คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 181

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 84 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในคดีอาญา การไม่ตั้งทนายความ, การคุ้มครองสิทธิ, และเหตุไม่รอการลงโทษ
ก่อนเริ่มพิจารณาคดีศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้ว จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ศาลจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดี ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ อันเป็นการกำหนดรายละเอียดของสิทธิไว้ชัดแจ้งเช่นเดียวกันกับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เมื่อจำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความและให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การจำเลยไว้ ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลย
จำเลยฎีกาว่า ในวันนัดสอบคำให้การจำเลย โจทก์และจำเลยต้องมาอยู่ต่อหน้าศาลพร้อมกันให้ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง เมื่อจำเลยให้การอย่างไรก็ให้ศาลจดไว้ ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องแถลงให้ศาลทราบว่ายังประสงค์ให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ วันนัดสอบคำให้การจำเลยจึงเป็นการนัดพิจารณาซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องมาในวันดังกล่าวนั้น เมื่อโจทก์ไม่มา จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 181 ประกอบมาตรา 166 นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้อุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และปรับ 800 บาท ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวยังไม่เกินห้าปีและกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกจนถูกเพิ่มโทษ เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ซึ่งมิใช่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษหรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 (1) และ (2) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3522/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกฟ้องคดีอาญาเมื่อโจทก์ไม่มาตามนัดไกล่เกลี่ย ศาลต้องพิจารณาว่าเป็นนัดตรวจพยานหลักฐานหรือพิจารณาคดีหรือไม่
ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดให้ศาลยกฟ้องเสีย คำว่า "กำหนดนัด" ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน หรือกำหนดนัดพิจารณาซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องมาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อศาลตามที่กฎหมายกำหนด การที่จำเลยแถลงขอนำคดีเข้าศูนย์ไกล่เกลี่ย และศาลชั้นต้นอนุญาตและมีหนังสือแจ้งผู้เสียหายมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ย วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 เวลา 9 นาฬิกา เป็นการนัดผู้เสียหายและจำเลยมาไกล่เกลี่ยมิได้เกี่ยวข้องกับโจทก์ แม้จะเป็นวันเดียวกับที่ศาลกำหนดนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ/คุ้มครองสิทธิ/ตรวจพยานหลักฐาน/ไกล่เกลี่ย แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอีกว่าหากจำเลยให้การปฏิเสธให้ผู้พิพากษาประจำศูนย์กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานและประชุมคดี และแจ้งคู่ความ แสดงว่าในการนัดตรวจพยานหลักฐานนั้น ศาลชั้นต้นจะต้องกำหนดวันนัดและแจ้งให้คู่ความทราบอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นการที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ย ซึ่งมิใช่วันนัดตรวจพยานหลักฐานและวันนัดพิจารณา จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7493/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกฟ้องคดีอาญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากโจทก์ไม่มาตามนัดพร้อม และการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อ
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย ซึ่งคำว่า "กำหนดนัด" ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง กำหนดนัดไต่สวนหรือกำหนดนัดพิจารณา แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งมิใช่วันนัดพิจารณาคดี กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ที่ศาลจะยกฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดพิจารณาคดี: เหตุสมควรยกเว้นการพิจารณาใหม่, ความรับผิดชอบทนายความ, การแจ้งเหตุขัดข้อง
การที่จะให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้นั้น จะต้องแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเหตุสมควรที่มาศาลในวันนัดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 181 คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ทราบวันเวลานัดดังกล่าวโดยชอบแล้ว แต่มิได้มาศาลตามกำหนดนัด เนื่องจากทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เดินทางไปว่าความในคดีอื่นที่ศาลได้นัดพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน โดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาในคดีนี้ ซึ่งทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นคนนัดวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ไว้เอง ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ชอบที่จะแจ้งต่อศาลในคดีอื่นว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ติดการพิจารณาของศาลในคดีนี้ และขอให้ศาลในคดีอื่นนัดพิจารณาตามยอมในวันอื่น ไม่ควรนัดให้ซ้อนกัน แต่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ก็หาได้กระทำไม่ นับว่าเป็นความบกพร่องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เอง ทั้งเมื่อมีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ก็ต้องแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลในคดีนี้ทันที การที่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เพียงแต่บอกให้โจทก์ที่ 1 มาศาลเพื่อตอบคำถามค้านของทนายจำเลยให้เสร็จโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลในคดีนี้ทราบ แสดงให้เห็นว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่เห็นถึงความสำคัญในเวลานัดของศาลในคดีนี้ เหตุขัดข้องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แม้โจทก์ที่ 1 จะมีใบรับรองแพทย์และรายงานแพทย์มาแสดงว่าโจทก์ที่ 1 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในวันดังกล่าว โดยมีอาการโรคกระเพาะและแน่นหน้าอกก็ตามแต่ตามรายงานแพทย์ดังกล่าวได้สรุปผลการตรวจว่า โจทก์ที่ 1 มีปัญหาระบบย่อยอาหารโดยไม่มีโรคหัวใจ เนื่องจากอุดตันของเส้นโลหิตแต่อย่างใด ทั้งโจทก์ที่ 1 ยังสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักงานของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ แสดงว่าอาการป่วยของโจทก์ที่ 1 ไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นได้โดยสามารถสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ของศาลชั้นต้นจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งให้บริการสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมงได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ศาลชั้นต้นรอจนถึงเวลา 15.30 นาฬิกา นับว่าเป็นระยะเวลานานพอที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะโทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นอันอยู่ในวิสัยที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 สามารถจะกระทำได้แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ พฤติการณ์ของฝ่ายโจทก์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล่าช้า กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2549 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่มาศาลตามนัด และการยกฟ้องคดีอาญาเนื่องจากโจทก์ขาดความเอาใจใส่
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลนัดสืบพยานโจทก์เวลา 9 นาฬิกา โจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วจึงมีหน้าที่ต้องมาศาลตามกำหนด แม้ น. พนักงานอัยการโจทก์เจ้าของสำนวนจะมาที่ศาลแล้วแต่ก็มิได้เข้าห้องพิจารณา โดย น. ไปทำหน้าที่แทนพนักงานอัยการในคดีอื่นและทำหน้าที่อื่น ศาลได้ประกาศเรียกโจทก์ให้เข้าห้องพิจารณาตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา ศาลรอจนกระทั่งเวลา 11.15 นาฬิกา โจทก์ก็ไม่เข้าห้องพิจารณาคดีแถลงให้ศาลทราบถึงเหตุขัดข้องของโจทก์ ทั้งที่โจทก์ได้มาอยู่ในบริเวณศาลแล้ว พฤติการณ์ของโจทก์แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่เอาใจใส่หรือเล็งเห็นถึงความสำคัญในเวลานัดของศาล ดังนั้น โจทก์จึงจะยกขึ้นแก้ตัวหรือยกมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่มาศาลตามนัด สืบเนื่องจากความเข้าใจผิดเรื่องการมอบหมายทนายความ ศาลไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลนัดสืบพยานโจทก์เวลา 9 นาฬิกา โจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้ว มีหน้าที่ต้องมาศาลตามกำหนดนัด แม้ น. พนักงานอัยการโจทก์เจ้าของสำนวนจะมาที่ศาลแล้วแต่ก็มิได้เข้าห้องพิจารณา คงไปทำหน้าที่แทนพนักงานอัยการในคดีอื่นและทำหน้าที่อื่น โจทก์อ้างว่าจะมีพนักงานอัยการคนอื่นมาว่าความแทนโจทก์โดยโจทก์เองไม่ได้ใส่ใจว่าที่แท้จริงแล้วมีพนักงานอัยการคนอื่นมาทำหน้าที่แทนหรือไม่ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ศาลได้ประกาศเรียกโจทก์ให้เข้าห้องพิจารณาตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา ศาลรอจนกระทั่งเวลา 11.15 นาฬิกา โจทก์ก็ไม่เข้าห้องพิจารณาคดีแถลงให้ศาลทราบถึงเหตุขัดข้องของโจทก์ ทั้งที่โจทก์ได้มาอยู่ในบริเวณศาลแล้ว ดังนี้ โจทก์จะอ้างว่า โจทก์เชื่อว่าจะมีพนักงานอัยการคนอื่นมาทำหน้าที่แทนแล้วเพื่อให้เห็นว่าโจทก์มิได้มีเจตนาที่จะจงใจหรือไม่ใส่ใจในกำหนดนัดของศาลหาได้ไม่ พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่เอาใจใส่หรือเล็งเห็นถึงความสำคัญในเวลานัดของศาล เหตุที่โจทก์เชื่อดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องที่จะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวหรือยกมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4702/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาต้องกระทำต่อหน้าศาล การยื่นเอกสารไม่ใช่การฟ้อง
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 บัญญัติให้โจทก์อาจฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ หากจะฟ้องด้วยวาจาตามวรรคสองของบทบัญญัติดังกล่าวให้โจทก์ต้องแจ้งต่อศาลถึงชื่อโจทก์ ชื่อที่อยู่ และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งศาลจะบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐานและให้คู่ความลงชื่อไว้ วิธีปฏิบัติดังกล่าวโจทก์จึงต้องมาศาล กล่าวฟ้องจำเลยต่อศาลด้วยวาจาให้ได้สาระดังกล่าว
การนำบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจามาเสนอต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ของศาลได้ประทับตราพนักงานรับฟ้องไว้ โดยสภาพบันทึกดังกล่าวจึงไม่ใช่การฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วยวาจา แต่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานเพื่อจะฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาด้วยวาจา และเป็นความสะดวกที่ศาลจะบันทึกการฟ้องด้วยวาจาลงในแบบพิมพ์ของศาลได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันดังกล่าวจึงไม่อาจมีการฟ้องคดีด้วยวาจาได้ ศาลจึงไม่อาจพิจารณาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดได้ และจะพิพากษายกฟ้องก็ไม่ได้เพราะยังไม่มีฟ้อง แต่ต้องสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7178/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่โจทก์ในคดีอาญา การไม่มาศาลตามนัด และผลของการยกฟ้อง
บทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 และ 181 ได้กำหนดหน้าที่ของโจทก์ว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี โจทก์จะต้องมาศาลตามนัด มิฉะนั้นให้ศาลยกฟ้องเสียเว้นแต่จะมีเหตุสมควรจึงจะให้เลื่อนคดีไป บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วมิให้มีการประวิงคดี จึงกำหนดมาตรการดังกล่าวเพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดในวันนัดสืบพยานโจทก์แม้จะมีพนักงานอัยการอื่นที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่ศาลชั้นต้นหาใช่มีฐานะเป็นเจ้าของสำนวนและก็หาได้มีพนักงานอัยการคนใดมาแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปไม่ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของสำนวนต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในหน้าที่การงานของตนจะผลักภาระความรับผิดชอบของตนให้แก่พนักงานอัยการอื่นหาสมควรไม่ การที่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดในกรณีดังกล่าว ถือเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะยกคดีโจทก์ขึ้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6386/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุไม่สมควรที่ศาลจะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ การขาดนัดพิจารณาคดี และการประเมินเหตุผลของฝ่ายโจทก์
ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดลพบุรี) นัดสืบพยานโจทก์ เวลา 10 นาฬิกา โจทก์ไม่มาศาลตามนัด ศาลชั้นต้นรออยู่จนถึงเวลา 10.30 นาฬิกา จึงพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นคำร้องว่ามีเหตุสมควรที่มาศาลตามนัดไม่ได้ ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ปรากฏว่าในวันนัด เมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์ขับรถยนต์ออกจากบ้านพักที่กรุงเทพมหานคร รถยนต์ก็ปกติดี ถึงที่เกิดเหตุใช้เวลาประมาณ 45 นาที รถยนต์เสียใช้เวลาซ่อม 1 ชั่วโมงก็เสร็จ แสดงว่าสภาพขัดข้องไม่ร้ายแรงนัก เมื่อซ่อมรถยนต์เสร็จผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็ไม่ใช้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งมีอยู่หลายแห่งที่สะดวกติดต่อไปยังศาลจังหวัดลพบุรีเพื่อแจ้งข้อขัดข้องดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นเจ้าของสำนักงานทนายความ และรับจัดหาทนายความแก่โจทก์เดินทางไปเบิกความเป็นพยานโจทก์โดยลำพัง โดยไม่นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตัวไปด้วย นับเป็นเหตุบังเอิญที่ไม่น่าเกิดขึ้น เมื่อเดินทางไปถึงศาลจังหวัดลพบุรีเวลา 12.10 นาฬิกา พบเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์อีกบัลลังก์หนึ่งก็แจ้งแต่เพียงว่า ศาลนัดคดีนี้ช่วงเช้าแต่มาศาลไม่ทัน โดยไม่ได้แจ้งเรื่องรถยนต์ขัดข้อง ข้อที่โจทก์หยิบยกขึ้นมาล้วนไม่สมเหตุผล พฤติการณ์แสดงว่าฝ่ายโจทก์ไม่สนใจเวลานัดของศาล ไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4366/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนคำพิพากษายกฟ้องที่ศาลล่างวินิจฉัยโดยไม่ไต่สวนข้อเท็จจริง
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าโจทก์จงใจไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์นั้น เป็นการยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 181 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2545 โจทก์มายื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2545 แสดงเหตุยืนยันว่าโจทก์ได้มาศาลตามกำหนดแล้ว เพียงแต่โจทก์ยังติดการดำเนินคดีอาญาอื่น ซึ่งศาลได้นัดพิจารณาไว้ในวันเดียวกันก่อน เสร็จแล้วจึงจะมาดำเนินคดีต่อไปโดยขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษา อันมีผลเท่ากับเป็นการขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำร้องก็นับว่ามีเหตุอันสมควรที่โจทก์ไม่ได้มาดำเนินคดีนี้ตามกำหนดนัด เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวยังไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของโจทก์เสียก่อน จึงจะวินิจฉัยได้ว่าที่โจทก์ไม่มาดำเนินคดีนี้ตามกำหนดนัดมีเหตุสมควรหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองสั่งคำร้องของโจทก์โดยไม่ไต่สวนให้ได้ความจริงเสียก่อน จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 181
of 9