งสองปิดกั้น เมื่อศาลเห็นว่า ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรโดยผลแห่งกฎหมาย ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1440/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมจากการจัดสรรที่ดิน และความรับผิดทางละเมิดจากการรุกล้ำที่ดิน
คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจัดสรรที่ดินและให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีที่ว่างตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 25 และการให้คำมั่นดังกล่าวเป็นการก่อให้เกิดภาระจำยอมตามกฎหมายแล้ว ซึ่งเป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 เรื่อง ควบคุมการจัดสรรที่ดิน คำฟ้องของโจทก์จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทตกอยู่ในภาวะจำยอมอันเป็นเหตุที่จะทำให้จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ ส่วนที่โจทก์ขอให้จดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์แม้คำขอดังกล่าวศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาท แต่โจทก์ชอบที่จะขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมในโฉนดที่ดินพิพาทได้ เพราะเป็นการกระทำอันจำเป็นเพื่อรักษาสิทธิของโจทก์ประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1391 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อดังกล่าวจึงไม่ชอบ
ความเสียหายของตึกแถวของโจทก์เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และยอมให้จำเลยที่ 4 ปลูกสร้างตึกแถวขึ้น โดยยึดโครงสร้างตึกแถวที่สร้างขึ้นใหม่ไว้กับตึกแถวของโจทก์ ความเสียหายของตึกแถวเกิดเป็นรอยแตกร้าวที่ผนังตึก และเกิดการทรุดตัวบริเวณบาทวิถีอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมา เมื่อโจทก์ได้รับทราบความเสียหาย ซึ่งนับถึงวันฟ้องไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอทางจำเป็น แม้เป็นพื้นที่จัดสรรและมีข้อจำกัดตามประกาศ คปต. ก็ตาม
การขอผ่านทางที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาโดยรู้อยู่แล้วว่ามีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะหมดไป
กฎหมายมิได้บัญญัติว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุดเท่านั้น เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้น ที่และวิธีทำทางผ่านต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้ ที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่เพียง 5 ตารางวา มีรูปลักษณะเป็นสามเหลี่ยมชายธงซึ่งใช้ประโยชน์เพียงเป็นทางเข้าหมู่บ้าน และเชื่อมกับที่ดินอีก 2 แปลงของจำเลยที่มีสภาพเป็นถนนเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงไม่จำต้องทำทางผ่านให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินจำเลย และจำเลยก็มิได้รับความเสียหายในการที่โจทก์จะใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเพราะมีสภาพเป็นทางอยู่แล้ว ที่ดินของจำเลยที่โจทก์ขอผ่านเป็นทางจำเป็นจึงเป็นทางที่สะดวกที่สุดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยน้อยที่สุด ต่างกับอีกด้านหนึ่งที่ดินที่ล้อมไม่มีสภาพเป็นทาง มีหญ้าและต้นไม้ปกคลุมกับต้องผ่านที่ดินอีกหลายแปลง ทั้งจะต้องปรับปรุงเพื่อให้มีสภาพเป็นทางอีกด้วย
แม้ทางจำเป็นจะเป็นถนนซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรซึ่งกฎหมายห้ามผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดก่อให้เกิดภาระแก่ที่ดินนั้นก็ตาม แต่เมื่อถนนดังกล่าวตกอยู่ภายใต้สิทธิเรียกร้องที่โจทก์จะขอเปิดทางจำเป็นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมแต่อย่างใด จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6759/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดิน: การผิดสัญญาจากผู้ซื้อ การบอกเลิกสัญญา และสิทธิในการริบเงินวาง
โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันในปี 2536แต่จำเลยเพิ่งได้รับใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดินจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินเมื่อปี 2538 ดังนั้น ขณะจำเลยจัดสรรที่ดินในโครงการออกเสนอขายต่อโจทก์และบุคคลทั่วไป จำเลยยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286ข้อ 10 ประกอบข้อ 35 แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องของรัฐที่จะเข้าไปควบคุมให้จำเลยหรือผู้จะจัดสรรที่ดินได้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภคให้เป็นไปตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อความสะดวกสบายของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทก็ไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งใด ๆตามกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะทำให้เป็นโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ทั้งจำเลยมิได้กระทำการใดอันเป็นกลฉ้อฉลทำให้โจทก์ต้องเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลย การที่จำเลยยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดินในขณะที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันนั้น แม้จำเลยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบก็ไม่ถึงกับให้รับฟังว่าเป็นกลฉ้อฉลของจำเลยอันจะทำให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกำหนดให้โจทก์ชำระเงินเป็นงวด งวดละเดือนรวม 20 งวด และชำระเงินส่วนที่เหลือในวันที่จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันเป็นลักษณะผ่อนผันให้แก่กันเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาที่ต่างฝ่ายต่างต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น มิได้เป็นสาระสำคัญที่จะให้ถือว่าอีกฝ่ายผิดสัญญาทันทีตามกำหนดไว้แต่อย่างใด แต่การที่โจทก์ชำระเงินค่างวดที่ 16 ให้แก่จำเลยแล้วไม่ชำระเงินค่างวดต่อไปให้แก่จำเลยให้ครบ 20 งวดอีกจนกระทั่งจำเลยมีหนังสือเตือนให้โจทก์ชำระเงินที่เหลือภายใน 7 วันนับแต่วันรับหนังสือ โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและริบเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้แล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยภารจำยอมโดยอาศัยข้อเท็จจริงและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แม้ไม่ได้ยกบทกฎหมายในคำฟ้อง
