พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12500/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินค่าเสียหายทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีหลักฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม การคำนวณค่าเสียหายแบบหยาบๆ ใช้ไม่ได้
การประเมินความเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติควรจะต้องกระทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือ ขั้นตอนแรกก่อนการประเมินต้องเก็บข้อมูลและประเมินความเสียหายเบื้องต้น และขั้นตอนการประเมิน คือกระบวนการประเมินเพื่อกำหนดจำนวนมูลค่าความเสียหาย ซึ่งต้องใช้เครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ตามทางนำสืบของโจทก์คงมีแต่คำเบิกความของนาย ก. ลอย ๆ เท่านั้นว่า นาย ก. เป็นผู้เข้าไปตรวจสอบความเสียหายของที่ดินที่เกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏสภาพที่ดินใกล้เคียงว่ามีความสมบูรณ์เพียงใดและไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นรายละเอียดของการตรวจสอบว่ามีการเก็บข้อมูลและการประเมินความเสียหายในเบื้องต้นอย่างไร ในเรื่องนี้แม้นาย ก. เบิกความว่า รูปแบบการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ใช้มาตั้งแต่ปี 2544 จนปัจจุบันและใช้เหมือนกันทั่วประเทศก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมหลังจากการทำลายไม้จัดทำขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งไม่ได้ความว่ามีการทดลองใช้แบบจำลองดังกล่าวเพื่อทดสอบความแม่นยำว่าอยู่ในระดับใดก่อนใช้ ในความเป็นจริงความเปลี่ยนแปลงทางทรัพยากรธรรมชาติส่วนต่างๆ ย่อมมีปัจจัยหลายอย่างอันเป็นตัวแปรที่กระทบต่อผลการประเมินได้ ผลการประเมินที่ออกมาถูกต้องตรงกับความจริงหรือไม่เพียงใดจึงไม่อาจยืนยันได้แน่นอน แม้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายไม้ดังกล่าวอาจมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการบ้าง แต่ก็เห็นได้ว่ารูปแบบการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าไม้ที่โจทก์นำมาใช้เป็นเครื่องมือและวิธีการคำนวณแบบหยาบ ๆ จะใช้เป็นสูตรสำเร็จในการคำนวณค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าไม้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แก่ผู้กระทำผิดทุกรายซึ่งเหตุเกิดต่างพื้นที่กันย่อมไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน