คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 302 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3204/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ไม่ชัดเจน-ขัดแย้ง: ศาลฎีกายกอุทธรณ์ข้อโต้แย้งความรับผิดของจำเลยที่ 4 และจำเลยร่วม
ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเฉพาะในส่วนที่พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 และจำเลยร่วมเท่านั้น มิได้โต้แย้งคัดค้านในส่วนที่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวกลับมีความหมายว่าจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 4 และจำเลยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิเสธความรับผิดของตนต่อโจทก์แต่อย่างใด แม้ท้ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จะขอให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 แต่ก็ขัดแย้งกับที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ดังกล่าว อุทธรณ์ที่จำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2878/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ขนส่งแต่เป็นตัวแทนติดต่อประสานงาน ไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ขนส่งตามกฎหมาย
ตามหนังสือรับรองบริษัทจำเลยที่ 1 ระบุวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายหน้าและตัวแทนดำเนินการตามพิธีการศุลกากร ทั้งที่การท่าอากาศยานและการท่าเรือเพื่อนำสินค้าเข้าและส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ประกอบกิจการเป็นนายหน้าตัวแทนในการรับส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งทางเรือและทางอากาศ ประกอบกิจการบริการให้เช่าช่วงรถบรรทุกสินค้า จำเลยที่ 1 จึงไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ และใบตราส่งที่ออกโดยจำเลยที่ 2 ในช่องสำหรับการส่งมอบสินค้ากรุณาติดต่อ ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในการติดต่อเพื่อส่งมอบสินค้า สอดคล้องกับหนังสือแจ้งการมาถึงของเรือ จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงผู้ดำเนินการติดต่อส่งมอบสินค้าเมื่อเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าตามคำฟ้องเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ใบตราส่งดังกล่าวจึงไม่ใช่หลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลที่มีจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้ขนส่ง
จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดหาตู้คอนเทนเนอร์ตลอดจนเรือบรรทุกสินค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการขนส่งสินค้านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้ทำการขนส่งสินค้าตามใบตราส่ง การที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าระวางไปยังผู้เอาประกันภัยตามใบเรียกเก็บค่าระวางที่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้น โดยไม่ปรากฏค่าธรรมเนียมตัวแทนในใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้ผู้เอาประกันภัย ก็เป็นการดำเนินการในฐานะบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเลให้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรับขนของทางทะเล ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการรับขนสินค้าอันจะต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัย โจทก์ผู้รับประกันภัยไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ได้
โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนเข้าทำสัญญาแทนตัวการที่อยู่ต่างประเทศ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เอาประกันภัยได้ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาท และจำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าดังกล่าวอีกทอดหนึ่งโดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเข้าทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศ คำแก้อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวในคำฟ้อง จึงเป็นข้อแก้อุทธรณ์ที่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละมรดก, อำนาจฟ้อง, ประเด็นนอกฟ้อง: ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นการสละมรดกและอำนาจฟ้องโจทก์
ประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่โจทก์จะยกขึ้นอุทธรณ์ได้นั้น จะต้องเป็นประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างแห่งข้อหาในคำฟ้อง จะเพียงแต่ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำคัดค้านหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกลวงให้โอนที่ดินพิพาทให้ โจทก์จึงไม่อาจยกประเด็นหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการสละมรดกหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งหากศาลได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งงดการพิจารณาคดีและยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะงดการพิจารณาคดีได้ดังกล่าว ก็ย่อมที่จะทำการพิพากษาคดีไปได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษารวมทั้งคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1616/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีมโนสาเร่: ศาลชั้นต้นไม่สั่งแก้ไขฟ้อง ถือยุติประเด็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยอุทธรณ์มิได้
คดีมโนสาเร่ กรณีคดีมีประเด็นว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม กรณีย่อมต้องด้วยบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 191 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องชัดเจนขึ้นก่อน หากโจทก์ไม่ทำการแก้ไขจึงจะถือว่ามีประเด็นเรื่องคำฟ้องเคลือบคลุมที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยต่อไป แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง ถือว่าศาลชั้นต้นใช้ดุจพินิจพิจารณาแล้วว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมต้องถือว่าประเด็นเรื่องคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ เป็นอันยุติไปตามสภาพที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง จำเลยไม่อาจยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1231/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ความผิดฐานพยายามฆ่าเมื่อมีคำรับสารภาพ: ศาลต้องรับฟังพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพ
ในการสืบพยานโจทก์ประกอบกับคำรับสารภาพของจำเลย ศาลต้องรับฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น หาใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่ จำเลยจึงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15617/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างเป็นที่สุดเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว แม้มีการฟ้องคดีใหม่ก็ไม่อาจเรียกร้องซ้ำได้
โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยของต้นเงินค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินเพิ่มของต้นเงินค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 นั้น เมื่อปรากฏว่าวันที่ 6 มีนาคม 2557 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันและได้วินิจฉัยเรื่องพิพาทที่เกิดขึ้นคราวเดียวกันตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2557 ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 ของจำเลยที่ 1 เฉพาะในเรื่องค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเสียแล้ว จึงมีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว ดังนั้น ปัญหาที่ว่าโจทก์จะมีสิทธิฟ้องเรียกร้องดอกเบี้ยของต้นเงินค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินเพิ่มของต้นเงินค่าชดเชยตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
สำหรับที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องดอกเบี้ยและเงินเพิ่มของต้นเงินค่าจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 นั้น เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน..." ไว้เช่นนี้ ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเรียกร้องเงินที่มีสิทธิจะได้รับจากนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้ เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการสอบสวนและมีคำสั่งตามมาตรา 124 และเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งแล้วหากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจก็สามารถนำคดีไปสู่ศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ศาลแรงงานพิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้ตามมาตรา 125 เมื่อปรากฏว่ามูลเหตุในการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างอ้างว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ ซึ่งเป็นการอ้างมูลเหตุแห่งข้อพิพาทอย่างเดียวกัน โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องขอให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยและเงินเพิ่มของค่าจ้างไปพร้อมกันกับที่ขอให้จ่ายค่าจ้างได้ตั้งแต่ชั้นยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน การที่โจทก์ใช้แบบฟอร์มคำร้องที่มีข้อความว่า ขอให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้าง ซึ่งในข้อ 7.17 ที่มีข้อความระบุว่า "ดอกเบี้ย/เงินเพิ่ม เป็นเงิน...บาท (...)" โดยไม่ได้ขีดฆ่าว่าไม่ประสงค์ให้จ่ายดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง โดยคำสั่งดังกล่าวไม่ได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มจากต้นเงินค่าจ้างแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์เองก็ทราบคำสั่งนั้นแล้วและไม่ได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คงมีเพียงจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นโจทก์ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานกลางโดยฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 พร้อมวางเงินที่จะต้องชำระตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานกลางแล้ว ซึ่งโจทก์ในฐานะจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวก็มิได้โต้แย้งคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 101/2549 จึงเป็นที่สุดสำหรับโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกร้องดอกเบี้ยและเงินเพิ่มของต้นเงินค่าจ้างนอกเหนือจากคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งถึงที่สุดไปแล้วได้อีก
ในส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยนั้น แม้คำฟ้องส่วนนี้เป็นการฟ้องเรียกร้องตามสิทธิในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 อันมิใช่สิทธิได้รับเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่โจทก์จะดำเนินการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้มีคำสั่งได้ และพนักงานตรวจแรงงานไม่มีอำนาจดำเนินการและมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 และมาตรา 125 แม้โจทก์จะมีอำนาจฟ้องได้โดยตรงต่อศาลแรงงานและศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนนี้ได้ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏต่อมาว่าเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันและได้วินิจฉัยเรื่องพิพาทที่เกิดคราวเดียวกันตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2557 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์เสียแล้ว ดังนั้น จึงมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้องแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14885/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมมีผลลบล้างหนังสือแสดงเจตนาตั้งผู้รับโอนประโยชน์เมื่อมีการกำหนดการเผื่อตายฉบับหลัง
จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกและศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของ ส. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เงินฝากและหุ้นของ ส. ในสหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่ใช่มรดกของ ส. เพราะสิทธิประโยชน์เกิดขึ้นเมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย พินัยกรรมตามฟ้องไม่อาจลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับประโยชน์ที่ ส. ทำให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าวเท่านั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม จึงเป็นการอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากคำให้การ ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
แม้ ส. จะทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยระบุให้โจทก์กับจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็ตาม แต่หลังจากทำหนังสือปรากฏว่า ส. ทำพินัยกรรมระบุให้โจทก์เป็นผู้รับหุ้นและเงินฝากรวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินที่ ส. ผู้ตาย ฝากไว้ ณ สหกรณ์ดังกล่าว อันเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้เพียงฉบับเดียวก่อนที่ ส. จะถึงแก่ความตาย พินัยกรรมจึงมีผลลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ระบุให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้รับโอนประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14885/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมมีผลลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในมรดก แม้หนังสือแสดงเจตนาทำไว้ก่อน
จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกและศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เงินฝากและหุ้นของ ส. ในสหกรณ์ดังกล่าวตามฟ้อง ไม่ใช่มรดกของ ส. เพราะสิทธิประโยชน์เกิดขึ้นเมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย พินัยกรรมตามฟ้องไม่อาจลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ ส. ทำให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าวเท่านั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เลยว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม จึงเป็นการอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากคำให้การ ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
เงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่ายเงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่ ส. พึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์เป็นมรดกของ ส. ถึงแม้ว่า ส. จะได้ทำหนังสือแสดงเจตนาตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าวโดยระบุให้โจทก์กับจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็ตามแต่หลังจากที่ ส. ทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ไว้แล้ว ปรากฏว่า ส. ได้ทำพินัยกรรมระบุไว้ ให้โจทก์เป็นผู้รับหุ้นและเงินฝากรวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินที่ ส. ผู้ตาย ฝากไว้ ณ สหกรณ์ดังกล่าว อันเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้เพียงฉบับเดียวก่อนที่ ส. จะถึงแก่ความตาย พินัยกรรมจึงมีผลลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ระบุให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ ผลของพินัยกรรมทำให้จำเลยหมดสิทธิได้รับเงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่าย เงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่ ส. พึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14560/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อคำสั่งระงับหน้าที่ผู้อำนวยการยังไม่มีผลบังคับใช้
คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 15 กันยายน 2548 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลย ได้ลงนามในคำสั่งที่ 6/2548 เพื่อระงับการทำหน้าที่ของ ช. ในฐานะผู้อำนวยการจำเลย พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ.2499 มาตรา 13 บัญญัติให้มีคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลย และมาตรา 15 ให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินกิจการของจำเลย ดังนั้นอำนาจในการบริหารกิจการของจำเลยจึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลย ซึ่งต้องกระทำและมีมติในรูปแบบของคณะกรรมการ การที่ ป. ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกิจการของจำเลยมีคำสั่งที่ 6/2548 ให้ ช. ระงับการปฏิบัติหน้าที่ โดยคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยมิได้มีมติในวันดังกล่าว คำสั่งจึงยังคงไม่มีผลบังคับเนื่องจากไม่ชอบด้วยมาตรา 15 ของ พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ทั้งตามเอกสารคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยได้มีมติให้สัตยาบันในวันที่ 19 กันยายน 2548 ดังนั้น ในวันที่ 15 กันยายน 2548 ช. ยังคงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจำเลยและยังมีอำนาจในการแก้ไขคำสั่งของตนเองได้ เมื่อ ช. สั่งให้โจทก์แก้ไขคำสั่งที่ 197/2548 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 เรื่องสำนักอนุรักษ์และพัฒนาสวนป่าภาคตะวันออก ขอเลื่อนระดับพนักงานและเลื่อนชั้นพนักงานปฏิบัติการ เป็นคำสั่งที่ 197/2548 ลงวันที่ 14 กันยายน 2548 เรื่องโอนอัตรา เปลี่ยนแปลงอัตรา และแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนัก โจทก์จึงต้องแก้ไขคำสั่งตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น การกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดวินัยการทำงานตามข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ว่าด้วยวินัย การสอบสวน และการลงโทษสำหรับผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2548 การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์เป็นการไม่ชอบ
จำเลยอุทธรณ์ว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งของโจทก์ไม่ได้กระทำด้วยวิธีการขีดฆ่าและลงลายมือชื่อกำกับ เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์แก้ไขคำสั่งโดยไม่ชอบเพราะไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือหากได้รับคำสั่งก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเท่านั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14503/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ที่ขัดแย้งกับคำรับสารภาพเดิม และการแก้ไขโทษทางอาญาในคดีทรัพย์สินทางปัญญา
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าโทรศัพท์จำนวน 1 เครื่อง ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "NOKIA" ของผู้เสียหาย อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้โดยชอบแล้ว โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีการปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้เสียหายดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ตามคำฟ้องดังกล่าว แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้วจำเลยกลับอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดเพราะจำเลยเป็นเพียงผู้รับจ้างขายสินค้า มิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์ ไม่ทราบแหล่งที่มาของโทรศัพท์ของกลาง รวมทั้งไม่ทราบว่าโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำเลยทำงานเป็นพนักงานขายโทรศัพท์ที่ร้านเกิดเหตุเพียงสองเดือนเศษก่อนถูกจับกุมจึงไม่มีความถนัดรอบรู้ในชนิดสินค้าที่เพิ่งรับหน้าที่ขาย ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้
of 31