คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 335 (7)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 94 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8545/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์ของลูกจ้างและการปรับบทลงโทษ - การครอบครองทรัพย์ของนายจ้างชั่วคราว
เหตุเกิดขึ้นระหว่างตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสองถูกจับกุมในท้องที่อำเภอสิเกา จึงเป็นกรณีเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฐานทำให้เสียทรัพย์กระทำในท้องที่ใด พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิเกา ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับจำเลยทั้งสองได้ย่อมเป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) และวรรคสอง (ก)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมผู้เป็นนายจ้าง และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์คือน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วม โดยจำเลยทั้งสองเอาน้ำผสมลงในน้ำมันปาล์ม ทำให้ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดระหว่างเส้นทางตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยเข้าใจได้แล้วว่าเหตุลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางจากตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ถึงเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางดังกล่าว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมจากอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ไปส่งแก่ลูกค้าที่เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยทั้งสองครอบครองน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมขณะเดินทางเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ร่วมไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น การครอบครองน้ำมันปาล์มโดยแท้จริงยังอยู่ที่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยทั้งสองเอาน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมไป จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7439/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาลักทรัพย์โดยการบันทึกน้ำหนักเกินจริง ไม่เป็นฉ้อโกง
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ลงบันทึกรายการน้ำหนักชิ้นงานที่ตกแต่งเสร็จแล้วให้สูงกว่าน้ำหนักชิ้นงานที่แท้จริงโดยมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพื่อเอาผงเงินและเศษชิ้นงานของโจทก์ร่วมไป ถือว่าเป็นการร่วมกันวางแผนโดยมีเจตนาลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4243/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์/ปลอมแปลง/ฉ้อโกงบัตรเครดิต: การส่งมอบบัตรเครดิตทางไปรษณีย์ไม่ถือเป็นการส่งมอบให้ผู้กระทำผิดโดยสำคัญผิด
การที่ผู้เสียหายที่ 2 ส่งมอบบัตรเครดิตไปให้ผู้เสียหายที่ 1 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ที่ผู้เสียหายที่ 1 ระบุไว้ในใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิต แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะย้ายออกไปจากบ้านเช่าหลังดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เสียหายที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกที่เข้ามาอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวต่อจากผู้เสียหายที่ 1 กรณีจึงมิใช่เป็นการส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่จำเลยกับพวกโดยสำคัญตัวผิดว่าจำเลยกับพวกคือผู้เสียหายที่ 1 เมื่อจำเลยกับพวกรับบัตรเครดิตไว้และยึดถือเป็นของตนเองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยทุจริตเป็นการแย่งการครอบครอง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ความผิดฐานลักบัตรเครดิตเป็นความผิดสำเร็จในตัวโดยอาศัยเจตนาแยกต่างหากจากความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม และฐานฉ้อโกง การกระทำตามฟ้องจึงเป็นความผิด 2 กรรม แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรม ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรมได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานฉ้อโกงกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งในกรณีนี้คือเจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 2 ต้องจ่ายเงินให้แก่ร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่แทนจำเลยกับพวกนั้นเป็นไปตามสัญญาที่ผู้เสียหายที่ 2 มีกับร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต ความเสียหายที่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับเป็นความเสียหายในทางแพ่ง ไม่ใช่ความเสียหายที่ได้รับจากการที่ถูกจำเลยกับพวกหลอกลวงหรือปกปิดข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยตรงต่อสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ไม่ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนเงินแทนผู้เสียหายที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1280/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์โดยใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือ การพิพากษาความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จ และการแก้ไขโทษตามข้อกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ลักรถยนต์ของผู้เสียหาย โดยหลอกจำเลยที่ 1 ให้ขับรถยกมายกรถยนต์ของผู้เสียหายไป จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการในการลักรถยนต์โดยใช้จำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยกมาจอดด้านหน้ารถยนต์ผู้เสียหายและยกรถยนต์ผู้เสียหายด้านหน้าขึ้นเกยบนคานรถยก ใช้โซ่คล้องรถทั้งสองคันไว้ในลักษณะรถยกพร้อมจะขับเคลื่อนพารถยนต์ของผู้เสียหายออกไปได้ โดยรถยนต์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่จากจุดที่จอดอยู่เดิมจากการยกขึ้นไปเกยบนคานรถยก ถือว่าจำเลยที่ 2 เข้ายึดถือและแย่งสิทธิครอบครองรถยนต์ของผู้เสียหายไปได้โดยสมบูรณ์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ มิใช่อยู่ในขั้นพยายาม เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) คงเป็นความผิดเฉพาะมาตรา 335 (1) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ การลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดตามมาตรา 335 (7) จึงไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11465/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์สินโดยความยินยอมแล้วเบียดบัง ยักยอกทรัพย์ ไม่ใช่ลักทรัพย์หรือฉ้อโกง
จำเลยเป็นคนนำรถเกรดถนนของ ส. ที่ฝากไว้แก่ผู้เสียหายไปจากความครอบครองของผู้เสียหาย ตามที่ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยเคลื่อนย้ายไปจากปั้มแก๊สของผู้เสียหาย เป็นกรณีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยด้วยความสมัครใจ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
แม้จำเลยรับรถเกรดถนนไปเพราะได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำรถเกรดถนนไปคืนแก่ทายาทของ ส. การที่จำเลยไม่นำไปคืน แต่กลับนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่รถเกรดถนนของตน ถือได้ว่าเมื่อจำเลยรับรถเกรดถนนไว้ในครอบครองแล้ว จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก
ผู้จัดการมรดกของ ส. รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดและร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่ามีการร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้อง ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10978/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อลักทรัพย์/รับของโจร เพราะศาลอุทธรณ์ตัดสินลงโทษแล้ว และจำเลยได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ. ล้างมลทิน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ต้องถือว่าศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยเต็มตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1786/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท: ปลอมแปลงเอกสารเพื่อลักทรัพย์ ศาลฎีกาแก้ไขโทษและวินิจฉัยการรอการลงโทษ
จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกทำปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมแล้วนำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปให้ อ. ลงลายมือชื่อเป็นพยาน และไปแสดงแก่พนักงานบริษัท ท. เพื่อขอเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตของโจทก์ร่วม เมื่อบริษัท ท. ออกเช็คจำนวน 33,067 บาท เพื่อเป็นค่าเวนคืนให้แก่จำเลยที่ 2 กับพวก จำเลยที่ 2 กับพวกนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ร่วม แล้วลักเงินของโจทก์ร่วมโดยใช้บัตรกดเงินอัตโนมัติ และเลขรหัสของโจทก์ร่วมเบิกเงินผ่านตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติไปจำนวน 33,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นหลัก ซึ่งแม้การกระทำจะเป็นขั้นตอนต่างกัน และโจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นข้อๆ แยกต่างหากจากกัน แต่ก็เกิดจากเจตนาอันเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8053/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษคดีอาญา: ซ่องโจร vs ลักทรัพย์ - การพิจารณาโทษกรรมเดียวและข้อจำกัดในการฎีกา
คดีศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 210, 335 (6) (7) วรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานร่วมกันสมคบกันกระทำอันเป็นซ่องโจร จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันลักทรัพย์ จำคุกจำคุก 4 ปี รวมจำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อหักโทษความผิดฐานเป็นซ่องโจรออกจากโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนด คงจำคุก 4 ปี เป็นกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงฐานความผิดจากวิ่งราวทรัพย์เป็นลักทรัพย์ และการริบของกลางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 จะต้องเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผ. ทำทีเป็นพูดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเอาโทรศัพท์ไปในขณะที่ผู้เสียหายให้บริการลูกค้าคนอื่นอยู่ เป็นการเอาไปในขณะเผลอ มิใช่เป็นการฉกฉวยทรัพย์ไปโดยซึ่งหน้าแต่ประการใด การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อเหตุเกิดในเวลากลางคืนและร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) และ 335 (7) ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคสอง ซึ่งมีโทษหนักกว่าความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามมาตรา 336 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 แต่จะพิพากษาลงโทษจำเลยหนักขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
อนึ่ง ทรัพย์ที่ศาลจะสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 33 ได้ ต้องปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อความสะดวกในการพาทรัพย์หลบหนี มิได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ จึงเป็นทรัพย์ที่ไม่อาจริบได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9193/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์พระพุทธรูปในวัด แต่ไม่ได้จัดวางเพื่อสักการะ ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองศิลปวัตถุ
แม้ทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันลักเป็นพระพุทธรูปและอยู่ในวัดผู้เสียหาย แต่พระพุทธรูปดังกล่าวเก็บไว้ในศาลาบำเพ็ญกุศลหลังเก่าอยู่ในสภาพถูกปล่อยทิ้งร้างและรกรุงรัง มิได้จัดวางไว้ในที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนสักการะบูชา รวมทั้งไม่มีเครื่องบูชา จึงยังถือไม่ได้ว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 335 ทวิ วรรคแรก แม้จำเลยกับพวกร่วมกันลักพระพุทธรูปดังกล่าวภายในวัดผู้เสียหายก็ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ทั้งศาลาบำเพ็ญกุศลมีไว้เพื่อใช้จัดงานพิธีศพ จึงมิใช่เป็นสถานที่บูชาสาธารณะ ตาม ป.อ. มาตรา 335 (9) การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 เท่านั้น ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225.
of 10