คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 302 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10892/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์โต้เถียงเจตนาฆ่าในคดีพยายามฆ่า ถือเป็นการยกประเด็นใหม่ที่ไม่เคยว่ากล่าวในชั้นศาลล่าง
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ฉ. ผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า จำเลยลงมือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เพราะกระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหาย จึงทำให้ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 13 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพ เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง และศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องจริง จึงจะลงโทษได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง และจำเลยอุทธรณ์ทำนองว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย โดยอ้างว่าจำเลยพยายามใช้จอบทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น เท่ากับอ้างว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยหรือเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้น ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7015/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: การพิสูจน์ที่มาของเงินในบัญชีธนาคาร และการประเมินเงินได้พึงประเมิน
บทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มิได้ห้ามเจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินครั้งแรกเพราะเห็นว่าการประเมินยังไม่ถูกต้อง มิใช่เพราะเห็นว่าโจกท์ไม่มีภาษีต้องชำระเพิ่ม ซึ่งถือไม่ได้ว่าการเรียกตรวจสอบตามหมายเรียกเสร็จสิ้นลงแล้ว เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินใหม่ให้โจทก์ชำระภาษีตามที่เห็นว่าถูกต้องได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 19 อีกครั้ง แม้การประเมินครั้งหลังจะทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีมากกว่าการประเมินครั้งแรก แต่มีผลทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียว จึงมิใช่การประเมินซ้ำซ้อน โดยเฉพาะการประเมินครั้งหลังยังเป็นการประเมินในเรื่องเดิมเกี่ยวกับยอดเงินได้พึงประเมินของโจทก์โดยเจ้าพนักงานประเมินอาศัยพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบมาแล้วเท่าที่มีอยู่เดิมในการประเมินครั้งแรกเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณามิใช่การประเมินในเรื่องใหม่ที่ไม่เคยตรวจสอบไต่สวนมาก่อน จึงไม่จำต้องแจ้งโจทก์มาชี้แจงแสดงหลักฐานเพิ่มเติม
ข้อความในอุทธรณ์ของโจทก์เป็นไปในทำนองเดียวกับที่กล่าวในคำฟ้องโดยไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางว่าไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร วิธีการประเมินมิใช่ขั้นตอนปกติด้วยเหตุผลใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
บัญชีเงินฝากธนาคารที่โจทก์เปิดไว้ หากโจทก์อ้างว่าเงินในบัญชีมีส่วนที่เป็นของบุคคลอื่นรวมอยู่ด้วย โจทก์ต้องพิสูจน์ให้ได้ความเช่นนั้น เงินดังกล่าวเป็นจำนวนสูงมาก โจทก์อ้างว่าเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. ซึ่งตามปกตินิติบุคคลย่อมต้องมีการจัดทำบัญชีรับจ่าย บัญชีแสดงรายการเจ้าหนี้และลูกหนี้รวมทั้งงบการเงิน แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าเงินของห้างมีที่มาอย่างไร แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใด การโอนเงินเข้าบัญชีเป็นเงินสำหรับหมุนเวียนในการประกอบการค้าของห้างโจทก์ก็เพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งยอดเงินในวันสุดท้ายของปีเป็นหนี้ธนาคารหรือคงเหลือ 5,000 บาท ก็ไม่อาจสรุปว่าเงินฝากในบัญชีไม่ใช่ของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่ายอดเงินที่เข้าบัญชีมีส่วนที่เป็นของห้างจำนวนเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำยอดเงินฝากเข้าบัญชีภายหลังหักจำนวนเงินที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการชำระค่าสินค้าของห้างเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และหักค่าใช้จ่ายเหมาให้ในอัตราร้อยละ75 โดยงดเบี้ยปรับ จึงถูกต้องและเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5557/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพประกอบพยานหลักฐาน ความผิดฐานพรากผู้เยาว์และกระทำชำเรา ศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่องการอุทธรณ์คัดค้านพยานหลักฐาน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันพรากโจทก์ร่วมที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ ไปจากโจทก์ร่วมที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารและกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งมิใช่ภริยาจำเลยทั้งหกโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเรา อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและจำคุกตลอดชีวิต แม้จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งหกเพื่อพิสูจน์ว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดตามฟ้องและศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองจนกว่าจะพอใจว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดจริง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหมด การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นฝ่ายไปหาจำเลยที่ 1 ที่บ้านของจำเลยที่ 3 เอง และโจทก์ร่วมที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งหกมีเพศสัมพันธ์ เป็นการอุทธรณ์ว่า โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพไม่สมฟ้องนั่นเอง ไม่ใช่เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 หรือเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์อันเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ซึ่งจะต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5258/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมรับข้อกล่าวหาของจำเลย และการชำระหนี้เป็นเงินไทยในคดีทรัพย์สินทางปัญญา
