คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 302 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6067/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนายกที่ดินเป็นทางสาธารณะ การใช้ประโยชน์ร่วมกันถือเป็นการยกให้โดยปริยาย แม้ไม่มีหนังสือ
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่า ในที่ดินจำเลยทั้งสองไม่มีส่วนใดที่มีการใช้เป็นทางเดินเข้าออกและจำเลยทั้งสองไม่เคยยินยอมให้ใช้ที่ดินจำเลยทั้งสองเป็นทางเข้าออกด้วย คดีจึงมีประเด็นเพียงว่าโจทก์ทั้งสี่และชาวบ้านได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะหรือไม่ ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองเอื้อเฟื้อให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ จึงเป็นการอุทธรณ์นอกประเด็นข้อต่อสู้ในคำให้การ และที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่เป็นฟ้องเคลือบคลุมเพราะไม่แน่ชัดว่าโจทก์ฟ้องเรื่องภาระจำยอมหรือทางสาธารณะนั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ในขณะชาวบ้านในหมู่บ้านช่วยกันทำทางพิพาทในปี 2535 จำเลยทั้งสองรู้เห็นยินยอม และหลังจากทำทางพิพาทแล้ว จำเลยทั้งสองก็ได้ใช้ประโยชน์ในทางพิพาทร่วมกับชาวบ้านในหมู่บ้านซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสี่ด้วย ในสภาพและลักษณะการใช้งาน ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนายกทางพิพาทในส่วนที่อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางสาธารณะร่วมกับทางพิพาทในส่วนที่อยู่ในเขตที่ดินของ ส. แล้วโดยปริยาย โดยไม่ต้องมีการทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนการยกให้ต่อเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิปิดกั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5988/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีภาษีป้าย: การจำกัดการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงเมื่อมีหนังสือแจ้งการประเมินหลายฉบับ และประเด็นเจ้าของป้าย
โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายไปยังจำเลยจำนวน 2 ฉบับ ทุนทรัพย์ในการอุทธรณ์จึงต้องแยกพิจารณาตามหนังสือแจ้งการประเมินแต่ละฉบับ เพราะการประเมินภาษีป้ายแต่ละป้ายแต่ละปีภาษีสามารถแยกจากกันได้ ดังนั้น ภาษีป้ายตามหนังสือแจ้งการประเมินซึ่งมีทุนทรัพย์ที่พิพาท 15,400 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 25 จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของป้ายตามฟ้อง คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเป็นเจ้าของป้ายตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเจ้าของป้ายตามฟ้อง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเป็นการไม่ชอบและถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจาณราคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4596/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าต้องมีชื่อเสียงแพร่หลาย การโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตและเคเบิลทีวีอาจไม่เพียงพอ
โจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 479038 มีเจตนาไม่สุจริต แต่ปรากฏว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะรับอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้ขึ้นมาด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ไม่รับวินิจฉัยให้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ในการพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น ย่อมจะต้องพิจารณาจากการจำหน่ายสินค้า การใช้ หรือการโฆษณาเครื่องหมายจนเป็นที่แพร่หลายทำให้สาธารณชนทั่วไป หรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี และเครื่องหมายนั้นจะต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค
พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมานั้น ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานในปี 2545 และเป็นการโฆษณาสินค้าบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงการออกรายการในโทรทัศน์ระบบเคเบิล ซึ่งไม่แน่ว่าสาธารณชนทั่วไป หรือแม้แต่สาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับกีฬากอล์ฟในประเทศไทย หรือผู้บริโภคทั่วไปจะเข้าถึงการโฆษณาและการออกรายการดังกล่าวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงยังไม่พอรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์คำว่า "Golf Channel" เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4595/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น และผลของการมิได้แจ้งการมอบอำนาจในคำร้องคัดค้าน
ตามคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาด ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์จึงเป็นผู้มีสิทธิตามระเบียบการประมูลซื้อทรัพย์ โดยไม่ได้กล่าวอ้างเรื่องที่ผู้ร้องมอบอำนาจให้ ท. เข้าเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์แทนผู้ร้องไว้ในคำร้องแต่อย่างใด ผู้ร้องเพิ่งยกเรื่องการมอบอำนาจดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ กรณีจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4590/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์: การคุ้มครองงานที่จัดทำขึ้นก่อนมีกฎหมายใหม่ และขอบเขตการฟ้องละเมิด
มาตรา 78 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ และไม่มีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมฯ และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงเห็นได้ว่า มาตรา 78 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แต่ลิขสิทธิ์ของนักแสดงเป็นสิทธิข้างเคียง (Related Rights หรือ Neighboring Rights) ของลิขสิทธิ์ แม้จะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์เช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่สิทธิอย่างเดียวกันกับลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ยังได้บัญญัติแยกลิขสิทธิ์ไว้ในหมวด 1 และสิทธิของนักแสดงไว้ในหมวด 2 ทั้งเมื่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ประสงค์ให้ใช้บังคับบทบัญญัติใดแก่ทั้งลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดงระหว่างประเทศ และมาตรา 62 - 66 ในหมวด 6 ว่าด้วยคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง นอกจากนี้ในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิของนักแสดง ก็มีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับประเภทของสิทธินักแสดง เงื่อนไขแห่งการได้มาซึ่งสิทธิ อายุแห่งการคุ้มครอง การโอนสิทธิ การละเมิดสิทธิของนักแสดงและข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิตามมาตรา 44 ถึงมาตรา 52 แม้กฎหมายจะบัญญัติให้นำบทบัญญัติข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิ์มาใช้บังคับแก่สิทธิของนักแสดงโดยอนุโลมตามมาตรา 53 ก็ตาม ฉะนั้น การแสดงหรือบันทึกการแสดงของนักแสดงที่ได้จัดทำขึ้นก่อนการใช้บังคับของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จึงไม่ได้รับความคุ้มครอง การที่โจทก์รับจ้างขับร้องเพลงโดยบันทึกเสียงในห้องบันทึกระหว่างปี 2496 - 2510 ไม่ว่าจะมีสิทธิของนักแสดงหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่อยู่ภายในขอบเขตการคุ้มครองของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานละเมิดสิทธิของนักแสดงของโจทก์ ไม่ใช่ละเมิดลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง (มาสเตอร์เทป) และไม่ใช่กรณีพิพาทกันในเรื่องลิขสิทธิ์ในงานเพลงและสิ่งบันทึกเสียง (มาสเตอร์เทป) ที่เก็บไว้ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียวในงานเพลงและสิ่งบันทึกเสียง มาสเตอร์เทป) พิพาทจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ในคดีทรัพย์สินทางปัญญา และอายุความของค่าเสียหายจากสัญญา
ในคำให้การของจำเลยก็ดี ในทางนำสืบของจำเลยก็ดี ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่ากิจการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของจำเลยตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ทำกับโจทก์นั้นประสบภาวะขาดทุนโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสาเหตุเกิดจากอะไร สัญญาดังกล่าวไม่เป็นธรรมอย่างไร และโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตอย่างไร ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์โดยให้รายละเอียดว่า การที่โจทก์คิดค่าใช้สิทธิจากจำเลยเพิ่มเติมในส่วนจำนวนน้ำมันที่จำเลยซื้อจากโจทก์ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดไว้ในสัญญาอีก จึงไม่เป็นธรรมต่อจำเลยและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กิจการของจำเลยประสบกับภาวะขาดทุนเพราะสภาพเศรษฐกิจนั้น อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ประกอบด้วยมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีน้ำมัน โดยเรียกเงินค่าเสียหายจากจำเลยคือ เงินค้างชำระเกี่ยวกับค่าใช้สิทธิ ค่าซื้อสินค้า ค่าส่งเสริมการขาย และค่าซ่อมอุปกรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องจากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิทั้งสิ้น นอกจากนี้น้ำมันซึ่งโจทก์ส่งมอบให้จำเลยก็มิใช่สินค้าที่มีลักษณะเป็นการซื้อมาขายไปเป็นปกติธุระของโจทก์ เพราะต้องมีการควบคุมปริมาณและคุณภาพตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ค่าเสียหายตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เรื่องผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี สัญญาให้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4581/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยในการขนส่งทางทะเล และข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามกฎหมาย
