คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 164

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 233 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5234-5238/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของอัยการพิเศษ, การปรับบทลงโทษ, และความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 (2) ระบุว่าในคดีอาญาพนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตาม ป.วิ.อ. และตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ ประกอบกับการมีคำสั่งมอบหมายของอัยการสูงสุดให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นพนักงานแห่งท้องที่ตามเขตอำนาจศาลที่รับผิดชอบดำเนินคดีอาญาฟ้องจำเลย หาต้องมอบอำนาจให้กระทำการแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องตัวแทน ดังนั้น การที่โจทก์ขอแก้ไขและเพิ่มเติมฟ้องในคดีที่จำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 โดยระบุว่า อัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 รับผิดชอบฟ้องคดีและดำเนินคดีแทนอัยการสูงสุด จึงมิใช่เป็นการขอแก้ไขและเพิ่มเติมฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 163 และ 164 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4081/2564 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1264/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ฟ้องในคดีละเมิดลิขสิทธิ์: การเปลี่ยนแปลงตัวผู้เสียหายและผลกระทบต่อการต่อสู้คดี
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงซึ่งเพลงพิพาท 4 เพลง คือ เพลงแสงจันทร์ เพลงเรือน้อย เพลงเจ็บนิดเดียว และ เพลงวันเวลา อันเป็นงานมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยในส่วนที่เกี่ยวกับผู้เป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายนั้น ฟ้องฉบับเดิมบรรยายว่า บริษัท ส. เป็นผู้เสียหาย โดย ช. ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงซึ่งเพลงแสงจันทร์ และเพลงเรือน้อย ทำสัญญาแต่งตั้งให้บริษัท ส. เป็นผู้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดังกล่าว และบริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงซึ่งเพลงเจ็บนิดเดียว และ เพลงวันเวลา ทำสัญญาแต่งตั้งให้บริษัท ส. เป็นผู้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดังกล่าว ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องในส่วนนี้เป็นว่า ช. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงซึ่งเพลงแสงจันทร์ และเพลงเรือน้อย และบริษัท ป. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงซึ่งเพลงเจ็บนิดเดียว และเพลงวันเวลา บริษัท ป. ได้อนุญาตให้บริษัท ท. ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงเจ็บนิดเดียว และเพลงวันเวลา ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ช. และบริษัท ท. จึงเป็นผู้เสียหาย ทั้งนี้ ช. และบริษัท ท. ได้มอบหมายให้บริษัท ส. เป็นผู้รับอนุญาตและให้เป็นตัวแทนในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงแสงจันทร์ เพลงเรือน้อย เพลงเจ็บนิดเดียว และเพลงวันเวลา ดังนี้ ที่ฟ้องฉบับเดิมบรรยายว่า บริษัท ส. เป็นผู้ได้รับแต่งตั้งจาก ช. และบริษัท ท. เจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ตามฟ้อง ให้เป็นตัวแทนจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดังกล่าว ไม่ได้บรรยายว่าเป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ แม้ตอนต้นของฟ้องจะระบุว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้เสียหายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดตามฟ้องในอันที่จะเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย และคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้ขอแก้ฐานะของบริษัท ส. ที่เป็นผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของ ช. และบริษัท ท. แต่อย่างใด คงขอแก้ฟ้องเดิมโดยเพิ่มเติมรายละเอียดที่เกี่ยวกับเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ในส่วนเพลงเจ็บนิดเดียว และเพลงวันเวลา คำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการขอเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในส่วนซึ่งมิได้กล่าวไว้ ไม่ได้แก้ฟ้องโดยเปลี่ยนตัวผู้เสียหายตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการขอแก้ฟ้องในข้อสาระสำคัญที่จะเป็นการแก้ไของค์ประกอบความผิดหรือสภาพแห่งข้อหา จึงไม่ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบในการต่อสู้คดี อีกทั้งในเวลาที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องนั้นยังไม่มีการสืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่าย จำเลยที่ 1 ย่อมมีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มที่และไม่หลงต่อสู้ในข้อที่ขอแก้ฟ้องนั้น และในกรณีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะใช้ดุลพินิจสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้โดยไม่จำต้องสอบถามจำเลยทั้งสองก่อนคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องในคดีอาญาที่มิทำให้จำเลยเสียเปรียบ ศาลอนุญาตให้แก้ไขได้ตามกฎหมาย
