คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 302 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยฎีกาว่าผู้ตายประมาท ศาลฎีกายกประเด็นใหม่ในชั้นฎีกาไม่ได้ และลดโทษให้รอการลงโทษ
การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือและแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ และเมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรคสอง ได้ และปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ รถจำเลยแล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 มิได้วิ่งคร่อมช่องเดินรถที่ 1 และที่ 2 การที่รถจำเลยเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ผู้ตายจึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ทำนองว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นใหม่และขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7957/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันจ้างวานฆ่า ร่วมกันกระทำผิดอาญา หลักฐานรับฟังได้ ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นยืนตามศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลชั้นต้นฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ย่อมมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น โจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์ คงมีแต่โจทก์ที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการร่วม ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและเห็นพ้องด้วยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุน เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ส่วนคดีโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงยุติลง ที่โจทก์ร่วมฎีกาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการร่วม อันเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5694-5702/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้างโดยปริยาย การปรับเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรี และอำนาจการปรับเงินเดือนของนิติบุคคล
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การพิจารณาว่าจำเลยต้องปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์ทั้งเก้าและจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องไว้หรือไม่ อย่างไร แม้โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 วรรคสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 กรรมการผู้จัดการจำเลยมีหนังสือถึงประธานกรรมการดำเนินการของจำเลยว่าสมควรปรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่ของจำเลยเข้าสู่ฐานเงินเดือนเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาที่ได้ปรับปรุงใหม่ตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติแล้ว เนื่องด้วยจำเลยได้ยึดหลักเกณฑ์และฐานเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภามาใช้โดยอนุโลม จึงเห็นสมควรปรับเงินเดือนใหม่และให้มีการตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 และจำเลยมีคำสั่งที่ 3/2537 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2537 ว่าโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานจำเลยได้ถือบังคับใช้โครงสร้างเงินเดือนเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาในฐานะรัฐวิสาหกิจ จึงมีคำสั่งปรับอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่จำเลยตามโครงสร้างเงินเดือนที่ทางรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจในปี 2537 และให้มีผลย้อนหลังตกเบิกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 เป็นต้นไป ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 7/2550 - 51 ครั้งที่ 1/2552 - 53 และครั้งที่ 7/2552 - 53 มีมติว่าให้รอองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เจ้าหน้าที่จำเลยเหมือนกัน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยครั้งที่ 4/2555 - 56 มีมติว่าองค์การค้าของ สกสค. มีนโยบายปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยมีแนวทางปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยเช่นกัน จึงให้จัดทำบัญชีเงินเดือนแนบท้ายมาด้วย ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 6/2555 - 56 มีมติอนุมัติให้ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 โดยคำนวณตามที่องค์การค้าของ สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. และในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 7/2555 - 56 มีมติอนุมัติให้ปรับอัตราเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตามบัญชีปรับอัตราเงินเดือน - ฐานเงินเดือน ตามเสนอ โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ปัจจุบันองค์การค้าของคุรุสภาได้โอนกิจการ เงินทรัพย์สิน หนี้ สิทธิต่าง ๆ ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 83 ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยและโจทก์ทั้งเก้าดังกล่าวต่างแสดงออกยินยอมตกลงให้ยึดถืออัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่ปี 2533 ตลอดมา ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างโดยปริยาย ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือก็มีผลบังคับได้
แม้ในคดีที่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของ สกสค. เป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางซึ่งคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ สกสค. ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา (ซึ่งต่อมาได้โอนกิจการองค์การค้าของคุรุสภามาเป็นองค์การค้าของ สกสค.) ซึ่ง สกสค. ได้ปรับเงินเดือนเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา และจ่ายเงินเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยคงมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเฉพาะเรื่องอัตราค่าจ้างโดยตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่จำเลย ซึ่งหาก สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เช่นกัน มิได้มีข้อตกลงว่าจำเลยต้องปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยในวันเวลาใดที่แน่นอนและมิได้ตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีอันจะมีผลให้จำเลยต้องปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยย้อนหลังไปในวันที่มติคณะรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับ ทั้งการปรับเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก สกสค. โดยเฉพาะ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยมีมติให้ปรับเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งเก้าในอัตราเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้า สกสค. โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 และไม่ปรากฏว่าวันที่มีผลบังคับไม่เหมาะสม การปรับเงินเดือนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งเก้าจึงชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องปรับเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าย้อนหลังตามมติคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างเพิ่มขึ้นและเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งเก้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกโดยสมัครใจ สิทธิในการถอนการลาออก และผลของการยึดทรัพย์สินของนายจ้าง
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย ซึ่งจำเลยก็ให้การยอมรับว่าจำเลยได้รับหนังสือลาออกจากโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อ ร. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ซึ่งหมายถึงโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงตามที่ยุติจากคำฟ้องและคำให้การ ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกสำนวน และเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ลาออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากจำเลย อันมีความหมายว่าโจทก์ลาออกโดยสมัครใจ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ลาออกโดยไม่สมัครใจ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ขอลาออกเพราะถูก ร. ข่มขู่นั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ป.พ.พ. มาตรา 386 ไม่ได้กำหนดให้ใช้บังคับแก่สัญญาประเภทใดประเภทหนึ่ง จึงใช้บังคับแก่สัญญาทุกประเภทรวมทั้งสัญญาจ้างแรงงานด้วย การที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการแสดงเจตนาแก่นายจ้าง ลูกจ้างไม่อาจถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญานั้นได้ แต่ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมของนายจ้างและลูกจ้างในการถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของลูกจ้างด้วย โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แสดงเจตนาถอนการลาออก แต่จำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งให้โจทก์ส่งใบลามาใหม่ พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องโจทก์และจำเลยตกลงให้โจทก์ถอนการลาออกหรือยับยั้งการลาออกของโจทก์ แต่เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบภายในของจำเลยเพื่ออนุมัติการลาออกของโจทก์ หนังสือลาออกจึงยังมีผลบังคับอยู่ และการที่จำเลยยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยให้โจทก์ไว้ใช้ในการทำงานคืนจากโจทก์นั้น ก็เป็นเพราะใกล้วันที่หนังสือลาออกของโจทก์จะมีผลแล้ว จึงมิใช่กรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4004/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาตศาลแรงงาน การพิพากษาเกินเลยประเด็นคดี
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ขออนุญาตศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 เป็นการขัดต่อกฎหมาย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้จ่ายค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างโดยไม่มีอำนาจ โจทก์จึงไม่ใช่กรรมการลูกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดกรณีร้ายแรง ดังนั้นประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่อไปว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายและทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด เมื่อศาลแรงงานภาค 1 รับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลแรงงานภาค 1 ชอบที่จะยกฟ้องเพื่อให้โจทก์กับจำเลยไปดำเนินการต่อไปดังเช่นลูกจ้างทั่วไป การที่ศาลแรงงานภาค 1 ได้วินิจฉัยถึงการกระทำของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายตามฟ้องก็เป็นการพิจารณาพิพากษาเกินเลยไปกว่าประเด็นแห่งคดี แม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์มิใช่ความผิดกรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 และเมื่อโจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้าง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ส่วนโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินภายหลังเลิกจ้างหรือไม่เพียงใด เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการว่ากล่าวกันต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษผู้ให้ข้อมูลยาเสพติด: ต้องมีการสืบพยานในศาลชั้นต้น ไม่ใช่แค่เอกสารในสำนวน
แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่บัญญัติให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้นจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม แต่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งนั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีการนำสืบกันไว้แล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งศาลจะยกเอาข้อเท็จจริงตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาหรือสำเนาบันทึกการจับกุมมารับฟังเพียงลำพังว่ามีการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งตามมาตรา 100/2 โดยไม่มีการสืบพยานอื่นหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกข้อเท็จจริงใหม่ในการอุทธรณ์ ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามอุทธรณ์
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 5 จะบัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต" แต่มาตรา 6 ก็บัญญัติต่อไปว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" โจทก์ที่ 1 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 จะต้องให้การโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคำให้การจึงจะนำสืบหรือยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
ในการยื่นคำให้การ จำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายตน เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีรายได้จากการทำงานพิเศษ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล บริษัทที่รับประกันวินาศภัยและประกันชีวิตของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จ่ายทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่มาเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธ อันเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7460/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้น และยืนตามคำพิพากษาเดิมในคดีอาญา
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 นำบัตรสินเชื่อเกษตรกรของผู้เสียหายไปใช้ซื้อสินค้า เมื่อขายสินค้าได้ จำเลยที่ 1 จะมอบเงินสดให้แก่ผู้เสียหาย ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้าแล้วแต่เรียกเก็บเงินไม่ได้ จึงไม่สามารถนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงกัน ทำนองว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ไม่ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ เพราะไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษจำเลยในคดีขับรถขณะเมาสุราและหลบหนีขัดขวางเจ้าพนักงาน ศาลอุทธรณ์แก้ไขบทลงโทษได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคหนึ่ง ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43,160 ตรี ตามฟ้องโจทก์แล้ว และคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การขับรถในขณะเมาสุราของจำเลยเป็นเหตุให้ น. ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ทั้งบทบัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยเป็นมาตรการทำนองเดียวกันกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยในการที่จะคุ้มครองประชาชนทั่วไปมิให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการกระทำของจำเลย และเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าว ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องอุทธรณ์
การวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและมิได้ยกปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลชั้นต้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดตามที่จำเลยยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา เมื่อถึงที่เกิดเหตุ ดาบตำรวจ ป. และ น. ผู้ซึ่งต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมายกับพวก ตั้งจุดตรวจสกัดเพื่อป้องกันอาชญากรรม ดาบตำรวจ ป.ได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพื่อขอตรวจสอบ แต่จำเลยขับรถหลบหนีและพุ่งชนแผงกั้นถนนจนกระเด็นถูก น. ได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยเป็นการขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3145/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การลวงขายต้องมีสภาพบังคับว่าเป็นการลวงขายสินค้า/บริการเดียวกัน และเครื่องหมายต้องมีชื่อเสียง
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า จำเลยจงใจอาศัยความมีชื่อเสียงเฉพาะสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนอยู่ก่อนแล้วไปลวงขายสินค้าหรือบริการให้แก่บุคคลอื่น โดยไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์คำว่า "RUSH" ซึ่งโจทก์ได้ใช้มาก่อนจำเลยในคำฟ้องด้วย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
การใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคสอง และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 46 วรรคสอง เป็นกรณีเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนสำหรับรายการที่กล่าวอ้างถึงฟ้องบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าหรือบริการของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าหรือบริการของเจ้าของเครื่องหมายนั้น เมื่อคำฟ้องและทางนำสืบไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือโจทก์ร่วมใช้คำว่า "RUSH" เป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการสำหรับบริการจัดการอาหารและเครื่องดื่มหรือบาร์อาหารและเครื่องดื่มมาก่อนจำเลย โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนสำหรับบริการจัดการอาหารและเครื่องดื่มกับบาร์อาหารและเครื่องดื่ม ย่อมไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการร้านอาหาร "รัช บาร์" หรือ "RUSH BAR" ของจำเลยเป็นกิจการบริการร้านอาหารของโจทก์ได้ การที่จำเลยประกอบกิจการร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม สุรา เบียร์ บุหรี่ โดยใช้ชื่อว่า "รัช บาร์" หรือ "RUSH BAR" จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "RUSH" ของโจทก์ด้วยการลวงขายโดยอาศัยความมีชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าร้านอาหารของจำเลยเป็นกิจการบริการของโจทก์หรือโจทก์ร่วม
of 31