คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 62 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13262/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, วางเพลิงเผาทรัพย์, และซ่อนเร้นศพ ผู้กระทำต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย
เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปส่ง บ. ที่บ้านแล้วย้อนกลับไปยังกระท่อมที่เกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง และร่วมกับจำเลยที่ 1 ยกร่างของผู้ตายขึ้นรถกระบะคันเกิดเหตุ ทั้งขณะที่จำเลยที่ 1 นำฟางมาคลุมร่างของผู้ตาย และนำยางในรถยนต์มาวางทับ แล้วตระเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นรถกระบะนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุและร่างของผู้ตายเพื่ออำพรางคดี จากนั้นจำเลยที่ 3 ก็นั่งไปด้วยในรถกระบะที่จำเลยที่ 1 ขับ โดยมีจำเลยที่ 2 ขับรถอีกคันหนึ่งแล่นติดตามไป แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุพร้อมร่างของผู้ตายซึ่งอยู่ในรถดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เป็นการกระทำโดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ใช้ความระมัดระวังตรวจดูให้ดีก่อนว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น
ความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ตาม ป.อ. มาตรา 199 นั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานนี้ ผู้กระทำจะต้องซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพซึ่งหมายความถึงร่างกายของคนที่ตายแล้ว แต่เมื่อขณะที่ผู้ตายถูกเผา ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ร่างกายของผู้ตายในขณะนั้นจึงไม่ใช่ศพ ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ อันเป็นองค์ประกอบความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในข้อเท็จจริง & ประมาทเลินเล่อ ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
จำเลยทั้งสองทำร้ายผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์ในโรงเรียนแต่ผู้เสียหายไม่ใช่คนร้ายการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงแต่ขณะถูกทำร้ายผู้เสียหายได้ร้องบอกว่า"อย่าทำผม"เวลาที่เกิดเหตุไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากกองไม้อีกทั้งผู้เสียหายไม่มีอาวุธติดตัวการไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายไม่ใช่คนร้ายเข้ามาลักทรัพย์จึงเกิดขึ้นด้วยความประมาทของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทสำหรับการกระทำนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา62วรรคสองเมื่อผู้เสียหายถูกจำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในข้อเท็จจริง + ประมาทเลินเล่อ ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
จำเลยทั้งสองทำร้ายผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์ในโรงเรียน แต่ผู้เสียหายไม่ใช่คนร้าย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง แต่ขณะถูกทำร้ายผู้เสียหายได้ร้องบอกว่า"อย่าทำผม" เวลาที่เกิดเหตุไม่ปรากฎว่ามีทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากกองไม้ อีกทั้งผู้เสียหายไม่มีอาวุธติดตัว การไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายไม่ใช่คนร้ายเข้ามาลักทรัพย์จึงเกิดขึ้นด้วยความประมาทของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทสำหรับการกระทำนั้นด้วยตามป.อ. มาตรา 62 วรรคสองเมื่อผู้เสียหายถูกจำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4613/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิด + การป้องกันเกินกว่าเหตุ: การยิงผู้ตายผ่านประตูห้องพัก
จำเลยสำคัญผิดว่าคนที่มาเคาะประตูห้องพักเป็นสามีเก่าของผู้ตายจะมาทำร้ายจำเลย แต่กลับเป็นผู้ตาย ข้อเท็จจริงนั้นก็ไม่มีอยู่จริง ตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคแรก ซึ่งตามกฎหมายกรณีดังกล่าวจำเลยมีสิทธิป้องกันได้ แต่สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าประตูห้องเกิดเหตุมีโซ่ คล้อง อยู่ สามารถเปิดได้ประมาณ 1 คืบ การที่จำเลยใช้ปืนยิงออกไปจึงเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องทำเพื่อป้องกัน ตามมาตรา 69 เหตุเกิดในแฟลต ซึ่งมีคนเช่าอยู่จำนวนมาก และผู้ตายซึ่งมาเคาะ ประตูก็อยู่บนทางเดินระหว่างกลางห้องพัก ทั้งขณะเกิดเหตุไฟฟ้าระหว่างทางเดินก็เปิดแล้วจำเลยซึ่งอยู่ในห้องสามารถมองออกไปทางหน้าห้องได้ชัดเจน ประตูห้องเกิดเหตุมีโซ่ คล้อง อยู่ การที่ จำเลยยิงผู้ตายจึงเกิดขึ้นด้วยความประมาทตาม มาตรา 62 วรรค 2 ด้วย.