ในคดีแพ่งคู่ความไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นมากล่าวอ้างในคำฟ้องหรือคำให้การ เพียงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงก็พอแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายขึ้นมาปรับแก่คดีตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ เมื่อคดีนี้โจทก์กล่าวไว้ในคำฟ้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินที่ น. จัดสรร เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่โจทก์กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้องและฟังได้ว่าที่ดินพิพาท น. ซื้อมาเพื่อทำเป็นทางให้ผู้ซื้อที่ดินจากการจัดสรรใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ การที่ศาลล่างทั้งสองยกเอาบทกฎหมายคือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 มาปรับกับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความแล้ววินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดสรรที่ดิน, ภารจำยอม, สิทธิใช้สโมสรและสระว่ายน้ำ, การฝ่าฝืนกฎหมายการจัดสรรที่ดิน
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าสัญญาใดจริง สัญญาใดปลอมแต่บรรยายว่าสัญญาตัวจริงหรือสัญญาซึ่งเจตนาให้มีผลผูกพันกันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าคือ สัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมกัน ส่วนสัญญา 3 ฉบับตามฟ้องทำขึ้นอำพรางสัญญาซื้อขายที่แท้จริงเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยทั้งห้าเสียภาษีน้อยลงจำนวนเงินที่ซื้อขายตามสัญญาตัวจริง และสัญญาที่ทำขึ้นไว้เพื่ออำพรางจะเป็นจำนวนเงินเท่าใด ไม่เป็นประเด็นข้ออ้างแห่งคดีของโจทก์และเป็นเพียงรายละเอียดที่นำสืบได้ใน ชั้นพิจารณา จำเลยทั้งห้าก็เข้าใจและให้การต่อสู้คดีตามฟ้องของโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยทั้งห้าร่วมกันจัดสรรที่ดินในโครงการสวัสดีทาวน์แมนชั่น แม้จำเลยทั้งห้าจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ก็เป็นเพียงการ ดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายเท่านั้น การดำเนินการของจำเลยทั้งห้าต้องด้วยหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดิน ย่อมต้องอยู่ภายใต้ บังคับของกฎหมายที่ให้มีการจัดให้มีสาธารณูปโภค และให้ถือว่าสาธารณูปโภคดังกล่าวตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจาก จำเลยทั้งห้าจึงมีสิทธิใช้สโมสรกับสระว่ายน้ำที่ จำเลยทั้งห้าจัดสร้างขึ้นได้ โจทก์ยอมรับว่าสโมสรกับสระว่ายน้ำตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 43838 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 206458 ของจำเลยที่ 5ไม่ได้อยู่ใกล้กับสโมสรและสระว่ายน้ำ ที่ดินโฉนดเลขที่ 206458ของจำเลยที่ 5 จึงไม่ตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 191057 และ 191066 ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดิน, การจัดสรรที่ดิน, ภาระจำยอม, สาธารณูปโภค, สิทธิผู้ซื้อ
แม้คำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าสัญญาใดจริงสัญญาใดปลอม หากแต่โจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่า สัญญาตัวจริงหรือสัญญาซึ่งเจตนาให้มีผลผูกพันกันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าคือ สัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมกัน ส่วนสัญญา 3 ฉบับตามฟ้องทำขึ้นอำพรางสัญญาซื้อขายที่แท้จริงเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยทั้งห้าเสียภาษีน้อยลง สำหรับจำนวนเงินที่ซื้อขายตามสัญญาตัวจริง และสัญญาที่ทำขึ้นไว้เพื่ออำพรางจะเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น ไม่เป็นประเด็นข้ออ้างแห่งคดีของโจทก์และเป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยทั้งห้าก็เข้าใจและให้การต่อสู้คดีตามฟ้องของโจทก์ได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้จำเลยทั้งห้าจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ก็ตาม ก็เป็นเพียงการดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายที่มีความมุ่งหมายส่วนหนึ่งที่จะติดตามควบคุมเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเท่านั้น การดำเนินการของจำเลยทั้งห้าซึ่งต้องด้วยหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่ให้มีการจัดให้มีสาธารณูปโภค โดยมีความมุ่งหมายส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค และให้ถือว่าสาธารณูปโภคดังกล่าวตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร เพราะมิฉะนั้นแล้วประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งเป็นกฎหมายควบคุมการจัดสรรที่ดินก็จะไร้ความหมายหรือขาดสภาพบังคับหากยอมให้การดำเนินการที่เป็นการจัดสรรที่ดินที่ฝ่าฝืนกฎหมายอยู่นอกเหนือการควบคุมหรือไม่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4717/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมในที่ดินจัดสรร: เจตนาจัดทำสวนหย่อมแม้ยังไม่ได้ทำ ถือเป็นสาธารณูปโภคที่ดินตกอยู่ในภารจำยอม แม้ผู้ซื้อจะสุจริต
จำเลยที่1และบริษัทส. ผู้จัดสรรที่ดินได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทไว้เพื่อจัดทำสวนหย่อมสำหรับเป็นที่พักผ่อนของผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแม้จะได้ความว่าผู้จัดสรรที่ดินยังไม่ได้จัดทำสวนหย่อมในที่ดินพิพาทแต่การที่ผู้จัดสรรที่ดินแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่าจะจัดให้มีสวนหย่อมและได้แบ่งที่ดินพิพาทไว้เป็นสัดส่วนแน่นอนย่อมถือได้ว่าการทำสวนหย่อมได้จัดให้มีขึ้นแล้วที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่286และตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรของโจทก์แม้จำเลยที่2จะซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ทำให้ภารจำยอมนั้นสิ้นไป