พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12346/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยกทรัพย์สินให้เป็นสินสมรสต้องระบุชัดเจนในหนังสือยกให้ มิฉะนั้นถือเป็นสินส่วนตัว
ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดชัดเจนแล้วว่า หากผู้ให้ทรัพย์สินแก่สามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งในระหว่างสมรสประสงค์จะยกให้เป็นสินสมรส ผู้ยกให้ต้องระบุไว้ในหนังสือยกให้ให้ชัดเจน และกฎหมายมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการยกให้โดยเสน่หาเท่านั้น ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บัญญัติว่า สินส่วนตัวได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หานั้น เป็นการขยายความว่า เมื่อเป็นการให้ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยเสน่หาหรือไม่ ผู้ให้ต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้เป็นสินสมรส ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า น. บิดาของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรสก็ต้องถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 แม้จะมีข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขและค่าตอบแทนเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามคำขอร้องของ น. ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วได้ ส่วนที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินพิพาทหลังจากได้รับการยกให้มาแล้วก็ย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4477/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ที่ดินมรดกช่วงสมรสเป็นสินสมรส แม้พินัยกรรมไม่ระบุเป็นสินส่วนตัว
การที่จำเลยซึ่งเป็นภริยาโจทก์ได้รับมรดกคือที่ดินพิพาทเมื่อปี 2509 ขณะที่มีการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม การพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประเภทใดต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มา คือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมมาตรา 1466 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส นอกจากที่ระบุไว้ว่าเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวตามมาตรา 1463หรือ 1464 เมื่อจำเลยได้รับที่ดินพิพาททางพินัยกรรมในระหว่างสมรสและไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ต่อมาจะมีการแบ่งแยกและออกโฉนดใหม่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใหม่ใช้บังคับแล้ว ก็ไม่ทำให้เปลี่ยนสินส่วนตัว โจทก์จึงมีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6575/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหย่าจากเหตุทิ้งร้างและสินสมรส: การแบ่งทรัพย์สินที่ได้มาก่อนและหลังจดทะเบียนสมรส
จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันโดยอ้างเหตุว่าโจทก์จงใจทิ้งร้างจำเลยเกินกว่าหนึ่งปี โจทก์แถลงรับว่าโจทก์มีเจตนาทิ้งร้างจำเลยตามฟ้องแย้งและศาลชั้นต้นได้จดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ทนายจำเลยลงชื่อโดยไม่โต้แย้งคัดค้าน และต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงรับข้อเท็จจริงนี้อีก แม้จะมิได้ส่งสำเนาให้จำเลยมีโอกาสคัดค้านก็ตาม ข้อเท็จจริงเป็นอันรับฟังได้ตามฟ้องแย้งโดยคู่ความไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงในประเด็นนี้อีก โจทก์จำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อนใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม แม้ต่อมาจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2512ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสและความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสตามกฎหมายเดิม ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติ ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 4 และมาตรา 5การแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายลักษณะผัวเมียบังคับ จำเลยได้ที่ดินมาเมื่อปี 2511 ก่อนโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันและเป็นเวลาที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 ใช้บังคับ โดยบุตรสาวจำเลยยกให้โดยเสน่หาแต่มิได้ระบุว่ายกให้เป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1464(3) ที่ดินจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1466 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับ ก็จะนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาใช้บังคับไม่ได้เพราะที่ดินตกเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว