คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 94

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุม ลักทรัพย์ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ: การยกฟ้องคดีอาญา
ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180
โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362
ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความเท็จ, ฟ้องเท็จ, การจับกุม, และการไต่สวนมูลฟ้อง: ศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานเพียงพอ
พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสามเกี่ยวกับการทำสัญญาจะขายที่ดินแก่จำเลยที่ 1 มีเหตุทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ว่าโจทก์ทั้งสามร่วมกันหลอกลวงจำเลยที่ 1 ทั้งข้อความที่จำเลยที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก็เป็นการแจ้งข้อความไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และการที่จำเลยที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีมูลความผิดฐานฟ้องเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเช่นกัน
เมื่อจำเลยที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสามในข้อหาฉ้อโกง และตามคำแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ต่าง ๆ ให้เข้าใจได้ว่าโจทก์ทั้งสามร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ได้ดำเนินการและเมื่อสอบสวนแล้วได้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้อง จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของจำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนที่จะกระทำได้โดยชอบ ส่วนการออกหมายจับโจทก์ทั้งสามนั้นก็เป็นการออกหมายจับหลังจากที่โจทก์ทั้งสามไม่ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกหลายครั้ง กรณีจึงมีเหตุที่จะออกหมายจับโจทก์ทั้งสามได้ ในการขอออกหมายจับ กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เห็นชอบให้ออกหมายจับโจทก์ที่ 1 ถ้าโจทก์ที่ 1 มิได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ให้สอบสวนต่อไป การที่ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลที่เกิดเหตุได้ออกหมายจับโจทก์ทั้งสาม จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือผิดระเบียบข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยดังที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
การจับโจทก์ที่ 1 ที่บ้านโดยมีหมายจับของเจ้าพนักงานตำรวจและหมายค้นของศาล ทั้งพฤติการณ์ในการตรวจค้นจับกุมก็ปรากฏว่า เจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านโจทก์ที่ 1 เวลา 18.02 นาฬิกา เมื่อแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแสดงหมายค้น โจทก์ที่ 1 ซึ่งยืนอยู่บริเวณด้านในรั้วบ้านได้ปิดล็อกกุญแจรั้วหน้าบ้านแล้ววิ่งหนีเข้าบ้านไปปิดล็อกกุญแจบ้านด้านในอีกชั้นหนึ่งและไม่ยอมเปิดประตูโดยอ้างว่าจะไปมอบตัวในวันหลัง แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปจับกุม การที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปใช้ไม้กระแทกประตูบ้านที่ปิดล็อกกุญแจด้านในไว้จนเปิดออกแล้ว เข้าไปจับโจทก์ที่ 1 จึงเป็นกรณีจำเป็นซึ่งเจ้าพนักงาานตำรวจผู้จัดการตามหมายค้นมีอำนาจกระทำได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 94 วรรคสอง
โจทก์ทั้งสามถูกจับกุมไปที่สถานีตำรวจเมื่อเวลา 23 นาฬิกา เมื่อไปถึง พนักงานสอบสวนซึ่งรับตัวโจทก์ที่ 1 ย่อมจะต้องทำการสอบสวนและทำประวัติโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งถูกจับกุมในเวลาต่อมา อีกทั้งในการสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของโจทก์ทั้งสามยังจะต้องพิจารณาข้อกล่าวหา พยานหลักฐาน พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีและความน่าเชื่อถือของหลักประกันด้วย ซึ่งจะต้องใช้เวลาตามสมควร การที่เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการต่าง ๆ ดังกล่าวโดยใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง จึงสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโจทก์ทั้งสามเช่นนี้เป็นการใช้เวลาตามสมควรแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้นเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น เมื่อปรากฏว่าจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ซึ่งแม้จะเบิกความยังไม่จบคำถามค้านของทนายจำเลย ประกอบพยานเอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างส่งศาล ข้อเท็จจริงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว คดีจึงไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้อง และศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกหมายค้นและการไต่สวนคำร้องคัดค้าน: ศาลมีอำนาจงดไต่สวนหากไม่เกิดประโยชน์ และไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหากไม่มีปัญหากับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกหมายค้นบ้านของผู้คัดค้าน เนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ออก โดยอ้างว่าบ้านดังกล่าวมีเครื่องมือแพทย์ที่มีเครื่องหมายการค้าของบริษัท ด. ปลอม ซุกซ่อนอยู่โดยผิดกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนการขอออกหมายค้นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้การค้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ซึ่งเป็นบทบัญญัติกำหนดมาตราการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าพนักงานทำการค้นโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามกฎหมาย อันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล เมื่อศาลออกหมายค้นและเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นเสร็จสิ้นแล้ว แต่ไม่พบของผิดกฎหมาย กระบวนการในการขอออกหมายค้น การออกหมายค้นรวมทั้งอำนาจในการปฏิบัติตามหมายค้นได้เสร็จสิ้นยุติไปแล้ว การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อทราบสาเหตุและหลักฐานอันเป็นที่มาในการขอออกหมายค้น ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนคำร้องไว้นั้น จึงไม่เกิดประโยชน์แก่การป้องกันการตรวจค้นโดยปราศจากเหตุสมควรตามกฎหมายเพราะการตรวจค้นได้ยุติไปแล้ว ถ้าผู้คัดค้านติดใจสงสัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นโดยไม่มีหลักฐานและเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้คัดค้านสามารถเรียกร้องความยุติธรรมจากศาลได้โดยการฟ้องร้องว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อเยียวยาความเสียหายได้ ดังนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมเป็นให้งดไต่สวนได้ไม่ถือว่าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม
คำร้องของผู้คัดค้านที่ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าศาลจะนำเอามาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105 แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับในการออกหมายค้นไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ทั้งที่รูปคดียังไม่มีปัญหาที่ศาลจะใช้บทบัญญัติมาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาบังคับแก่คดีแต่ประการใดจึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2927/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาจะซื้อขาย และการนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อตกลงใหม่ที่แตกต่างจากสัญญาเดิม
สัญญาจะซื้อขายระบุว่า การชำระเงินค่าที่ดินแต่ละงวด โจทก์จะต้องนำไปชำระที่บ้านของจำเลยทุกครั้ง ถ้า ไม่ปฏิบัติตามถือว่าโจทก์ผิดสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์จำเลยตกลงกันให้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ไปเก็บเงินจากโจทก์ทุกงวด งวดประจำเดือนกันยายน2524 จำเลยไม่ไปเก็บเงินจากโจทก์ การที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ไปเก็บเงินจากโจทก์ และได้ปฏิบัติกันตลอดมาเช่นนี้แสดงว่าโจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาถือเอาข้อกำหนดเรื่องสถานที่ชำระเงินค่าที่ดินว่าจะต้องให้โจทก์นำไปชำระที่บ้านของจำเลยโดยเคร่งครัดดัง ที่ระบุไว้ในสัญญา ดังนั้นในข้อที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยไปเก็บเงินค่าที่ดินจากโจทก์นี้ โจทก์ย่อมนำสืบได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงปฏิบัติต่อกันใหม่แตก ต่างจากข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2528

