คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 17

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15582/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายจากการทำงาน แม้จะยังมิได้ยื่นแบบเสียภาษี
คดีนี้แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าวสัญชาติพม่าซึ่งเข้าเมืองมาโดยมิชอบ แต่ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ได้อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 17 ประกอบประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2549 และวันที่ 19 มกราคม 2551 ซึ่งโจทก์ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแล้วเรียกว่า บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(พม่า) กับแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เป็นหลักฐานที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดทำขึ้น นอกจากนี้โจทก์ยังได้รับอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 12 (1) (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะนั้น) และกฎกระทรวงกำหนดแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการขอรับใบอนุญาตทำงานและการออกใบอนุญาตทำงาน สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่หลบหนีเข้าเมือง พ.ศ.2547 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ออกใบอนุญาตทำงานให้โจทก์ทำงานกับ ว. ซึ่งเป็นนายจ้าง มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550 โดยมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (พม่า) กับแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติ อันเป็นหลักฐานที่สามารถใช้นำมาจัดทำฐานทะเบียนของโจทก์ ทั้งมีใบอนุญาตให้ทำงานได้ที่ทางราชการออกให้แล้ว ว. ผู้เป็นนายจ้างสามารถใช้หลักฐานดังกล่าวไปดำเนินการลงทะเบียนโดยการยื่นแบบลงทะเบียนนายจ้างและแบบรายการแสดงรายชื่อลูกจ้างได้ ตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง การลงทะเบียนนายจ้างตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 ที่แนวปฏิบัติของสำนักงานประกันสังคมตามหนังสือที่ รส 0711/ว 751 ข้อ 2.1 ที่กำหนดว่า แรงงานต่างด้าวที่จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนต้องมีหลักฐานแสดงว่ามีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตให้ทำงานที่ทางราชการออกให้มาแสดงประกอบกับหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนั้น เมื่อโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันจากทางราชการให้ประกอบอาชีพในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษ โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้ ในการอนุญาตให้ทำงานและให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรนั้น กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้ออกใบอนุญาตให้ทำงาน โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้จดทะเบียนไว้ในแบบรายการทะเบียนประวัติเพื่อให้ได้สิทธิอาศัยชั่วคราว (ท.ร.38/1) และจัดบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้แก่โจทก์แล้ว มิอาจถือได้ว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติตามข้อ 2.1 ที่กำหนดไว้ในหนังสือที่ รส 0711/ว 751
สำหรับเรื่องการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเป็นหน้าที่โดยตรงของนายจ้างตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 44 หากนายจ้างไม่ดำเนินการ ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 46 และรับโทษทางอาญาตามมาตรา 62 และเป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมตามมาตรา 47 ที่จะต้องดำเนินการต่อนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีไม่อาจอ้างว่านายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนมาปฏิเสธสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง ทั้ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ไม่มีบทบัญญัติจำกัดเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิในการได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนว่าลูกจ้างจะต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทยเสียก่อน ดังนั้นการที่สำนักงานประกันสังคมออกหนังสือที่ รส 0711/ว 751 กำหนดในส่วนที่ว่า แรงงานต่างด้าวจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จะต้องมีหลักฐานว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน แต่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่อาศัยแนวปฏิบัติตามหนังสือที่ รส 0711/ว 751 ที่ไม่ชอบมาออกคำสั่งปฏิเสธสิทธิไม่ให้โจทก์ขอรับค่าทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (1) เดือนละ 2,418 บาท ส่วนที่ขาดอีก 4 เดือน 20 วัน จึงเป็นออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และการที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติให้จำหน่ายเรื่องที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่เรียกร้องค่าทดแทนส่วนที่ขาดก็เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 52 กรณีจึงมีเหตุให้ต้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 401/2550 ในส่วนที่มีมติให้จำหน่ายอุทธรณ์ของโจทก์ที่เรียกร้องให้กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (1) เพิ่มเติมแก่โจทก์ แล้วให้สำนักงานประกันสังคม โดยกองทุนเงินทดแทนรับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนส่วนนี้แก่โจทก์