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม บัญญัติว่า จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิแก่จำเลยที่จะฟ้องกลับโจทก์ได้ในคดีเดียวกัน กรณีดังกล่าวจึงต้องมีส่วนคำให้การแก้ข้อกล่าวหาของจำเลยเป็นเบื้องต้น กับส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ ซึ่งเมื่อจำเลยขอถอนฟ้องแย้งโดยมิได้ขอถอนคำให้การด้วย ก็มีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องแย้งเท่านั้น มิได้ทำให้คำให้การของจำเลยสิ้นไปด้วยแต่อย่างใด
โจทก์อ้างว่า จำเลยสั่งซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์รวม 16 ครั้ง ตามตารางคำนวณยอดหนี้เอกสารท้ายฟ้อง จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าไม่ได้ซื้อสินค้าจากโจทก์ ทั้งยังให้การด้วยว่าโจทก์ส่งสินค้าให้แก่จำเลยเป็นเงิน 148,780.98 ดอลลาร์สหรัฐ กรณีจึงถือว่า จำเลยยอมรับข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ และคดีไม่มีประเด็นพิพาทในเรื่องนี้ที่โจทก์จะต้องนำสืบแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของโจทก์ส่วนนี้รับฟังได้ตามฟ้อง โดยที่ไม่จำต้องนำใบแจ้งหนี้มารับฟังเป็นพยานหลักฐาน
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมิได้มีคำขอบังคับให้ชำระเป็นเงินไทยด้วย การที่โจทก์บรรยายฟ้องเทียบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยในวันฟ้องก็เพื่อประโยชน์ในการคิดค่าขึ้นศาลเท่านั้น ในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่จะชำระหนี้เป็นเงินไทยโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่ใช้เงินและเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในวันครบกำหนดชำระเงินแต่ละจำนวน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้มีคำขอและเป็นกรณีพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3878/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล กรณีสินค้าสูญหายจากการบรรจุตู้คอนเทนเนอร์
ใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.14 นั้น โจทก์เป็นผู้อ้างสำเนาใบตราส่งดังกล่าวเป็นพยานของตน และไม่มีคู่ความโต้แย้งความไม่ถูกต้องของสำเนาเอกสารดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ว่าเอกสารหมาย จ.14 เป็นเพียงสำเนาศาลไม่ควรรับฟัง
ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 จัดการขนส่งสินค้าทั้ง 5 กล่อง ที่ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อจากบริษัท ด. ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จำเลยที่ 1 มอบหมายจำเลยที่ 2 ติดต่อขอรับสินค้าทั้ง 5 กล่อง จากผู้ขาย โดยจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.12 ระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่ง หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 3 รับขนส่งและออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.13 ให้จำเลยที่ 2 โดยระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง แต่จำเลยที่ 3 ไม่มีเรือจึงว่าจ้างให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งเงื่อนไขการส่งแบบ FCL/FCL โดยจำเลยที่ 3 รับตู้คอนเทนเนอร์ไปบรรจุสินค้าตามฟ้องรวมทั้งสินค้าอื่นเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ปิดผนึกตู้และนำตู้ดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.14 ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยระบุชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงอยู่ในสถานะเป็นผู้ขนส่งอื่น การที่ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 และ จ.14 ระบุหมายเหตุว่า FREIGHT COLLECT ย่อมหมายความว่า ค่าระวางขนส่งให้เรียกเก็บที่ท่าปลายทางและใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 ที่จำเลยที่ 2 ออกให้แก่ผู้ซื้อระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับตราส่ง แต่ก็มีข้อความด้านล่างระบุว่า เฉพาะการติดต่อขอรับสินค้าให้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 และตามข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ 4 ขนส่งสินค้าตามฟ้องมาถึงท่าเรือกรุงเทพแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้ผู้เอาประกันภัยทราบ ให้ผู้เอาประกันภัยมาติดต่อกับจำเลยที่ 1 และจ่ายค่าระวางเรือให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อจำเลยที่ 4 ให้ออกใบปล่อยสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้รับบำเหน็จค่าระวางเรืออันเนื่องมาจากตกลงรับจ้างจัดการขนส่งสินค้าตามฟ้องรวมการขนส่งด้วย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอันมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งประเภทไม่มีเรือเป็นของตนเองทั้งในการตกลงรับสินค้าตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ก็มิได้แสดงให้ผู้เอาประกันภัยได้ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือผู้ขนส่งรายใด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เข้าร่วมเป็นผู้ขนส่งด้วย