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้นของเจ้าพนักงาน เมื่อมีเหตุเชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่
สารวัตรตำรวจและสารวัตรปกครองป้องกันเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(17)จึงมีอำนาจตรวจคนโดยไม่ต้องมีหมายค้นตามมาตรา 92 วรรคสุดท้าย เมื่อมีเหตุให้เชื่อได้ว่ามีของที่ได้มาโดยผิดกฎหมายอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุ หากไม่ทำการตรวจค้นเสียในวันเกิดเหตุ ของที่อยุ่ในบ้านอาจถูกขนไปเสีย การตรวจค้นต่อหน้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองบ้านที่เกิดเหตุและโดยไม่ทำลายกุญแจก็ไม่อาจทำได้ ทั้งการตรวจค้นของจำเลยซึ่งเป็นสารวัตรตำรวจได้กระทำต่อหน้าพยานสองคน การตรวจค้นของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 92,94 และ 102 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,358,362,364,365(2) เมื่อจำเลยมีอำนาจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น และมีพฤติการณ์ที่จะออกหมายค้นและทำการค้นได้ ดังนั้นหมายค้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ทำให้จำเลยไม่มีอำนาจค้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2485 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเข้าค้นบ้านพักอาศัยต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้านหรือผู้รักษา หากไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นความผิดฐานบุกรุก
ตำรวจมีหมายค้นเข้าค้นบ้านโดยมิได้รับอนุญาตจากคนในบ้าน เพราะเป็นขณะที่เจ้าของไม่อยู่ เป็นการกระทำที่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2485

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้นบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อเจ้าของไม่อยู่ ถือเป็นความผิดบุกรุก
ตำรวจมีหมายค้นเข้าค้นบ้านโดยมิได้รับอนุญาตจากคนในบ้านเพราะเป็นขณะที่เจ้าของไม่อยู่ เป็นการกระทำที่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก