คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 335 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 41 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11654/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: ฆ่าและพยายามลักทรัพย์ ศาลฎีกาลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและฐานพยายามลักทรัพย์ จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้ตายเพียงอย่างเดียว จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 289 (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91 เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ให้ลงโทษจำเลย ป.อ. มาตรา 289 (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10978/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อลักทรัพย์/รับของโจร เพราะศาลอุทธรณ์ตัดสินลงโทษแล้ว และจำเลยได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ. ล้างมลทิน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ต้องถือว่าศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยเต็มตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13491/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำนากุ้งไม่จัดเป็นการประกอบอาชีพกสิกรรมตามกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคสอง ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทแก้ไขโทษ
การทำนากุ้งไม่ใช่การประกอบอาชีพกสิกรรมตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (12) วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทและแก้ไขโทษให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12873/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์โดยมีผู้สนับสนุน ความรับผิดของทหารเกณฑ์ที่รู้เห็นและให้ความช่วยเหลือ
จำเลยทั้งสองและ ฉ. เป็นทหารเกณฑ์อยู่ในกองร้อย กองบังคับการ กรมทหารช่างที่ 21 ค่ายภาณุรังษี โดยจำเลยทั้งสามพักอยู่ชั้นที่ 2 ของอาคารกองร้อย ส่วนที่เป็นเรือนนอนของทหารใหม่ ซึ่งอยู่ติดกับห้องคลังอาวุธ ฉ. เป็นทหารเก่าพักอยู่เรือนนอนชั้นล่าง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าเวรอยู่หน้าห้องคลังอาวุธ ฉ. ซึ่งอยู่ในระหว่างได้รับอนุญาตให้ลาหยุดไปเยี่ยมบ้าน ได้กลับเข้ามาในอาคารกองร้อย พบจำเลยที่ 3 จึงขอให้จำเลยที่ 3 ยกเก้าอี้เหล็กมาวางด้านข้างห้องคลังอาวุธ แล้วให้ ฉ. เหยียบบ่าจำเลยที่ 3 เพื่อเปิดฝ้าเพดานของเรือนนอนด้านที่ติดกับผนังห้องคลังอาวุธออก แล้วปีนเข้าไปในห้องคลังอาวุธ ใช้คีมตัดเหล็กตัดตาข่ายเหล็กที่สร้างครอบกรงเหล็กที่เก็บรักษาอาวุธปืน แล้วลักอาวุธปืนพกออโตเมติก 4 กระบอก ซองบรรจุกระสุนปืน 2 ซอง ของกรมทหารช่างที่ 21 กระทรวงกลาโหม ผู้เสียหาย หลังจากนั้น ฉ. ปีนขึ้นฝ้าเพดานออกมาตามทางเดิมและกระโดดลงมาโดยมีจำเลยที่ 3 คอยรับ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็น ฉ. เข้าไปในเรือนนอนชั้นบนเป็นเวลานานและเห็นจำเลยที่ 3 ยกเก้าอี้เข้าไปด้วย อีกทั้งได้ยินเสียงดังผิดปกติ แต่ไม่ได้เข้าไปตรวจดู และเมื่อ ฉ. ออกจากเรือนนอนพร้อมอาวุธปืน 4 กระบอก จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอดูอาวุธปืน โดยจำเลยที่ 1 ขออาวุธปืนจาก ฉ. จำนวน 1 กระบอก พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบว่า ฉ. เข้าไปลักอาวุธปืนในห้องคลังอาวุธ แต่ไม่ห้ามปราม ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ให้ความช่วยเหลือโดยให้ ฉ. ปีนขึ้นไปบนเพดานเพื่อเข้าไปลักอาวุธปืน จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามรู้เห็นเป็นใจและให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ฉ. ในขณะกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8053/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษคดีอาญา: ซ่องโจร vs ลักทรัพย์ - การพิจารณาโทษกรรมเดียวและข้อจำกัดในการฎีกา
คดีศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 210, 335 (6) (7) วรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานร่วมกันสมคบกันกระทำอันเป็นซ่องโจร จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันลักทรัพย์ จำคุกจำคุก 4 ปี รวมจำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อหักโทษความผิดฐานเป็นซ่องโจรออกจากโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนด คงจำคุก 4 ปี เป็นกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7942/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานซัดทอดร่วมกับคำรับสารภาพและพยานหลักฐานอื่นประกอบกันเพื่อพิสูจน์ความผิดฐานลักทรัพย์
จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์เครื่องยนต์ซึ่งติดตั้งอยู่บนรถไถนาอันเป็นเครื่องกลของผู้เสียหายที่มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมทำนาในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) (8) (12) วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (8) (10) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7453/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดลักทรัพย์: การรออยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุและไม่สามารถช่วยเหลือได้ ไม่ถือเป็นตัวการร่วม
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์นำจำเลยที่ 2 และ ด. มาที่เกิดเหตุแล้วรออยู่ จากนั้นบุคคลทั้งสองได้ปีนกำแพงเข้าไปแล้วลักลวดทองแดงของกลางภายในบริษัทผู้เสียหายนั้น เห็นได้ว่าบริเวณที่จำเลยที่ 1 รออยู่ห่างจากจุดที่มีการลักทรัพย์ประมาณ 70 เมตร ไม่สามารถมองเห็นภายในบริษัทผู้เสียหายที่เกิดเหตุได้ และไม่สามารถช่วยเหลือ ด. และจำเลยที่ 2 ได้ทันท่วงที ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ให้ความร่วมมือโดยใกล้ชิดกับการที่ ด. และจำเลยที่ 2 ลักทรัพย์ของบริษัทผู้เสียหาย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกก่อนที่ ด. และจำเลยที่ 2 กระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของ ด. และจำเลยที่ 2
คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 และกรณีนี้เป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาลดโทษตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4004/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์เครื่องมือเกษตรและการปรับบทลงโทษตามมาตรา 335 วรรคสาม โดยการบรรยายฟ้องต้องระบุว่าเป็นเครื่องกลหรือเครื่องจักร
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักเครื่องสูบน้ำซึ่งเป็นเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรมทำนาไปโดยทุจริต แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเครื่องสูบน้ำเป็นเครื่องกลหรือเครื่องจักรตามที่ระบุไว้ใน ป.อ. มาตรา 335 วรรสาม การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องไม่เป็นความผิดตามมาตรา 335 วรรคสาม ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8106/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับการลงโทษและสถานที่ราชการ: การเพิ่มโทษตามมาตรา 336 ทวิ ต้องทำหลังกำหนดโทษ และลานจอดรถไม่ใช่สถานที่ราชการ
ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นบทบัญญัติเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดไม่ ดังนั้น ศาลต้องเพิ่มระวางโทษตามมาตรา 335 หนักขึ้นกึ่งหนึ่งเสียก่อน แล้วจึงกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดระหว่างระวางโทษดังกล่าว ไม่ใช่กำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง
ลานจอดรถของวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีเป็นเพียงสถานที่ซึ่งทางราชการจัดไว้สำหรับเป็นที่จอดรถของบรรดานักศึกษา ผู้มาติดต่อราชการ ตลอดจนข้าราชการของวิทยาลัย หาใช่เป็นสถานที่ซึ่งใช้สำหรับปฏิบัติราชการของข้าราชการในวิทยาลัยโดยตรงแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยทั้งสองลักรถจักรยานยนต์จากบริเวณลานจอดรถดังกล่าวจึงไม่ใช่การลักทรัพย์ในสถานที่ราชการอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) คงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่อุทธรณ์โทษที่หนักขึ้นตาม ม.336 ทวิ และการพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาที่ไม่ชอบ
ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้อระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่งหาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่ได้ใช้อัตราโทษตามที่มาตรา 336 ทวิ กำหนดไว้แต่ยังคงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (3) (7) (8) วรรคสอง ตามที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นปรับบทจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
คำร้องของจำเลยใช้คำว่าขอให้ "ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์" อนุญาตให้ฎีกาโดยมิได้ระบุชื่อผู้พิพากษา ถือได้ว่าจำเลยประสงค์ให้ผู้พิพากษาซึ่งลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้จำเลยฎีกาแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยว่า กรณีคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ยกคำร้องและมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยนั้น เป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
of 5