คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 302 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 655/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน - ศาลอุทธรณ์ชี้ว่าแม้แจ้งหลังกำหนด แต่การตีความสัญญาต้องคำนึงถึงเหตุผลทางธุรกิจและการขัดแย้งของกฎหมาย
หนังสือค้ำประกันทั้งสี่ฉบับ ข้อ 2 มีข้อความเช่นเดียวกันว่า เมื่อจำเลยได้รับหนังสือแจ้งจากโจทก์ว่าผู้ร้องสอดปฏิบัติผิดสัญญาและไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไม่ว่าทั้งหมดหรือเฉพาะส่วน จำเลยยอมชำระเงินแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหนังสือค้ำประกันทุกฉบับที่จำเลยมอบแก่โจทก์ก็เพื่อค้ำประกันการทำงานของผู้ร้องสอดในช่วงระยะเวลาที่หนังสือค้ำประกันแต่ละฉบับกำหนดไว้ เพราะหากพ้นจากช่วงระยะเวลาดังกล่าวของหนังสือค้ำประกันฉบับใดฉบับหนึ่ง ก็ไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องสอดปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแก่โจทก์ในฉบับนั้น อันมีผลให้โจทก์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดแทนผู้ร้องสอดได้ และหากตีความว่าเมื่อผู้ร้องสอดปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์ในช่วงเวลาตามที่กำหนดไว้ในหนังสือค้ำประกันก็ตาม โจทก์ยังต้องมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละฉบับ ย่อมขัดต่อความประสงค์และมุ่งหมายที่โจทก์ให้จำเลยค้ำประกันการทำงานของผู้ร้องสอดอย่างแท้จริง ทั้งจำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันหนี้ของลูกค้า เช่นผู้ร้องสอด จากผู้ร้องสอดเป็นเงินตอบแทนในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ของยอดวงเงินค้ำประกัน ซึ่งคิดเป็นรายปี จำเลยย่อมทราบดีว่าในกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า ลูกหนี้ที่ตนค้ำประกันประพฤติผิดสัญญา ย่อมมีข้อโต้แย้งทำให้ไม่อาจแจ้งเหตุให้จำเลยทราบได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ดังเช่นคดีนี้ โจทก์อ้างว่าผู้ร้องสอดผิดสัญญาตั้งแต่การส่งมอบงานชุดแรกในวันที่ 30 มิถุนายน 2554 และมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ภายหลังจากโจทก์แจ้งถึงการผิดสัญญาให้ผู้ร้องสอดทราบและบอกเลิกสัญญาแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกัน โดยถือเอาวันที่ผู้ร้องสอดปฏิบัติผิดสัญญาในระหว่างช่วงเวลาที่หนังสือค้ำประกันการทำงานของผู้ร้องสอดกำหนดไว้ แม้จะมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวก็หามีผลให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดไม่ จึงชอบด้วยหลักการตีความสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 เมื่อคำนึงประกอบกับสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้างอาคารเรือนแถวและสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ซึ่งระบุข้อความในข้อ 16.3 เช่นเดียวกันว่า "ในกรณีข้อพิพาท เพื่อระงับข้อพิพาท คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ผลของการพิจารณาจากอนุญาโตตุลาการ ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดในข้อพิพาทนั้น" ย่อมมีผลให้โจทก์ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการว่าผู้ร้องสอดผิดสัญญาและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวนเท่าใด ซึ่งตามสภาพการณ์ดังกล่าวจะต้องใช้เวลาพิจารณาเนิ่นนานพอสมควร โจทก์ย่อมไม่อาจแจ้งถึงความรับผิดของผู้ร้องสอดให้จำเลยทราบภายในกำหนดเวลาของหนังสือค้ำประกันแต่ละฉบับได้ ซึ่งจะมีผลให้หนังสือค้ำประกันสิ้นผลไปโดยปริยายและไม่มีประโยชน์อันใดที่โจทก์ต้องให้จำเลยทำหนังสือค้ำประกันการทำงานของผู้ร้องสอดแก่โจทก์ อันจะเป็นการขัดแย้งกับหลักการตีความตาม ป.พ.พ. มาตรา 10 เช่นนี้ การตีความสัญญาของศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยต้องรับผิดในการผิดสัญญาของผู้ร้องสอดแก่โจทก์ แม้โจทก์จะมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าวผ่านพ้นไปแล้วจึงชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยมิได้ยกข้อที่ว่า การที่โจทก์มิได้ทวงถามให้ผู้ร้องสอดชำระหนี้แก่โจทก์ก่อน ผู้ร้องสอดจึงยังมิได้ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้รับผิดตามหนังสือค้ำประกันทั้งสี่ฉบับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ขึ้นเป็นข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้อง ทั้งผู้ร้องสอดก็กล่าวอ้างเพียงว่าแม้คณะอนุญาโตตุลาการจะได้มีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องสอดรับผิดต่อโจทก์ แต่ผู้ร้องสอดได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล อันเป็นเหตุเพียงพอให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ซึ่งหากคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการถูกศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนแล้ว ผู้ร้องสอดไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันได้อีกต่อไป โดยไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้โจทก์ต้องนำสืบว่า โจทก์ได้เรียกร้องให้ผู้ร้องสอดรับผิดเพราะเหตุผิดสัญญา และผู้ร้องสอดผิดนัดแล้วจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกัน ดังนั้น อุทธรณ์ของผู้ร้องสอดในข้อนี้จึงเป็นข้อที่ผู้ร้องสอดมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แม้ผู้ร้องสอดฎีกาปัญหาข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยและผู้ร้องสอดร่วมกันชดใช้เงิน 9,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ปรากฎว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อันมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรา 7 และมาตรา 224 ว่าให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละสามต่อปีบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี รวมเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงคิดดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น เมื่อปรากฏว่าสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้างอาคารเรือนแถวและสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้างอาคารพาณิชย์ มิได้กำหนดดอกเบี้ยไว้ ผู้ร้องสอดและจำเลยจึงต้องรับผิดโดยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องตามที่โจทก์ขอ จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3586/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นสาธารณสมบัติฯ หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีที่ดิน
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกไปจากที่ดิน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและให้ยกคำร้องขอให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดิน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คดีจึงมีประเด็นว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ หรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์มิได้ฎีกา คดีอาญาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่วนข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประเด็นว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ เป็นเพียงมูลเหตุแห่งคดีอาญาเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดแล้ว คู่ความชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ยกฎีกาจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2665/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ต้องมีเจตนาและรู้เห็นการกระทำของผู้อื่น การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องชัดเจน
การร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 ต้องเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันซึ่งต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ ซึ่งหมายถึงต้องร่วมกระทำความผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งผู้กระทำความผิดต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกัน กับต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย
ฎีกาโจทก์เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ป.วิ.อ. มาตรา 46 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 47 แม้ศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาโจทก์ข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2421/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ที่ขัดกับการรับสารภาพเดิม และพิจารณาโทษจำเลยต่างกันตามพฤติการณ์
จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่เมื่อความผิดดังกล่าวจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมรับฟังเป็นยุติได้ตามฟ้องโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่ให้การรับสารภาพและเป็นฎีกาข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 47 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2119/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามตาม ป.วิ.พ. เนื่องจากจำเลยยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นฎีกาเพื่ออ้างประโยชน์จากกฎหมายใหม่ที่ใช้บังคับหลังมีคำพิพากษา
จำเลยให้การว่าไม้พะยูงของกลางมิใช่เป็นของจำเลย และไม่ทราบว่าเป็นไม้ของผู้ใด โดยไม่เคยให้การว่าเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของ ป. อีกทั้งในชั้นอุทธรณ์จำเลยยังคงโต้เถียงว่าไม้พะยูงของกลางมิใช่เป็นไม้ของจำเลย มิได้กล่าวอ้างว่าเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของ ป. การที่จำเลยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาอ้างว่า ไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ของ ป. ถือเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย และเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในทรัพย์มรดกจากการเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดิน กรณีผู้รับโอนได้มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ซ. ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งเก้าแปลงที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ถึงที่ 11 เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มีอายุความห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามที่ต่อสู้ในคำให้การ ประเด็นที่ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฎีกาเรื่องอายุความ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 แก้ฎีกาเรื่องอายุความเช่นกัน จึงเป็นฎีกาและคำแก้ฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252
ซ. กับ ฟ. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งมิได้บัญญัติให้ใช้บังคับเฉพาะแก่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย กฎหมายลักษณะผัวเมียมีผลใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดสัญชาติ และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า "บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ และทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น ๆ" ซึ่งมีความหมายว่าการสมรสที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายลักษณะผัวเมียอยู่อย่างไร ก็ยังคงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายอยู่อย่างนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 พุทธศักราช 2479 ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งคู่สมรสไม่จำต้องจดทะเบียนสมรส
ซ. เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของ จ. เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ จ. ส่วนหนึ่งย่อมตกได้แก่ ซ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม แม้ ซ. ไม่ได้เรียกร้องก็ไม่มีผลทำให้เสียสิทธิในมรดกส่วนของตนแต่อย่างใด เพราะไม่ปรากฏว่า ซ. แสดงเจตนาสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 แต่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้จัดการทรัพย์มรดกของ จ. ซ. ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของ ซ. ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ที่ตกได้แก่ ซ. ส่วนหนึ่ง
เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่าง จ. กับ ค. ย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 การคิดส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่าง จ. กับ. ค. มีผลตั้งแต่การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตาย และการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงจึงต้องแบ่งเป็นมรดกของ จ. และแบ่งให้ ค. คนละส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงกึ่งหนึ่งส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ผู้สืบสันดานของ จ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ซ. บิดาของ จ. ทายาทโดยธรรมลำดับที่ 2 มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร และ ค. คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง, 1629 (1) (2), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) แต่ ซ. ถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการจัดการมรดกของ จ. มรดกในส่วนของ ซ. จึงตกได้แก่ผู้สืบสันดานของ ซ. ทั้งเก้าคน เมื่อ จ. ถึงแก่ความตายไปก่อน ผู้สืบสันดานของ จ. คือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 มีสิทธิรับมรดกแทนที่ จ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 ส่วน ย. ผู้สืบสันดานคนหนึ่งของ ซ. ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วนั้นแม้ไม่ปรากฏว่า ย. ถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ซ. ผู้สืบสันดานของ ย. ทั้งหกคนย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่หรือสืบมรดกของ ย. แล้วแต่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบในคดีหมิ่นประมาท และขอบเขตการโต้แย้งดุลพินิจศาล
การกระทำของ น. ที่แอบนำเอาเครื่องบันทึกเสียงมาทำการบันทึกการสนทนาระหว่างจำเลยทั้งสองกับคู่สนทนา โดยจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าขณะที่ตนทำการสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงไปในเครื่องบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยทั้งสองอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดาจึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย ส่วนจะมีเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้นได้หรือไม่เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 อันเป็นข้อยกเว้นให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีการอันเกิดจากการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรง ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ลักษณะแห่งคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริตชอบด้วยกฎหมายมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองได้ การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ เท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป ประกอบกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้แสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ มิใช่ผู้ที่จะต้องได้รับการลงโทษในทางอาญา หากศาลปฏิเสธไม่รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ดังนี้ การรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวกลับจะเป็นผลเสียมากกว่า บันทึกเสียงการสนทนาและข้อความจากการถอดเทปจึงไม่อาจรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และ 226/1
การโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองไม่พอฟังว่า จำเลยทั้งสองกล่าวถ้อยคำตามฟ้องอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้โจทก์ทั้งสองจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงนั้นก็ยังต้องว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองด้วย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริง - คำรับสารภาพ - ข้ออุทธรณ์ใหม่ - การรับฟังพยานหลักฐาน
คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนกระทำการไม่สุจริต สมคบกับผู้เสียหายที่ 1 บิดเบือน ปรุงแต่งข้อเท็จจริงทำให้คำให้การของผู้เสียหายทั้งสองสอดคล้องกัน ปรักปรำใส่ร้ายจำเลยโดยมีมูลเหตุจูงใจและผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นการสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและโจทก์ไม่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องตามคำรับสารภาพ จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิด เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์และขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4230/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงใหม่ขัดแย้งคำรับสารภาพและข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้นเป็นเหตุต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่า อาวุธปืนของกลางตรวจพบรอยขูดลบเครื่องหมายทะเบียน แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่าเครื่องหมายทะเบียนเดิมเป็นเลขใดตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์แนบท้ายอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นการอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงใหม่ผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงมาตามฟ้องอันเป็นการขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนเกี่ยวกับรายงานผลการตรวจพิสูจน์ที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้าง แล้วอาศัยข้อเท็จจริงจากการไต่สวนดังกล่าวพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นการมิชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย: การยกข้อเท็จจริงใหม่ขัดกับคำรับสารภาพ และการลงโทษที่ไม่สมเหตุผล
โจทก์บรรยายในคำฟ้องอย่างแจ้งชัดว่า จำเลยทำไม้ปอเลียง ในบริเวณป่าบางไต เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงต้องรับฟังตามคำฟ้องว่าจำเลยทำไม้ในป่าอันเป็นการทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป ที่จำเลยอ้างว่าเป็นการทำไม้ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่เป็นไม้หวงห้ามในชั้นฎีกา จึงขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นการยกข้อเท็จจริงเพิ่มเติมขึ้นใหม่โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้กล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 31