ข้อความที่โจทก์ขอแก้ฟ้องโดยเพิ่มเติมว่า จำเลยเป็นพนักงานขององค์การหรือหน่วยงานของรัฐนั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องเดิมว่า จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย บ. โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องเดิมไว้ในตอนต้นเกี่ยวกับฐานะของโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดี คณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัย บ. อันเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกับที่จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดี ว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย บ. จึงทำให้เข้าใจได้แล้วว่าจำเลยเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย บ. อันเป็นพนักงานหรือหน่วยงานของรัฐ และข้อความที่โจทก์ขอแก้ว่า ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตนั้น โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องเดิมแล้วว่า ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การที่โจทก์ขอเพิ่มเติมและแก้ฟ้องดังกล่าวข้างต้นจึงมีผลตรงกันกับฟ้องเดิมในใจความสำคัญอันเป็นการแก้ไขรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องเพื่อทำให้ฟ้องชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด รวมทั้งการแก้ไขบทลงโทษก็เป็นการแก้ไขฐานความผิด หาทำให้จำเลยหลงต่อสู้ไม่ จึงไม่อาจถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบเช่นกัน โจทก์ชอบที่จะขอเพิ่มเติมและแก้ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 164

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11066/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มเติมฟ้องคดีแพ่งในคดีอาญาต้องฟ้องพร้อมกันตั้งแต่แรก การเพิ่มเติมฟ้องภายหลังไม่ชอบ
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นหมายถึงคดีที่การกระทำผิดอาญานั้นก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางแพ่งติดตามมาด้วย เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีส่วนอาญาแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องและหมายเรียกจำเลยแก้คดีย่อมเป็นการสั่งรับฟ้องคดีส่วนอาญาและคำฟ้องคดีส่วนแพ่งด้วยโดยไม่จำต้องสั่งรับฟ้องคดีส่วนแพ่งอีก ดังนี้ ในการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโจทก์จึงต้องฟ้องคดีแพ่งมาพร้อมกับคดีอาญาตั้งแต่แรก แต่คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเฉพาะคดีในส่วนอาญาจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องและจำเลยให้การต่อสู้คดีแล้วโจทก์จึงมายื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องให้จำเลยรับผิดคดีในส่วนแพ่ง ซึ่งการขอเพิ่มเติมฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 164 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 นั้น ฟ้องเดิมจะต้องสมบูรณ์อยู่แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเฉพาะคดีอาญาแล้วต่อมาได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องโดยขอให้จำเลยรับผิดในทางแพ่งโดยอ้างว่าโจทก์ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัท บ. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. และนาย ท. จำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ ดังนี้คำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างความรับผิดทางแพ่งของจำเลยขึ้นมาใหม่ โจทก์จะมาขอเพิ่มเติมฟ้องเช่นนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11066/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มเติมฟ้องคดีแพ่งในคดีอาญาที่ไม่สมบูรณ์ ศาลไม่ควรอนุญาต
โจทก์ยื่นฟ้องเฉพาะคดีอาญาจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องและจำเลยให้การต่อสู้คดีแล้ว โจทก์จึงมายื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องให้จำเลยรับผิดในส่วนแพ่ง จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โจทก์ต้องฟ้องคดีแพ่งมาพร้อมกับคดีอาญามาตั้งแต่แรก การขอเพิ่มเติมฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 164 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 นั้น ฟ้องเดิมจะต้องสมบูรณ์อยู่แล้ว ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องและรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10758/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งแก้ฟ้องและเหตุอันควรในการแก้ไขฟ้องอาญา
ป.วิ.อ. มาตรา 196 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย โดยมิได้บัญญัติให้คู่ความต้องโต้แย้งไว้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 226 ฉะนั้น เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้แม้จะมิได้โต้แย้งไว้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และไม่รับวินิจฉัยนั้นไม่ชอบ
ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์อ้างเหตุว่าคำฟ้องของโจทก์ผิดพลาดในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยในการพิมพ์ ขอแก้คำฟ้องจาก ร่วมกันลักเอารถจักรยานยนต์ เป็น ร่วมกันลักเอารถยนต์ ดังนี้ เหตุที่โจทก์อ้างมานั้นถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้เนื่องจากเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด และการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องดังกล่าวเป็นการแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำความผิดซึ่งต้องแถลงในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 ฉะนั้นจึงไม่ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 164 และมิใช่เป็นการแก้ฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือสมบูรณ์ดังที่จำเลยฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9860/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขฟ้องในคดีอาญา: การเปลี่ยนแปลงวันเวลาที่กระทำผิดโดยไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องจากข้อความว่า "เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2546 เวลากลางวัน" เป็น "เมื่อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2546 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 16 เมษายน 2546 เวลากลางวันต่อเนื่องกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด" เป็นการแก้ฟ้องเฉพาะวันและเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด อันเป็นรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้อง โดยวันและเวลาที่ขอแก้ใหม่ยังครอบคลุมถึงวันและเวลาตามฟ้องเดิมด้วย ทั้งโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเมื่อสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมไปเพียง 2 ปาก ย่อมไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีหรือหลงต่อสู้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 163 และ 164

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6996/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องอาญา: เหตุอันควร, ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ, และการไม่หลงต่อสู้
คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนของคำขอท้ายฟ้อง โดยขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 ด้วย แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 34 (4), 157 โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาและคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น โดยอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามคำร้องแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี กรณีจึงทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เช่นนี้ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196
โจทก์ได้บรรยายรายละเอียดในคำฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 แล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมข้อความว่า ป.อ. มาตรา 300 ที่คำขอท้ายฟ้องนั้น จึงเป็นเพียงการเพิ่มเติมฐานความผิดเท่านั้นและจำเลยย่อมทราบข้อหาตามคำฟ้องดีอยู่แล้วจึงไม่ต้องมีการแจ้งข้อหาหรือสอบสวนเพิ่มเติมในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 อีก และไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย กรณีจึงมีเหตุอันสมควรในการขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ทั้งได้ความด้วยว่าจำเลยให้การปฏิเสธลอยๆ โดยมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ ต่อมาภายหลังจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยหลงต่อสู้ เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวเป็นเพียงการเพิ่มเติมฐานความผิดและจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ทั้งโจทก์ยื่นคำร้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ที่จะแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้นชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 163, 164 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา, การแก้ไขฟ้อง, ล้มละลาย, และการรับสารภาพของจำเลย
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยขอแก้บทลงโทษจาก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 40, 42, 65, 66, 70 ทวิ เป็นมาตรา 21, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 70, 71 ซึ่งเป็นการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง, 164 เมื่อจำเลยไม่ค้านและศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง จำเลยย่อมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การได้ เมื่อจำเลยไม่ยื่นคำร้องดังกล่าว แสดงว่าจำเลยรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้ในฐานะความผิดที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามคำฟ้องที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมได้
กฎหมายล้มละลายเพียงบัญญัติมิให้บุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเอง หรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์ มิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย ทั้งจำเลยกระทำความผิดก่อนจะถูกพิทักษ์ทรัพย์และไม่เกี่ยวข้องกับการถูกพิทักษ์ทรัพย์ในภายหลัง ศาลจึงพิพากษาลงโทษปรับจำเลยได้
ความผิดฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 120,000 บาท ความผิดดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2544 จึงเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
of 24