จำเลยที่ 3 รับสินค้าทั้ง 5 กล่อง มาจากจำเลยที่ 2 แล้ว ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.13 และจำเลยที่ 3 มีหน้าที่นำสินค้าทั้ง 5 กล่อง บรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ปิดตู้ผนึกซีลกำกับด้วยหมายเลข นำตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 4 บรรทุกขึ้นเรือเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพท่าปลายทาง ไม่ปรากฏมีร่องรอยการเปิดตู้คอนเทนเนอร์มาก่อนหน้านี้ เมื่อเปิดตู้คอนเทนเนอร์พบว่า สินค้าตามฟ้องมีเพียง 3 กล่อง แสดงว่าสินค้า 2 กล่อง ที่สูญหายไปนั้น มิได้ถูกบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งแต่แรก แสดงว่าสินค้า 2 กล่อง สูญหายไปในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 แต่โจทก์ก็ไม่ได้พยานมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดในลักษณะละเลยหรือไม่เอาใจใส่ อาจมีคนร้ายมาลักเอาสินค้า 2 กล่อง ไปก่อนปิดตู้คอนเทนเนอร์ โดยจำเลยที่ 3 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ไม่ทราบก็เป็นได้ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า ความสูญหายของสินค้าตามฟ้องเกิดขึ้นเพราะความละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยที่ 3 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ทั้งที่รู้ว่าความสูญหายของสินค้าอาจเกิดขึ้นได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งมาบังคับแก่ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องร้องคดีหลักทรัพย์: ประเด็นการบังคับขายหลักทรัพย์, พยานหลักฐาน, และการวินิจฉัยของศาล
ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้ง แต่อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้กล่าวอ้างเพียงพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และเลขมาตรา จำนวน 6 มาตรา เท่านั้น โดยมิได้บรรยายให้ปรากฏในอุทธรณ์ว่า กฎหมายและบทมาตราดังกล่าวมีหลักเกณฑ์สำคัญที่โจทก์จะต้องบรรยายประกอบข้อกล่าวอ้างมาในคำฟ้องด้วยอย่างไร อุทธรณ์ข้อนี้จึงไม่ชัดแจ้งและต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี โดยในข้อ 2 ระบุว่า "......โจทก์ไม่ได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์จึงไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ตามคำฟ้องในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จริง เพราะการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 184 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กระทำได้โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก......" จึงเป็นข้อต่อสู้ในประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่เท่านั้น หาได้ให้การต่อสู้ว่าคำฟ้องของโจทก์ต้องบรรยายข้อเท็จจริงให้เข้าข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 184 จึงจะเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่จำเลยยกขึ้นในชั้นฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงนอกคำให้การถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 5 ท้ายประมวลรัษฎากรระบุว่า "5. กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารค่าอาการแสตมป์ 1 บาท ทุกจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืมหรือตกลงให้เบิกเกินบัญชี" ตามบทบัญญัติดังกล่าวระบุเอกสารไว้เพียง 2 ประเภท คือสัญญากู้เงินกับสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร สัญญากู้เงินมีความแตกต่างจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เนื่องจากการกู้เงินคู่สัญญาย่อมจะทราบจำนวนเงินอันเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญาได้ทันที และสามารถปิดอากรแสตมป์ไปตามจำนวนดังกล่าวได้ แต่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแม้ในทางปฏิบัติจะเรียกว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่ก็มิใช่สัญญากู้เงินทั่วไป เนื่องจากขณะทำสัญญาเป็นเพียงการกำหนดวงเงินที่ลูกหนี้จะทำการก่อหนี้ได้เท่านั้น ส่วนลูกหนี้จะขอกู้และเป็นหนี้ในจำนวนใดยังไม่ทราบแน่ชัดในขณะทำสัญญา บัญชีอัตราอากรแสตมป์จึงระบุไว้ให้ถือเอาวงเงินที่ตกลงให้เบิกเกินบัญชีเป็นจำนวนที่จะคำนวณค่าอากรแสตมป์ หาใช่จำนวนที่เป็นหนี้กันจริงไม่ เมื่อพิจารณาถึงสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ที่กำหนดวัตถุประสงค์ให้บริษัทตัวแทนจ่ายเงินทดรองอันถือเป็นเงินกู้ยืมเพื่อชำระค่าหลักทรัพย์ที่ลูกค้าสั่งซื้อ โดยให้มีการหักทอนบัญชีกันเป็นครั้งคราว หรือบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์นั้นมาวางเป็นประกัน แสดงว่าในขณะทำสัญญายังไม่ทราบจำนวนยอดเงินที่เป็นหนี้ควรทราบแต่เพียงวงเงินที่อนุมัติไว้ตามใบคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งนี้ตามวงเงินจะบังเกิดมีขึ้นหรือไม่ก็ไม่เป็นที่แน่ชัด อยู่ที่การสั่งซื้อของลูกค้าและการหักทอนบัญชีอันจะมีระหว่างคู่สัญญา กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการกู้ตามความประสงค์ของข้อ 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ คงมีลักษณะเป็นเพียงการกำหนดวงเงินเพื่อหักทอนบัญชีเดินสะพัด แต่ข้อ 5 แห่งบัญชีดังกล่าวกำหนดให้การตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารเท่านั้นที่จะเสียค่าอากรแสตมป์ตามยอดที่ตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชี หาได้บัญญัติรวมมาถึงสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ดังที่ปรากฏในคดีนี้ด้วยไม่ และกรณีไม่อาจตีความหมายที่กำหนดไว้ให้ครอบคลุมถึงได้ จึงต้องถือว่าสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัดมิใช่เอกสารที่มีการระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แม้มิได้ปิดอากรแสตมป์ศาลชอบที่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้