พายุไห่เยี่ยนเป็นพายุที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทะเลจีนใต้และมิใช่พายุที่มีความรุนแรงมิอาจคาดหมาย ทั้งก่อนออกเรือนายเรือก็ทราบข่าวพยากรณ์อากาศว่าจะเกิดคลื่นลมแรง นายเรือยังอาจหลีกเลี่ยงไม่ไปเผชิญกับพายุโดยหยุดเรือรอจนกว่าคลื่นลมสงบก่อนก็ได้ กรณีจึงไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือ
โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิตามสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งโจทก์รับช่วงสิทธิมาโดยแนบใบตราส่งเป็นเอกสารท้ายฟ้องซึ่งไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงกันให้ใช้ HAGUE RULES ในใบตราส่งที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้องด้วย จึงเท่ากับว่าโจทก์ไม่เคยกล่าวอ้างว่า ในสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างผู้ส่งกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งมีข้อตกลงกันให้ใช้ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตาม HAGUE RULES ซึ่งกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าเกินกว่า 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือเกินกว่า 30 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม อันเป็นข้อจำกัดความรับผิดโดยผลของมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาใช้กับการขนส่งครั้งพิพาทด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4062/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ฎีกาประเด็นใหม่ที่ไม่เคยยกขึ้นว่ากันในศาลล่าง ถือเป็นการต้องห้ามฎีกาตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิด โดยลักรถยนต์คันพิพาทไปขณะที่ออกเวรปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้ว อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะส่วนตัว กับบรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างดูแลทรัพย์สินและรักษาความปลอดภัยในบริเวณที่เกิดเหตุ อันเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์แยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นปัญหาดังกล่าวให้เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3088/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิทธิสมาชิกสนามกอล์ฟ, การบอกเลิกสัญญา, สิทธิคืนเงิน, และอายุความดอกเบี้ย
ปัญหาเรื่องค่าสมาชิกสนามกอล์ฟแยกต่างหากจากสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเป็นสำคัญ เมื่อตามคำฟ้อง คำให้การและข้อที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยต้องคืนค่าที่ศาลพิพากษาและค่าสนามกอล์ฟให้โจทก์ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเกี่ยวกับสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟและไม่ต้องคืนเงินค่าสมาชิกสนามกอล์ฟให้แก่โจทก์ได้
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งกรณีนี้หมายรวมถึงการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟที่ต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่ได้ชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์เป็นดอกเบี้ยตามมาตรา 391 วรรคสอง อันเนื่องจากโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา จึงไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1)
เมื่อสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเกิดแต่โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา จึงเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่โจทก์เรียกคืนอันเป็นส่วนที่เป็นหนี้ประธานสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจึงมีอายุความและเริ่มนับอายุความเช่นเดียวกันกับหนี้ประธาน สิทธิเรียกร้องเงินค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่โจทก์เรียกคืนจากจำเลยยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนที่เป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟอันเป็นส่วนที่เป็นหนี้ประธานย่อมไม่ขาดอายุความไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2936/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์/ฎีกาไม่ชัดเจน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นใหม่ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลอุทธรณ์
อุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้ให้เหตุผลโดยชัดแจ้งว่า ที่ศาลชั้นต้นยกเหตุต่างๆ ที่แสดงว่า ง. ไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์นั้นไม่ชอบอย่างไร พยานหลักฐานอื่นที่แสดงว่าโจทก์ได้รับมอบที่ดินพิพาทในวันแต่งงานดังที่โจทก์อ้าง โจทก์ก็ไม่ได้ระบุไว้ในอุทธรณ์ ดังนั้น อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้จึงไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์รับพิจารณาประเด็นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ดังนั้น ฎีกาโจทก์ที่ว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อว่า ง. ได้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์จริง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 31