คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 302 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2552-2554/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามกฎหมายแรงงาน: โจทก์อุทธรณ์ประเด็นใหม่นอกเหนือเหตุผลที่ศาลแรงงานกลางยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางยกฟ้องโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานให้ศาลแรงงานกลางเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ฟังข้อเท็จจริงหรือใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบอย่างไรและไม่สุจริตอย่างไร แต่โจทก์กลับอุทธรณ์ว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ไม่มีบทบัญญัติให้คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นที่สุด และไม่ต้องห้ามใช้สิทธินำคดีไปสู่กระบวนการยุติธรรม และการตีความว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุดนั้น เป็นคำสั่งทางปกครองที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในเหตุผลที่ยกฟ้องโจทก์ แต่กลับนำเรื่องอำนาจฟ้องที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้ตัดสิทธิมาอุทธรณ์ และยกเรื่องที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางมาเป็นข้ออุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2099/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุกล้ำที่ดิน, ประมาทเลินเล่อ, ค่าเสียหาย, การชดใช้ค่าเสียหาย, การรับโอนกรรมสิทธิ์
ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องนั้น จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เพราะที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ส. อยู่เนื่องจากโจทก์กับนาย ส. สมรู้ร่วมกันแสดงเจตนาลวงว่าทำการซื้อขายกัน เพื่อเป็นข้ออ้างของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเรียกค่าเสียหายนิติกรรมระหว่างโจทก์กับนาย ส. จึงเป็นโมฆะ ตามคำให้การจำเลยดังกล่าวมิได้มีประเด็นพิพาทว่า โจทก์ซื้อที่ดินแทนบริษัท จ. จำกัดแต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะปรากฏว่ามีการยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ศาลชั้นต้นดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าประเด็นที่จำเลยหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ดังที่จำเลยฎีกากล่าวอ้างมานั้น เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งนั้นจะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละปัญหากรณีๆ ไป หาใช่ว่าเมื่อเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งแล้ว จะต้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนทุกกรณีไม่ คดีนี้การที่จำเลยหยิบยกปัญหาว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เองหรือซื้อแทนบริษัท จ. จำกัด ขึ้นในชั้นอุทธรณ์เพื่อตั้งประเด็นข้อต่อสู้ว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมิได้เป็นของโจทก์อีกทั้งบริษัท จ. จำกัด ผู้ซื้อมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น แม้จะเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องก็ตาม แต่ก็หาใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1427/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้บริการขนส่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) ป.รัษฎากร การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อการรับ-ส่งผู้โดยสารกระทำในนามของโจทก์และโจทก์เป็นผู้รับค่าโดยสารแล้วแบ่งให้แก่พนักงานขับรถและเจ้าของรถร่วมตามอัตราร้อยละที่ตกลงกันไว้ การให้บริการของโจทก์จึงเป็นการให้บริการขนส่ง เมื่อเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ)
คำฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1427/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้บริการขนส่งทางบกได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ) และประเด็นการงดลดเบี้ยปรับ
โจทก์ประกอบกิจการรถยนต์บริการรับ - ส่งผู้โดยสาร ณ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ผู้โดยสารจะติดต่อว่าจ้างโจทก์และโจทก์ได้รับค่าโดยสารจากผู้โดยสารตามอัตราที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนด โดยรถยนต์ที่ใช้มีทั้งที่เป็นของโจทก์เอง เช่าจากบุคคลอื่น และรถร่วม รถยนต์ที่เป็นของโจทก์ พนักงานขับรถจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 12 ของค่าโดยสาร ส่วนรถยนต์ที่เช่าจากบุคคลอื่น พนักงานขับรถจะได้ค่าตอบแทนร้อยละ 80 และ ร้อยละ 77 ของค่าโดยสาร เนื่องจากพนักงานขับรถจะต้องรับผิดชอบค่าเช่า ค่าซ่อม ค่าทางด่วน ค่าน้ำมัน ค่าแบตเตอรี่และค่ายางรถยนต์เอง สำหรับรถร่วมนั้นเป็นรถยนต์ของบุคคลอื่นที่นำมาวิ่งรับ - ส่งผู้โดยสารในนามของโจทก์ ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 75 ของค่าโดยสาร โดยจะคำนวณและจ่ายค่าตอบแทนให้ทุก 15 วัน เมื่อการรับ - ส่งผู้โดยสารกระทำในนามของโจทก์ และโจทก์เป็นผู้รับค่าโดยสารแล้วแบ่งให้แก่พนักงานขับรถและเจ้าของรถร่วมในอัตราร้อยละที่ตกลงกันไว้ การให้บริการของโจทก์จึงเป็นการให้บริการขนส่ง และเมื่อเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ)
คำฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะขัดต่อระเบียบภายในกรมสรรพากร
แม้โจทก์จะมอบอำนาจให้ น. ไปสละประเด็นที่ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว คงติดใจเฉพาะกรณีขอให้ลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม แต่คำฟ้องของโจทก์ในประเด็นที่ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ได้กระทำภายใน 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีนั้นเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยฝ่าฝืนมาตรา 88/6 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีอำนาจประเมิน ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลในประเด็นดังกล่าวได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน ข้อที่โจทก์สละสิทธิการอุทธรณ์เฉพาะในประเด็นขอยกเลิกการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องศาลแต่อย่างใด
โจทก์ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย แต่ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิดังกล่าวก็มีมูลค่าที่โจทก์พึงได้รับอันเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษีนั้นเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 86/13 วรรคสอง สำหรับกรณีโจทก์ขายสินค้าให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก โจทก์จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 เฉพาะการขายสินค้าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโจทก์จึงไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 โดยต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราปกติตาม ป.รัษฎากร มาตรา 80 ส่วนกรณีโจทก์ยกเลิกใบกำกับภาษีโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.รัษฎากร โจทก์ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษีเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 86/13 วรรคสอง ใบกำกับภาษีที่โจทก์ยกเลิกโดยไม่ถูกต้องจึงมีมูลค่าที่โจทก์พึงได้รับ และเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยแสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่โจทก์พึงได้รับตามความหมายของมาตรา 88/6 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อนำยอดขายตามแบบแสดงรายการภาษีที่โจทก์ยื่นไว้เปรียบเทียบกับยอดขายตามผลการตรวจสอบอันถือว่าเป็นมูลค่าที่โจทก์พึงได้รับแล้ว ปรากฏว่าโจทก์แสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่พึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดขายที่แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษี กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 88/6 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินได้ภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี
ระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ.2539 มิใช่กฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินปฏิบัติฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ย่อมเป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย การประเมินที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบแต่เป็นไปตาม ป.รัษฎากร มิได้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ประเด็นนี้โจทก์มิได้กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้องจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10217/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: ผลผูกพันคำวินิจฉัยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และข้อจำกัดการอุทธรณ์
มูลเหตุเลิกจ้างคดีนี้เป็นมูลเหตุเดียวกันกับคดีที่โจทก์ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่าการเลิกจ้างของจำเลยไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ หากโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยก็ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอน คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นที่สุด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การปฏิเสธว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น ดังนั้นคดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางขึ้นอ้างเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10077/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามอุทธรณ์ เหตุอ้างเหตุใหม่ในชั้นอุทธรณ์ หลังให้การในศาลชั้นต้นไปแล้ว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การยกเหตุแห่งการปฏิเสธในประเด็นฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่เพียงว่าโจทก์บรรยายฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยประกอบธุรกิจและมีผลประโยชน์ร่วมกัน มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งแยกกันได้เป็นคนละมูลหนี้ โจทก์ไม่สามารถนำมาฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้แบ่งแยกว่าหนี้ใดเป็นของจำเลยที่ 1 หนี้ใดเป็นของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถเข้าใจว่าหนี้ดังกล่าวเป็นมูลหนี้อะไรตามสัญญาใด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกเหตุที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมกลับกล่าวอ้างว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าหนี้ที่ถึงกำหนดชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความงวดใดถึงกำหนดชำระ งวดใดยังไม่ถึงกำหนดชำระ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคนละเหตุกับที่ได้ให้การไว้ในศาลชั้นต้น จึงถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7778/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์, การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง, และสิทธิภาระจำยอมในที่ดิน
แม้เดิมศาลชั้นต้นจะรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลงโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ก็ตาม แต่ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้งดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และมีคำสั่งใหม่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เฉพาะในส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา เท่านั้น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 แต่เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 คู่ความสามารถอุทธรณ์ได้ทันทีตามวรรคสุดท้ายของมาตรา 18 โดยต้องอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 (3) วรรคสอง แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 1 เพิ่งอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมายเกือบ 2 ปี จำเลยที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์ในปัญหาส่วนฟ้องแย้งที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนแล้ว จึงถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลง มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนฟ้องแย้งที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ตามที่โจทก์ล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นแล้ว
ที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 อยู่ติดกัน เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ซึ่งเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. บิดาของจำเลยที่ 1 และ ส. และตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบมาก็ยอมรับว่าบ้านเลขที่ 38 ที่ปลูกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์นั้น จ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปี มาแล้ว และพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้พร้อมกับบุตรซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วย ตั้งแต่ที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 แล้ว จ. จึงยกที่ดินส่วนที่มีบ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 19367 และที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19368 จึงทำให้บ้านเลขที่ 38 ของจำเลยที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์มาจากการรับซื้อฝากจาก ว. หลานของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฟ้องแย้งไม่ เพราะเห็นได้ว่าเป็นการครอบครองฉันญาติพี่น้องตามที่ครอบครองมาแต่เดิม มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองเพื่อเอากรรมสิทธิ์แต่อย่างใด
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกบ้านเลขที่ 38 แต่ จ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างและอยู่อาศัยมาก่อนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ก่อนที่จะมีการแบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ซึ่งต่อมาตกเป็นของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ทำให้บ้านเลขที่ 38 ซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ปลูกบ้านเลขที่ 38 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ แต่บ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นของโจทก์ จึงต้องถือว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นการปลูกรุกล้ำโดยสุจริต กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 38 ส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ออกไปจากที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหายได้เพราะมิใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนสิทธิในที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านรุกล้ำเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องโดยใช้สิทธิดังกล่าวบังคับจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7017/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าซ้ำกันละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ศาลแก้ไขคำพิพากษาให้จำกัดขอบเขตการชดใช้ค่าเสียหาย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ใช้คำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures) ชื่อบริษัทในเครือเป็นชื่อทางการค้า และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ในต่างประเทศ ก่อนที่จำเลยที่ 1 เริ่มใช้ชื่อนิติบุคคลของตน และจำเลยที่ 2 ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งโจทก์ดำเนินธุรกิจการค้าครอบคลุมไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วย โจทก์จึงมีสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)" ในประเทศไทยดีกว่าจำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ ทั้งยังมีการใช้คำว่า "ยูนิเวอร์แซล" ในการดำเนินธุรกิจ การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อนิติบุคคลว่า "บริษัทยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด" จึงทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "UPT Universal Pictures (Thailand) Co., Ltd." ซึ่งมีคำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures) รวมอยู่ด้วย ย่อมจะทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องทางการค้ากับโจทก์ โจทก์ในฐานะที่ใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการในคำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)" มาก่อน ย่อมจะมีสิทธิห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อนิติบุคคลได้ แม้ปัจจุบันนี้โจทก์จะไม่ได้จดทะเบียนสาขาชื่อเดียวกันในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์จะไม่มีการประกอบธุรกิจการค้าในประเทศไทย อันจะทำให้เป็นการไม่มีการแข่งขันกับกิจการของโจทก์สำหรับการพิจารณาว่าสาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดหรือไม่ นั้น ศาลย่อมพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในสำนวน รวมทั้งคำเบิกความของพยานบุคคลและวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องรับฟังเฉพาะความรู้สึกหรือความเข้าใจของพยานบุคคลที่นำเข้าสืบเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 โดยห้ามใช้คำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส" และอักษรโรมันคำว่า "Universal Pictures" กับชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 เพียงแต่ให้สิทธิโจทก์ร้องขอต่อศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อนิติบุคคลคำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส" และอักษรโรมันคำว่า "Universal Pictures" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในการบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และไม่อาจกระทำได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) เป็นเหตุให้ไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คงบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ยุติการใช้คำว่า "ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส" และอักษรโรมันคำว่า "Universal Pictures" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เท่านั้น
อนึ่งโจทก์แก้อุทธรณ์โดยขอให้แก้ไขคำพิพากษาที่ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกับขอให้จำเลยที่ 2 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวและให้เหตุผลไว้โดยชัดแจ้งแล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยหรือเห็นว่าเป็นคำพิพากษาที่ไม่ถูกต้องและต้องการขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ไขในประเด็นดังกล่าว โจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มิใช่เพียงตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ ทั้งกรณีหาใช่เป็นเรื่องที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามที่โจทก์กล่าวอ้างด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6961/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงหักบัญชีหนี้บัตรเครดิตจากเงินฝาก และข้อจำกัดการอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225
แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่เมื่อจำเลยรับสำเนาคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาของโจทก์แล้วไม่ค้าน และศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลฎีกา พออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
จำเลยหักบัญชีสะสมทรัพย์ของโจทก์เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตที่โจทก์ค้างชำระ เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงตามคำขอเป็นผู้ถือบัตรเครดิตที่ระบุว่า "ในกรณีผู้ถือบัตรค้างชำระเงิน... ผู้ถือบัตรยินยอมให้ธนาคารนำภาระหนี้บัตรเครดิตที่คงค้างไปหักบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตรทุกประเภทที่มีอยู่กับธนาคารได้ตามที่ธนาคารเห็นสมควรโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือบัตรอีก..." หาใช่เป็นการหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 โดยไม่มีข้อตกลงระหว่างกันไม่ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะหักบัญชีสะสมทรัพย์ของโจทก์ได้ แม้หนี้บัตรเครดิตจะขาดอายุความแล้วก็ตามนอกจากนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวยังเป็นข้อตกลงที่เกี่ยวกับประโยชน์ระหว่างคู่สัญญาไม่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอกและไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
of 31