จำเลยต่อสู้คดีโดยเริ่มจากคำให้การ การนำสืบพยานจำเลย อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาโดยตลอดว่า สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ฟ้อง เป็นเรื่องบริษัทหลักทรัพย์และตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ต้องปฏิบัติและเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษโดยเฉพาะ แต่ไม่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยว่า บทกฎหมายพิเศษที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างได้บัญญัติให้การสั่งซื้อหรือการบังคับขายหลักทรัพย์จะต้องจัดทำเป็นหนังสือ ในทางตรงกันข้ามกลับปรากฏจากสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจำเลยทำไว้ต่อโจทก์ ในข้อ 1 "...คำว่า "คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ให้หมายความรวมถึง คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยวาจา โดยโทรสาร โทรพิมพ์ หรือโดยวิธีอื่นใด" จึงเห็นได้ว่า คำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือเสมอไป ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยคดีมานั้น จึงหาเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ผิดกฎหมายดังที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อฎีกาไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นตามคำให้การ ข้อ 7 ว่า หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของจำเลยตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยก็สามารถสั่งขายหลักทรัพย์ของตนได้ ดังนั้น หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับขาย จำเลยก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิด อันเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นซึ่งเกิดจากคำให้การ ข้อ 7 ของจำเลยแล้ว ซึ่งหากจำเลยไม่เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งข้อวินิจฉัยในประเด็นนี้ของศาลชั้นต้น แต่จำเลยกลับบรรยายอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อต่อสู้ในคำให้การ ข้อ 7 อยู่ในอุทธรณ์หน้าที่ 14 ข้อ 1.7 ในทำนองว่าศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยให้จำเลยทุกข้อที่จำเลยกล่าวอ้าง ทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ตามประเด็นที่ยกขึ้นในคำให้การแล้ว ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเพราะเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระ จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้ขนส่ง, อุทธรณ์ข้ามทุนทรัพย์, ประเด็นข้อเท็จจริง, ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ผู้ส่งทั้งสองซึ่งเอาประกันภัยสินค้าไว้กับโจทก์ไม่ได้ตกลงไว้โดยชัดแจ้งให้จำเลยผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดตามใบตราส่งได้นั้น เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิมาจากบริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยรายหนึ่ง 133,585.24 บาท และรับช่วงสิทธิมาจากบริษัท พ. ผู้เอาประกันภัยอีกรายหนึ่ง 76,394.38 บาท แม้โจทก์จะฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยรวมมาเป็นคดีเดียวกันก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามฟ้องดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์รับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัยต่างรายกัน จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่แยกต่างหากจากกันโดยสิ้นเชิง ดังนี้ในการพิจารณาสิทธิในการอุทธรณ์ต้องถือทุนทรัพย์ในสิทธิเรียกร้องแต่ละรายที่โจทก์รับช่วงสิทธิแยกกัน เมื่อทุนทรัพย์ที่โจทก์รับช่วงสิทธิมาแต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 41 แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งรับอุทธรณ์ส่วนดังกล่าวมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า แม้สินค้าที่ขนส่งจะเป็นอัญมณีแต่ผู้ส่งทั้งสองได้บอกถึงราคาแก่ผู้ขนส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 620 แล้ว จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดนั้น แม้วินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8194/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบข้อจำกัดความรับผิดนอกเหนือจากที่กล่าวอ้างในฟ้อง ถือเป็นการสืบนอกเหนือคำฟ้องและต้องห้ามอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิตามสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งโจทก์รับช่วงสิทธิมา โดยในใบตราส่งที่โจทก์แนบท้ายฟ้องไม่ได้แนบข้อตกลงด้านหลังใบตราส่งไว้ด้วย จึงไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงกันให้จำกัดความรับผิดดังอ้างไว้ในใบตราส่ง
การที่โจทก์นำสืบใบตราส่งที่มีเนื้อความด้านหลังเป็นพยาน พร้อมกับอ้างว่าจำเลยไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ได้เพราะด้านหลังใบตราส่งดังกล่าวระบุในเรื่องความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ในหัวข้อความรับผิดในกรณีสินค้าได้รับความเสียหายหรือสูญหายระหว่างการขนส่งไว้ว่าให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1992 และนำสืบด้วยว่ากฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1992 จำกัดความรับผิดไว้สูงกว่าตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 นั้น ถือเป็นการนำสืบในปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาในฟ้องเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสยกข้อต่อสู้ปัญหาข้อนี้ว่ามีข้อเท็จจริงอื่นอีกหรือไม่ไว้ในคำให้การเพื่อให้เกิดเป็นปัญหาข้อพิพาทขึ้น ทางนำสืบดังกล่าวจึงเป็นการสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อดังกล่าวจึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172-3173/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม - ประเด็นความรับผิดนายจ้าง/ตัวแทน - การแก้ไขคำพิพากษา
คดีในสำนวนที่สองศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 49,150 บาท ฎีกาของโจทก์ในสำนวนที่สองจึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีในสำนวนแรกเมื่อวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียวแล้ว จึงทำให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในสำนวนที่สองที่ว่า นาย ว. ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยมีส่วนประมาทหนึ่งในสามส่วน และจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทสองในสามส่วน ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกา เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคแรก โดยถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ฟังว่า จำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในสำนวนที่สอง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยหาได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนกระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการด้วยไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 และนาง บ. เป็นตัวแทนในการนำรถไปประกอบการขนส่งส่วนบุคคลในนามของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดนั้น จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ถึงแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะวินิจฉัยให้เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการไม่ชอบ การที่โจทก์ยังคงฎีกาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในเนื้อหาดังเช่นที่โจทก์อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
แม้การพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่คดีนี้ประเด็นในชั้นฎีกามีเพียงว่า นาย ว. ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่เท่านั้น จึงไม่จำต้องรอฟังผลคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2083/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทน, ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล, การส่งมอบสินค้า, ความเสียหายสินค้า
หนังสือมอบอำนาจมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญระบุว่า บริษัทโจทก์โดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนขอแต่งตั้งและมอบอำนาจให้ ถ. และหรือ ส. เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของบริษัทในกิจการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้รวม 9 ข้อ โดยในข้อ 2 ระบุให้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญาหรือคดีอื่นใดทุกประเภทต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ทุกศาลทั่วราชอาณาจักร เป็นการมอบอำนาจให้ ถ. และหรือ ส. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้หลายประการ ทั้งได้ระบุให้มีอำนาจที่จะฟ้องคดีและดำเนินคดีทุกประเภทต่อศาลทุกศาลไว้โดยชัดแจ้งโดยไม่จำกัดตัวบุคคลที่จะต้องถูกฟ้อง การมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ที่รวมถึงให้ยื่นฟ้องต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) ด้วย ทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเช่นนี้ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด ถ. และหรือ ส. จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามแทนโจทก์
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยไม่ได้อ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน คดีไม่มีประเด็นเรื่องตัวการตัวแทน การที่โจทก์อุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวเป็นอุทธรณ์นอกเหนือประเด็นข้อพิพาท ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหาย ถ้าเหตุแห่งการเสียหายนั้นเกิดขึ้นระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตน และวรรคสองบัญญัติให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40 ดังนั้น ตราบใดที่สินค้าพิพาทยังมิได้ส่งมอบแก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งหรือส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ตามกฎหมายหรือกฏข้อบังคับที่ใช้ ณ ท่าเรือกรุงเทพอันเป็นท่าปลายทาง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งจึงยังไม่สิ้นสุดลง
of 31