คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 192 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 234 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานลักทรัพย์ ฉ้อโกง และผู้สนับสนุนความผิด การพิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของบริษัท ก. ผู้เสียหายขณะอยู่ในความครอบครองของ ร. แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจยืมรถตามฟ้องจากผู้อื่นแล้วให้ ร. นำไปส่งมอบแก่พวกจำเลยแลกกับค่าตอบแทนเป็นเงิน 10,000 บาท หาใช่เป็นการลักรถจักรยานยนต์ตามฟ้องไปจาก ร. ไม่ จึงเป็นกรณีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลยกฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ และลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้เช่นกัน ถือว่าเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยทั้งสามชี้ช่องแนะนำให้ ร. ไปทำสัญญาเช่าซื้อและเสนอเงินค่าตอบแทนในการนำรถจักรยานยนต์มาส่งมอบจำนวน 10,000 บาท ดังกล่าว อาจถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ร. ก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ต้องเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 86 ที่บัญญัติว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด หมายถึงต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นด้วย จึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำก่อนหรือขณะกระทำความผิดได้ แตกต่างกับบทบัญญัติแห่งมาตรา 84 วรรคสองตอนท้าย ที่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ได้แม้ว่าความผิดมิได้กระทำลงก็ตาม เมื่อคดีนี้เกิดจากการวางแผนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อน และเป็นการขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้อื่นเพื่อให้ ร. ขับไปทำทีส่งมอบแก่พวกจำเลย หาได้เกิดจาก ร. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง อันจะถือเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อความผิดตามมาตรา 341 ไม่มีเสียแล้ว ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดที่ต้องนำความผิดตามมาตรา 341 มาประกอบกับมาตรา 86 ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 86 ได้อีกด้วย และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6953/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีอาญาโทษไม่สูง และผลกระทบต่อคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่อง
ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์แก้ฟ้องทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์นำสืบอ้างว่าจำเลยยักยอกนำไปขายให้แก่ อ. เป็นรถเกี่ยวข้าวคันเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการวินิจฉัยคำร้องขอแก้ฟ้องและการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยมีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด ฯ มาตรา 3
คดีที่โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 3 เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้ยักยอกรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์ฟ้องไป ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6060/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณปริมาณสารบริสุทธิ์ยาเสพติด: ศาลใช้ข้อเท็จจริงจากการตรวจพิสูจน์ แม้ฟ้องบรรยายไม่ถูกต้อง
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด มีน้ำหนักรวม 84.56 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 88.723 กรัม น้ำหนักรวมน้อยกว่าปริมาณสารบริสุทธิ์ แต่ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ ระบุเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด มีน้ำหนักรวม 84.56 กรัม มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 95.45 เมื่อคำนวณแล้วจะได้ผลเป็นสารบริสุทธิ์ 80.712 กรัม ดังนั้น ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ที่ระบุว่า คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 88.723 กรัม นั้น เป็นการคำนวณผิดพลาด ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาเกี่ยวกับการคำนวณหาปริมาณสารบริสุทธิ์แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง แต่ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะเป็นเหตุให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ทั้งหมด ทั้งการบรรยายฟ้องที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 901/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความแตกต่างของชื่อการค้าปุ๋ยเคมีปลอม ไม่ถึงขั้นศาลต้องยกฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ
แม้ทางพิจารณาได้ความว่าปุ๋ยเคมีปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเพื่อการค้าและร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอม เป็นปุ๋ยสูตร 16 - 8 - 8 ชื่อการค้า ท๊อปพรอดคัท เครื่องหมายการค้า ตรามังกรเรือ ทะเบียนเลขที่ 2438/2551 และข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องปรากฏว่าปุ๋ยเคมีปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเพื่อการค้าและร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอม เป็นปุ๋ยสูตร 16 - 8 - 8 ชื่อการค้า มังกรเรือ เครื่องหมายการค้า ตรามังกรเรือ ทะเบียนเลขที่ 2438/2551 ก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวก็แตกต่างกันเฉพาะชื่อการค้าเท่านั้น ส่วนสูตร เครื่องหมายการค้า เลขทะเบียน และผู้ผลิต ยังคงตรงตามคำฟ้อง เมื่อผลคือปุ๋ยเคมีปลอมที่ผลิตเพื่อการค้าและขายปุ๋ยเคมีปลอมดังกล่าวเป็นปุ๋ยเคมีปลอมอันเกิดจากการร่วมกันผลิตและร่วมกันขายของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงเป็นการแตกต่างกันในข้อที่มิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ให้การรับสารภาพแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมิได้หลงต่อสู้ในข้อดังกล่าว ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงไม่แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องจนศาลต้องยกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12079/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชิงทรัพย์โดยประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย แม้จะลักทรัพย์ชิ้นหนึ่งไปไม่ได้ ก็ยังเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์โดยลักกุญแจรถจักรยานยนต์ 1 ดอก ของผู้เสียหายไป ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายเก็บกระเป๋าสะพายไว้ใต้เบาะรถจักรยานยนต์ จำเลยใช้มีดทำร้ายผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายเปิดเบาะรถ ผู้เสียหายจะดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ออกจากตัวรถแต่จำเลยเงื้อมีดข่มขู่ ผู้เสียหายจึงวิ่งหลบหนี จากนั้นจำเลยใช้กุญแจรถดังกล่าวไขเบาะรถแต่ไม่สามารถเปิดได้ จำเลยจึงเอากุญแจรถดังกล่าวไป พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยประสงค์จะเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพายเป็นอันดับแรก เมื่อไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์ได้จึงเอากุญแจรถจักรยานยนต์อันเป็นทรัพย์อีกชิ้นหนึ่งไป เมื่อจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย แม้จะไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์เพื่อเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพาย แต่การกระทำของจำเลยเพื่อเอาทรัพย์ยังไม่ขาดตอน การที่จำเลยเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปย่อมเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริต และเป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งโจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้ว มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10282/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิง, พรากเด็ก, และการชดใช้ค่าเสียหายทางจิตใจ
คำว่า "พราก" ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 317 หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลโดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะไปอยู่ที่ใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา ดังนี้ การพรากเด็กไม่ว่าผู้พรากเด็กจะเป็นฝ่ายชักชวนโดยมีเจตนามุ่งหมายที่จะกระทำชำเราเพียงอย่างเดียวก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น
ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมอยู่ที่บ้าน จ. ซึ่งเป็นปู่ โดยโจทก์ร่วมได้ไปเยี่ยมปู่และย่าที่บ้านพักและพักอาศัยอยู่ที่นั่น โดยผู้เสียหายที่ 2 ได้ส่งโจทก์ร่วมไปที่บ้าน จ. เพื่อให้มาดูแลเนื่องจาก จ. ป่วย จึงถือได้ว่า จ. อยู่ในฐานะผู้ดูแลโจทก์ร่วม โดยได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายที่ 2 ฉะนั้น การที่จำเลยโทรศัพท์ชวนโจทก์ร่วมไปทำงานแล้วขับรถเก๋งมารับโจทก์ร่วมไปและต่อมาก็ได้กระทำชำเราโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการรบกวนและก้าวล่วงอำนาจผู้ดูแลของ จ. ที่มีต่อโจทก์ร่วม โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก ส. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นอา ผู้ปกครองดูแลของโจทก์ร่วม โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก จ. ผู้ดูแลเพื่อการอนาจารก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญแต่อย่างใด และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในข้อดังกล่าวด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคสอง อีกทั้งการกระทำของจำเลยยังเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ด้วย โดยความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม จำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ดูแลโจทก์ร่วมเป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามมาตรา 277 วรรคแรก และความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง จำเลยมีเจตนาเดียวกันคือพาโจทก์ร่วมไปกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7387/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจร: การครอบครองทรัพย์ที่ได้จากการลักทรัพย์โดยรู้ว่าเป็นของผิดกฎหมาย
การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองพระหลวงพ่อฤาษีลิงดำองค์ใหญ่ทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไปแล้วอ้างว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับยกให้จากบิดาซึ่งเป็นความเท็จ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์ดังกล่าวมาโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ซึ่งแตกต่างจากความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง กรณีเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อที่แตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียดคือต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับรับของโจรซึ่งมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายยาเสพติด – ข้อเท็จจริงต่างจากฟ้อง – ลงโทษฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับ ว. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ว. แล้ว ว. นำไปจำหน่ายต่อให้แก่สายลับ โดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215, 225 ทั้งไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ว. ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับได้ด้วย แต่การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ว. เป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญา: ข้อผิดพลาดในการอ้างบทกฎหมาย-ฐานความผิด ศาลมีอำนาจปรับบท-แก้ไขฐานความผิดได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเก็บหา นำออกไปและทำด้วยประการใด ๆ อันทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และนำอาวุธปืนเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดตามมาตรา 16 (2) (15) แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และมีบทลงโทษตามมาตรา 24, 26 และ 27 โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) บัญญัติว่า ฟ้องต้องมี "อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด" ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเพียงแต่อ้างบทลงโทษตามมาตรา 24, 25 และ 27 โดยไม่ได้อ้างบทความผิดตามมาตรา 16 มาด้วย กรณีเช่นนี้ไม่ถึงกับเป็นเรื่องเกินคำขอเสียทีเดียวหรือเป็นเรื่องที่มิได้กล่าวในฟ้อง และไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ แต่อย่างใด เมื่อข้อหาความผิดหนึ่งต้องมีบทความผิดกับบทลงโทษประกอบเข้าด้วยกัน โดยอาจจะอยู่ในมาตราเดียวกันหรือแยกกันอยู่คนละมาตราก็ได้ การที่โจทก์เพียงอ้างมาตราในกฎหมายที่เป็นบทความผิดหรือบทลงโทษเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นเรื่องโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานความผิดนั้นสมตามฟ้อง ทั้งบทลงโทษที่บัญญัติไว้ก็เชื่อมโยงไปถึงบทความผิด อันเห็นได้ถึงบทมาตราที่ถูกต้องครบถ้วน และการกระทำตามฟ้องเป็นความผิดตามกฎหมายเช่นใด ก็อยู่ในขั้นตอนปรับบทกฎหมายอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของศาล ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องนี้ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคห้า
ความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 นั้น นอกจากโจทก์ไม่ได้อ้างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นมาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว กรณีปรากฏอีกด้วยว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ "เลื่อยโซ่ยนต์" หมายความว่า "(1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว" อันเป็นการกำหนดไว้เฉพาะการมีเลื่อยโซ่ยนต์ที่มีลักษณะเช่นนี้เท่านั้นที่ต้องมีใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ ถ้าไม่มีใบอนุญาตจึงจะมีความผิดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมีบทลงโทษตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง แต่ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏเลยว่าเลื่อยโซ่ยนต์คดีนี้มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดไว้ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และ (6) แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพก็รับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิพากษายกฟ้องความผิดข้อนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18161/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงาน ป.อ.มาตรา 157: สถานะหน่วยงานของรัฐและอำนาจหน้าที่ของกรรมการสถาบัน
การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 39 ที่ว่าด้วยส่วนราชการของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไม่ปรากฏว่าสถาบันแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย จำเลยจึงมิใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามฟ้องจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ได้
แม้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน และโจทก์มิได้กล่าวมาในคำฟ้อง จะลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวย่อมมิได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่
ขณะเกิดเหตุจำเลยมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นข้าราชการพลเรือนและรับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน ทำหน้าที่ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามฟ้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จะถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยของจำเลยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยมิได้
of 24