คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 302 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1119/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดทุนทรัพย์อุทธรณ์-ความสัมพันธ์จำเลย-การรับผิดร่วม: ศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยและค่าเหล็กตัวซีรวมเป็นเงิน 204,850 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 156,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 150,000บาท นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3ในชั้นอุทธรณ์เป็นเงินเพียง 48,100 บาท เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยในส่วนนี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างเหมาก่อสร้างงานบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาล แล้วจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างแทนทั้งหมด ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2540 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ่อเติมอากาศ เป็นการบรรยายข้ออ้างว่ามีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามแล้ว ประกอบกับคำขอบังคับท้ายฟ้องโจทก์ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยและค่าเหล็กตัวซีด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้กล่าวอ้างว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสามมีนิติสัมพันธ์กันตามกฎหมายแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เป็นอุทธรณ์นอกฟ้องและเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7317/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงใหม่นอกเหนือจากที่ยกขึ้นว่ากันในศาลล่าง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ที่พิพาทไม่ใช่เป็นของจำเลยแต่เป็นของผู้ร้อง โดยผู้ร้องชำระราคาครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาซื้อขายหลังจากนั้นผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์จนได้สิทธิครอบครองประเด็นตามคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง จึงมีว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่พิพาทโดยซื้อมาจากจำเลยแล้วหรือไม่การที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า หลังจากทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทแล้ว จำเลยสัญญาว่าจะดำเนินการจดทะเบียนโอนที่พิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้แก่ผู้ร้องในภายหลัง เท่ากับอ้างว่าสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตามที่อ้างมาในคำร้องขัดทรัพย์ จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำร้องขัดทรัพย์ ถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่มีสิทธิฎีกา แม้ต่อมาผู้ร้องฎีกาก็ถือว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขาย-เช่าซื้อ: การรับซื้อคืนและการคำนวณหนี้คงค้างตามสัญญา
จำเลยยื่นคำให้การและนำสืบเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ชัดเจนว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจนเวลาล่วงเลยไปปีเศษนับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายเป็นผลให้เครื่องเรียงพิมพ์ที่เช่าซื้อเสื่อมสภาพ เสื่อมราคาและตกรุ่น จำเลยนำออกจำหน่ายไม่ได้จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนผิดสัญญาเช่าซื้อที่ผ่อนเวลาการบอกเลิกสัญญาออกไปปีเศษทำให้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อเสียหายบางส่วนและทำให้จำเลยเสียโอกาสที่จะจำหน่ายทรัพย์สินที่เช่าซื้อดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนผิดนั้น จึงเป็นการหยิบยกเรื่องที่เป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นวินิจฉัย และแม้คู่ความจะแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์รวม 32 งวด ก็ไม่ทำให้ประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ยุติตามข้อเท็จจริงที่แถลงรับกัน ข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
จำเลยขายเครื่องเรียงพิมพ์กราฟิคแก่โจทก์เพื่อนำไปให้บริษัท ว. เช่าซื้ออีกทอดหนึ่งโดยจำเลยทำหนังสือสัญญารับซื้อคืนกับโจทก์ว่า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อจนเป็นเหตุให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ถ้าผู้ให้เช่าซื้อต้องการและแจ้งให้ผู้รับซื้อคืนทราบเป็นหนังสือ ผู้รับซื้อคืนจะรับซื้อทรัพย์สินที่เช่าซื้อดังกล่าวซึ่งยึดกลับคืนมาในสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นในราคาเท่ากับจำนวนเงินคงค้างทุกจำนวนตามบัญชีที่ผู้เช่าซื้อยังต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อ ดังนั้น เมื่อบริษัท ว. ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดเครื่องเรียงพิมพ์ที่เช่าซื้อกลับคืนพร้อมกับส่งมอบให้แก่จำเลย จำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระตามหนังสือสัญญารับซื้อคืนก็คือเงินคงค้างทุกจำนวนที่บริษัท ว. ต้องชำระแก่โจทก์ ณ วันที่โจทก์ยึดเครื่องเรียงพิมพ์ที่เช่าซื้อกลับคืน แต่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบเพียงว่าจำนวนเงินคงค้างทุกจำนวนตามบัญชีที่บริษัท ว. ค้างชำระอยู่เป็นเงิน 145,418.45 บาท โดยมิได้แสดงรายละเอียดแห่งหนี้ว่าเป็นการค้างชำระหนี้รายการใดบ้าง จำนวนเท่าใด จึงต้องถือจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่โจทก์ควรได้รับตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์กล่าวยืนยันในคำฟ้องคือ 882,605.52 บาท เป็นยอดสุทธิหักด้วยเงินค่าเช่าซื้อ 32 งวด จำนวน 839,456 บาท ที่โจทก์ได้รับแล้ว จึงคงเหลือหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์เพียง 43,149.52 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6200/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ก่อน พ.ร.ฎ.ฉบับใหม่ แม้ไม่คัดค้านผลวิเคราะห์ เจ้าพนักงานประเมินก็ต้องปฏิบัติตาม
ขณะโจทก์ทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้าง โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 236) พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 ต่อมามี พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2540 กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 9 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่นแล้วเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 แต่มาตรา 4 ของ พ.ร.ฎ. ฉบับที่ออกภายหลังดังกล่าวกำหนดให้ มาตรา 3 แห่ง พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 236) พ.ศ. 2534 ยังคงใช้บังคับต่อไปสำหรับการขายสินค้าหรือบริการที่กระทำไปก่อนวันที่ พ.ร.ฎ. ฉบับหลังใช้บังคับ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด เมื่อสัญญาจ้างเหมาระหว่างโจทก์กับผู้ว่าจ้างทำขึ้นก่อน พ.ร.ฎ (ฉบับที่ 309) ใช้บังคับ มีการชำระค่าบริการตามส่วนของบริการที่ทำและได้มีการชำระค่าบริการบางส่วนแล้วก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2540 ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำขอสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อไป ภายในกำหนดเวลาที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบกิจการภายใต้เงื่อนไขตามข้อ 1 (3) และข้อ 2 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 309) แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นคำคัดค้านผลการวิเคราะห์แบบคำขอรับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายต้องเปลี่ยนแปลงไปไม่
จำเลยอุทธรณ์ว่า คำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นที่สุด ตามข้อ 4 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว แต่จำเลยมิได้ยกประเด็นขึ้นต่อสู้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงเรื่องอำนาจศาลและกฎหมายที่ใช้บังคับในสัญญากู้เงิน และการห้ามอุทธรณ์ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น
ข้ออ้างของจำเลยที่ตกลงกันในสัญญากู้เงินให้ศาลของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีและใช้กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ในการตีความสัญญาหรือการฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับสัญญาเงินกู้ ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักการแสดงเจตนาของคู่กรณีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 13 เท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ทุนทรัพย์ในคดีมีจำนวน 46,497,247.86 บาท ส่วนค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์นั้นมีจำนวนเพียง 100,000 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.215 ของจำนวนทุนทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่อาจกำหนดค่าทนายความให้ในอัตราขั้นสูงได้ถึงร้อยละ 5 ของจำนวนทุน ค่าทนายความดังกล่าวจึงไม่สูงเกินส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4463/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี และประเด็นการลดเบี้ยปรับ
แม้ฟ้องโจทก์ตอนต้นจะบรรยายว่าโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์ในฐานะตัวแทนของบริษัท เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า โจทก์มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ 1,126,760 บาท จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 33,802.80 บาท เท่านั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินสั่งให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นเงิน 121,772 บาท นั้น โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะโจทก์ไม่จำเป็นต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน 87,971.49 บาท และโจทก์ได้บรรยายฟ้องตอนท้ายว่าโจทก์ยอมชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ 33,802.80 บาท โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะส่วนเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน87,971.49 บาท แม้ศาลภาษีอากรกลางจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็หมายถึงการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะเรื่องเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเท่านั้น หาได้มีความหมายถึงตัวค่าภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
โจทก์ซื้อที่ดิน รับโอนที่ดินและห้องชุดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บริษัท ส. แล้วโจทก์ขายที่ดินและห้องชุดนั้นแก่ผู้ซื้อภายใน 5 ปี นับแต่วันได้มา อันเป็นการขายที่เป็นการค้าหรือหากำไรต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อโจทก์ไม่เสียภาษีภายในกำหนดจึงต้องรับผิดในเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วย หลังจากเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1ตรวจพบว่าโจทก์ไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนจึงได้ออกหมายเรียกให้โจทก์ไปพบ โจทก์ให้การว่าโจทก์เป็นพนักงานขายของบริษัท ส. ได้ค่าตอบแทนการขายเพียงรายละ 5,000 บาทจึงเป็นการบ่ายเบี่ยงเพื่อไม่ต้องชำระภาษี มิใช่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงาน แต่ปรากฏว่าต่อมามีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 366)ฯ ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะในเรื่องนี้ลงเหลือร้อยละ0.1 จึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงร้อยละ 50

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3426/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันครอบคลุมหนี้ทั้งหมด, การหักทอนหนี้, และการอุทธรณ์นอกเหนือคำให้การ
แม้มีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์มีสิทธินำเงินตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 หักใช้หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทที่ถึงกำหนดได้แต่บัญชีกระแสรายวันดังกล่าวไม่มีเงินในบัญชีที่จะหักมาชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยมิได้หักหนี้ จึงไม่ถือว่าโจทก์กระทำผิดข้อตกลงอันจะมีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ไม่ผิดนัด โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทได้
ผลประโยชน์ที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1/8 ต่อระยะเวลา 90 วัน นั้นคำนวณแล้วเท่ากับอัตราร้อยละ 0.125 ต่อระยะเวลา 90 วัน หรือร้อยละ 0.5 ต่อระยะเวลา 360 วัน จึงไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี และผลประโยชน์ที่โจทก์เรียกเก็บดังกล่าวก็ระบุว่าเป็นค่าธรรมเนียมมิใช่เรื่องดอกเบี้ย ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ
สัญญาค้ำประกันระบุว่า เพื่อตอบแทนการที่โจทก์ได้ตกลงยินยอมให้ลูกหนี้(จำเลยที่ 1) ทำนิติกรรมอันเป็นมูลหนี้กับโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นมูลหนี้ในนิติกรรมใด ๆ ที่มีอยู่ในขณะทำสัญญานี้หรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ค้ำประกัน (จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6)ยอมรับเป็นผู้ค้ำประกันและเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค้ำประกันหนี้ทุกอย่างที่จำเลยที่ 1 มีอยู่แก่โจทก์ จึงต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีทร่วมกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท แต่เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยไม่นำไปหักทอนเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่เป็นการปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีท ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ นอกจากนี้ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกก็เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่อ้างไว้ในคำให้การ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 38ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยหากความเสียหายไม่ร้ายแรง
แม้การขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจะเป็นเหตุให้ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยได้รับอันตรายแก่กาย หน้าผากแตกเลือดซึม ตาซ้าย ไหล่ซ้ายเอว และขาซ้ายเจ็บ และทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่การบาดเจ็บของผู้จัดการทั่วไปเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อย ทั้งค่าเสียหายของรถยนต์ดังกล่าวบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบ จำเลยจึงได้รับความเสียหายอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก ยังถือไม่ได้ว่าลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119(3) เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
อุทธรณ์ของจำเลยมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เพราะเหตุใด โดยจำเลยอุทธรณ์เน้นเฉพาะบทกฎหมายที่บัญญัติว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่านั้น จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์และฎีกาประเด็นแปลงหนี้ใหม่ที่ไม่เคยยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น ถือเป็นการขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์ให้ ว. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย ล.2 ไว้ ว. ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ให้จำเลยรับผิดแทน ว. โดยฉวยโอกาสที่จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แต่จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องแปลงหนี้ใหม่ไว้ในคำให้การ ปัญหาข้อกฎหมายในชั้นอุทธรณ์ที่ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แต่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ จึงไม่ชอบ เมื่อจำเลยฎีกา ทำนองเดียวกับที่อุทธรณ์ขึ้นมาอีก จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้, วงเงินค้ำประกัน, การลดเบี้ยปรับ, และการคำนวณดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามสัญญา
สัญญาค้ำประกันซึ่งระบุว่า เป็นการค้ำประกันหนี้สินในวงเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาค้ำประกันและอุปกรณ์แห่งหนี้อันมีดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้แม้สัญญาค้ำประกันอันเป็นสัญญาหรือหนี้อุปกรณ์จะมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ก็ต้องถืออัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือหนี้ประธาน
สัญญาทรัสต์รีซีทระบุว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ยอมเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เริ่มจากวันทำสัญญานี้เป็นต้นไปจนกว่าจะครบกำหนดวันชำระหนี้ตามตั๋วเงินจากต่างประเทศ หากครบกำหนดวันชำระหนี้ตามตั๋วเงินจากต่างประเทศแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ยังไม่สามารถชำระหนี้ให้ได้ก็ยินยอมเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ถ้าต่อไปอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นหรือต่ำลงห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ยินยอมให้ปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่ธนาคารจะได้กำหนดขึ้นใหม่ ข้อความที่ระบุไว้แสดงให้เห็นว่า โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราสูงขึ้นได้ต่อเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร จึงมีผลเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาเงินค่าดอกเบี้ยส่วนที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้เดิม จึงถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนแม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
การคิดคำนวณความรับผิดตามวงเงินค้ำประกันจะต้องถือตามหนี้ต้นเงินในสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น โดยไม่รวมดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องรับผิดต่างหากหนี้ต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทมีจำนวนต่ำกว่าจำนวนเงินค้ำประกัน การคิดคำนวณดอกเบี้ยจากหนี้ต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดจากจำเลยได้ตลอดระยะเวลาที่จำเลยผิดนัดจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ดังนั้น จึงไม่จำต้องคำนึงว่าเมื่อนำดอกเบี้ยมารวมกับหนี้ต้นเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแล้วจะเกินจำนวนวงเงินค้ำประกันหรือไม่อีก
อุทธรณ์ของโจทก์มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับหนี้จำนองนั้นไม่ถูกต้องอย่างไรบ้างคำขอท้ายอุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
of 31