คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อำนาจ โชติชะวารานนท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3957/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานอั้งยี่, ฟอกเงิน, และฉ้อโกงประชาชน: การปรับบทและลงโทษที่ถูกต้อง
แม้บัญชีธนาคาร ก. สาขาซีคอนสแควร์ เลขที่บัญชี 659-1-32XXX-X ของจำเลยที่ 4 ที่มีการรับโอนเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในคดีนี้ เป็นบัญชีเดียวกับบัญชีที่รับโอนเงินจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในคดีหมายเลขแดงที่ 1822/2561 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ และจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 7 ในคดีดังกล่าว เรื่องความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและความผิดฐานฟอกเงินเช่นเดียวกับคดีนี้ก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นคนละคนกัน และการรับโอนเงินจากผู้เสียหายทั้งสองคดีมาเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวต่างวันต่างเวลากัน แม้การกระทำความผิดมีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่สามารถแยกเจตนาในการรับโอนเงินจากผู้เสียหายแต่ละคนต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน แม้ในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 7 ศาลจังหวัดนครสวรรค์จะได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว แต่เมื่อเป็นความผิดคนละกรรมกันกับคดีนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมไม่ระงับ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่ว่าบัญชีธนาคารของตนจะใช้เป็นแหล่งรับโอนเงินเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดที่มาของเงินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด และเมื่อมีเงินของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงได้ถูกยักย้ายนำมาเข้าบัญชีซึ่งปรากฏชื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของบัญชี ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 รับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก่อนหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษในความผิดมูลฐาน อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1), 60
การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และการแสดงตนเป็นคนอื่นโดยส่งภาพเต็มยศของพลตำรวจตรี ท. และเอกสารปลอมไปให้ผู้เสียหายทางไลน์อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและมีเจตนาเดียว คือเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือผู้ถูกหลอกลวงอื่น ความผิดดังกล่าวตามฟ้องข้อ 2 และข้อ 4 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมูลฐานที่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินจึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ สำเร็จแล้ว และเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำต่างจากการกระทำความผิดฐานอื่นนั้นได้ ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามฟ้องข้อ 3 จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงินเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1595/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การติดตามทรัพย์สินจากการฟอกเงิน: สิทธิของเจ้าของเดิม vs. การคืนทรัพย์สินให้แผ่นดิน
ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์โดยรับเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อไว้โดยสุจริต เมื่อกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อยังเป็นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ภายหลังจากทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งรถยนต์ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อได้ แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานมาชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบที่จะคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เสียทีเดียว แต่ชอบที่จะคืนเงินลงทุนที่ยังเหลืออยู่ภายหลังหักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดนั้นชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 แล้ว โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องดำเนินการขายทอดตลาดรถยนต์ แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ไม่เกินเงินลงทุนที่ยังขาดอยู่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้หักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเท่ากับเป็นการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ใช้หรือรับประโยชน์จากทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ในระหว่างเช่าซื้อโดยไม่เสียค่าตอบแทน เป็นการเสียหายแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บันทึกแบ่งกรรมสิทธิ์รวมไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ หากไม่ได้ระบุแนวเขตและเนื้อที่ชัดเจน
บันทึกถ้อยคำเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์มีข้อความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท โดยไม่ได้ระบุว่าส่วนของเจ้าของรวมแต่ละคนมีแนวเขตตั้งแต่บริเวณใดถึงบริเวณใด จำนวนเนื้อที่เท่าใด ไม่มีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 โจทก์ไม่มีสิทธินำบันทึกดังกล่าวมาฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่แบ่งกรรมสิทธิ์รวม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ผู้สนับสนุน ร่วมรับผิดในส่วนแพ่ง, แก้ไขดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
การที่จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนยังยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินฝากของตนไปใช้รับโอนเงินลงทุนที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสาม ถือว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 86 และต้องร่วมรับผิดในส่วนแพ่งกับจำเลยที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4741/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายมีข้อห้ามโอน & การครอบครองแทนเจ้าของ: สิทธิเรียกร้อง & กรรมสิทธิ์
แม้ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2553 และโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ภายในเวลาสิบปีตามข้อกำหนดห้ามโอนก็ตาม แต่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต่างรู้ว่าที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนและตกลงกันว่าจะโอนให้แก่กัน ณ สำนักงานที่ดินมะขาม ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 อันเป็นเวลาภายหลังพ้นข้อกำหนดห้ามโอนในวันที่ 30 สิงหาคม 2563 แล้วเช่นนี้ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การที่จำเลยครอบครองดูแลทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่โจทก์จะขายให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทนั้นไว้ในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครอง มิใช่เป็นการครอบครองเพื่อตนเอง ตราบใดที่จำเลยมิได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 การครอบครองที่ดินของจำเลยจึงเป็นการยึดถือแทนโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการถือสิทธิครอบครองเด็ดขาดเป็นของตนในฐานะเจ้าของไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเสร็จเด็ดขาดในระหว่างที่มีข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายอันเป็นการฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ และมีผลให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงมีผลสมบูรณ์และบังคับกันได้ในลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายอันเป็นบุคคลสิทธิ และเป็นเรื่องที่จำเลยชอบที่จะว่ากล่าวเอาความแก่โจทก์ต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยผลแห่งหนี้และสัญญา และเมื่อการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยเป็นการครอบครองแทนโจทก์เช่นนี้ จำเลยย่อมไม่อาจอ้างอายุความการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ขึ้นยันแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท