พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15456/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสถานะกรรมการและผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ย้อนสำนวน
กรณีได้ความว่าในคดีเดิมที่ อ. เป็นโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ที่ 2 กับพวก รวม 6 คน ฟ้องโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ ในฐานะประธานกรรมการของโจทก์ที่ 1 ขณะนั้น เป็นจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 3/2549 ที่ให้ อ. กับพวก พ้นจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2212 - 2217/2550 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาว่าคำสั่งที่ 3/2549 ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 จึงถือว่า อ. กับพวก คงเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 และให้ ร. จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 ภายในกำหนด 45 วัน โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาอ้างเหตุว่าศาลแรงงานกลางยังรับฟังข้อเท็จจริงไม่ยุติจึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบและคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้ ร. จัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 เป็นคำพิพากษาที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099 - 3104/2554 ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงมีผลเท่ากับว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ให้ ร. ดำเนินการจัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 ได้ถูกยกและสิ้นผลผูกพันไปตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้นด้วย เมื่อการจัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ได้ถูกยกและสิ้นผลผูกพันไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีเดิมจึงผูกพันในผลคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 2 จึงมิใช่กรรมการของโจทก์ที่ 1 ที่จะมีอำนาจดำเนินกิจการหรือเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกโดยชอบมาตั้งแต่แรกตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อในวันที่ 28 กรกฎาคม 2550 ขณะโจทก์ทั้งสองฟ้องคดี โจทก์ที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการของโจทก์ที่ 1 และในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง