คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 148 ตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13284/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: ประเด็นกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่เคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
คดีนี้กับคดีก่อนมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอันเดียวกันว่า บ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน พ. ปรากฏว่าในคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยและคดีถึงที่สุดแล้วว่า บ. ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน พ. ส่วนในคดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องอ้างว่าพบพยานหลักฐานใหม่ที่แสดงว่า บ. ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทน พ. ก็เป็นการฟ้องที่มีประเด็นต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน
คดีก่อน พ. ฟ้องโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ส่วนในคดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกับ พ. หลังจากศาลพิพากษาคดีก่อน และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทของ พ. หลังจากศาลพิพากษาคดีก่อนแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทจาก บ. มาเป็น พ. ตามคำสั่งศาล ต่อมา พ. ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับ พ. ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งหกจึงเป็นผู้สืบสิทธิจาก พ. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อน ดังนั้น ถือได้ว่าคู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีก่อนเป็นคู่ความรายเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์ฟ้องขอให้เปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และ พ. เป็นชื่อของ บ. เป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ก) ท้าย ป.วิ.พ.
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจในการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง เมื่อโจทก์แพ้คดีบางข้อและบางข้อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ จึงชอบแล้ว
ในคดีก่อน พ.ไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท คดีก่อนจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 237 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ฟ้องคดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน