คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 252

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 132 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4456/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการตัดต้นปาล์มและไม่นำเงินขายผลผลิตไปวางศาล, ดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย, การคิดดอกเบี้ยหลัง พ.ร.ก.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง
บริษัท ย. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ปลูกปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีโจทก์และผู้อื่นเป็นผู้ถือหุ้น กับมีจำเลยและผู้อื่นเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน ก่อนคดีนี้ บริษัท ย. โดยจำเลย ฟ้องบุคคลอื่นอ้างว่าบุกรุกที่ดินสวนปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ระหว่างพิจารณาคดีก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้บริษัท ย. มีอำนาจเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันในที่ดินพิพาทฝ่ายเดียวแล้วนำเงินที่ได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายพร้อมบัญชีรับ-จ่ายมาวางศาลทุกเดือน หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อนมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว จำเลยได้บริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันโดยมอบอำนาจให้บุคคลภายนอกรวมถึง ฉ. เข้าทำประโยชน์แทนบริษัท ย. ดังนี้ แม้บริษัท ย. จะไม่ได้ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันเอง แต่ก็ได้มอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำแทน โดยบริษัท ย. ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน ถือได้ว่าเป็นเงินที่ได้รับจากการขายผลปาล์มน้ำมันที่จำเลยในฐานะกรรมการของบริษัท ย. ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อน ต้องนำมาวางต่อศาลพร้อมบัญชีรับ-จ่าย การที่ ฉ. ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทที่จำเลยมอบอำนาจให้ ฉ. ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันได้ ฟังได้ว่า จำเลยตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทแล้วไม่นำเงินที่ได้จากการขายผลปาล์มน้ำมันหลังหักค่าใช้จ่ายพร้อมบัญชีรับ-จ่ายไปวางต่อศาลตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อน แต่กลับนำไปใช้เป็นการส่วนตัว ทำให้บริษัท ย. ไม่มีรายได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทดังกล่าวซึ่งโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น
จำเลยหยุดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทในวันที่ศาลมีคำสั่งออกหมายจับจำเลยฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จำเลยจึงหยุดกระทำละเมิดในวันดังกล่าว และต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ย. ถึงวันดังกล่าวเท่านั้น
การทำสวนปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุประสงค์หลักของบริษัท ย. ดังนั้น การบริหารจัดการเกี่ยวกับการปลูกหรือการตัดต้นปาล์มน้ำมันย่อมมีผลต่อรายได้ของบริษัท จึงต้องขอความเห็นชอบจากกรรมการอื่นด้วย การที่จำเลยในฐานะกรรมการบริหารจัดการงานไปโดยลำพังในการขุดคูและตัดต้นปาล์ม 20 ต้น แล้วเกิดความเสียหายแก่บริษัท ย. จึงเป็นการละเมิดและต้องรับผิดต่อบริษัท ย.
จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ในปัญหาอำนาจฟ้องว่า ต้นปาล์มน้ำมันและผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นของป่า ไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ปลูก และไม่มีใครเป็นเจ้าของ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แบ่งความรับผิดหนี้ร่วมกัน นายจ้าง ลูกจ้าง และผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อดอกเบี้ย
ตามคำพิพากษาในคดีก่อนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในส่วนความรับผิดของโจทก์เพียงข้อหาเดียวว่า โจทก์เป็นนายจ้างของ ป. และ ป. ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อน และวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยโดยสรุปว่า จำเลยดำเนินการด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ป. มีโอกาสเบียดบังเอาหุ้นของโจทก์ที่มีชื่อ ว. เป็นผู้ถือหุ้นไปโดยทุจริต จึงเป็นการกระทำละเมิดต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลในคดีก่อนว่า ป. และจำเลยเป็นผู้ทำละเมิด และต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อเป็นหนี้ร่วม ป. และจำเลยจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ส่วนโจทก์ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของ ป. เท่านั้น ความรับผิดของโจทก์และ ป. จึงเสมือนเป็นบุคคลเดียวกันที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในการชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และเนื่องจากเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษา โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับ ป. และจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แต่ความรับผิดของโจทก์นั้น เป็นผลมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างด้วย มิได้เป็นผลมาจากการกระทำของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จาก ป. ผู้เป็นลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 และรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยจากจำเลยได้อีกส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 227
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.27 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากบริษัท ม. ได้ชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนแทนจำเลยตามบันทึกข้อตกลงแล้ว หนี้ในส่วนของจำเลยจึงระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 นั้น ตามคำให้การจำเลยมิได้ต่อสู้คดีว่าโจทก์และจำเลยได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันมีผลทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ในข้อใดเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ตามที่เห็นสมควร หากเห็นว่าแม้จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไปอย่างไรก็ไม่ทำให้ผลคดีตามที่ได้วินิจฉัยแล้วเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจไม่วินิจฉัยในข้อนั้นได้
บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 เป็นเพียงข้อตกลงให้โจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยโดยบริษัท ม. ชําระหนี้ตามความรับผิดของจำเลยหนึ่งในสามส่วนไปก่อนเท่านั้น จำเลยจึงยังต้องรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนที่ขาดจำนวนจากความรับผิดในส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จนั้น เนื่องจากได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งตามมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน อันมีผลให้ในกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ก็ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และในกรณีที่เป็นหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการคิดดอกเบี้ยก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชําระให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขโดยกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4374/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพิกัดศุลกากร, เงินเพิ่ม, เบี้ยปรับ, และการลดหย่อนจากความเข้าใจผิดสุจริต
ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ชุดหัวเทียน (Spark Plug) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้ามานั้นเป็นระบบเชื้อเพลิงเดียว (Dedicated) ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทจึงไม่ใช่ชุดอุปกรณ์การใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติ (ดีเซล ดูเอล ฟูแอล คอนเวอร์ชัน คิท) ที่ใช้เชื้อเพลิงร่วมระหว่างก๊าชธรรมชาติกับน้ำมันดีเซล ไม่จัดเป็นของตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 9032.89 (รายการ - - ที่ 4) และ 9032.89.39 รหัสย่อย 03 (ตามช่วงเวลานำเข้า) ที่จะได้รับยกเว้นอากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 21 เมษายน 2552 และบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ดังนั้น สินค้าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติที่โจทก็นำเข้าจึงจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 9032.89 อื่น ๆ และ 9032.89.39 รหัสย่อย 29 อื่น ๆ (ตามช่วงเวลานำเข้า) อัตราอากรร้อยละ 10
โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ชำระอากรขาเข้าขาดพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงได้แจ้งการประเมินไปยังโจทก์ให้ชำระอากรที่ขาด ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าไม่ว่าเป็นกรณีมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง แต่จำเลยที่ 1 เรียกอากรที่ขาดไปเพราะเหตุเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสาม ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าแตกต่างเฉพาะตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงเท่านั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าโจทก์นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าพิพาทระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2549 ถึง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 และระหว่างวันที่ 24 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมิน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2556 ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากรภายในอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า และถือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมิน สิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงเหตุที่ไม่ต้องรับผิดในเบี้ยปรับเงินเพิ่มอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มและยังขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์แล้ว แม้จะไม่ได้ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องให้ชัดเจนว่า ขอให้ศาลลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องและการที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องข้อ 2. ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนการเรียกเก็บอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ พอจะอนุมานได้ว่าการขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังกล่าวหมายความรวมถึงการขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วยนั่นเอง ทั้งศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่า โจทก์ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยในประเด็นนี้เพราะเห็นว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องจึงไม่ชอบ เห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน สำหรับในส่วนเงินเพิ่มอากรขาเข้านั้น เห็นว่า โจทก์และผู้ประกอบการที่นำเข้าชุดควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลต่างเข้าใจโดยสุจริตว่า ชุดอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลให้ใช้ก๊าซธรรมชาติระบบเดียว (Dedicated NGV) ที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติร้อยเปอร์เซนต์ ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง โจทก์จึงไม่มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของโจทก์ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่โจทก์สำแดงเท็จในใบขนสินค้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาด และเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจอากรตรวจพบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง สำหรับในส่วนเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอันสืบเนื่องจากโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้องด้วยความเข้าใจของโจทก์เอง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ แต่ในส่วนเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เมื่อโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรในสินค้าพิพาทโดยความเข้าใจที่สุจริตประกอบกับโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี จึงให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 50

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4360/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันจำเลย แม้มีข้อโต้แย้งเรื่องการแบ่งทรัพย์มรดก และการใช้สิทธิของบุคคลอื่น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. โจทก์ที่ 1 ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าตนมีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ ส. ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับ ว. ศาลในคดีดังกล่าวได้ทำการไกล่เกลี่ยโดยจำเลยที่ 1 เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยที่ 3 จึงขอถอนคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก แสดงว่าจำเลยทั้งสามกับฝ่ายโจทก์ยังคงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการจัดการแบ่งมรดกของ ว. ซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 3 เบิกความตอบคำถามค้านว่าหลังจากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1 ได้มาบอกจำเลยที่ 3 ว่ามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสาม โดยจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในช่องที่ระบุชื่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 3 ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสาม โดยจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อของตนแทนจำเลยที่ 3 แล้ว อีกทั้งหลังจากที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ด้วยการชำระเงินในนามของจำเลยทั้งสามจำนวน 1,100,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม โดยเป็นเงินมรดกของ ค. ซึ่งอยู่ในบัญชีของ ว. และจำเลยทั้งสามมีสิทธิได้รับมรดกดังกล่าว กับจำเลยที่ 2 นำเงินมาอีกส่วนหนึ่งด้วย ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้โต้แย้งคัดค้านต่อโจทก์ทั้งสามว่าไม่ได้รู้เห็นหรือไม่ยินยอมในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 รู้เห็นและยินยอมโดยปริยายให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อของตนแทนจำเลยที่ 3 ในสัญญาประนีประนอมยอมความ สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญายอมด้วย
ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 414 ซึ่งเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 56705 ตามที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ตกเป็นของโจทก์ทั้งสามทั้งหมด แต่ ศ. และ ร. ในฐานะทายาทมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งด้วย โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสามนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสามและ ศ. กับ ร. ที่จะไปว่ากล่าวกันต่างหาก แต่สัญญาประนีประนอมยอมความก็ยังคงมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสามอยู่ หาได้มีผลให้โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างไม่
ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกที่สมบูรณ์ และโจทก์ทั้งสามยอมรับว่าถูกพินัยกรรมของ ว. ตัดสิทธิจากกองทรัพย์มรดกของ ว. แล้ว การที่โจทก์ทั้งสามใช้สิทธิของบุคคลอื่นมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพื่อประโยชน์ของตนเองโดยไม่มีอำนาจ ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลบังคับ โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง และสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3 ไม่ได้หมายความรวมถึงที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 414 นั้น จำเลยทั้งสามไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4171/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างเมื่อนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัยและผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานประกอบการ
กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นเรื่องให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม มิใช่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง การที่จำเลยไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการตามหนังสือรับรองที่แนบท้ายกฎกระทรวงนี้ ไม่ได้ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยตามกฎกระทรวงดังกล่าว
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า สัญญาจ้าง หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ดังนี้ สัญญาจ้างจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ลูกจ้างมีหนี้ที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหนี้ที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนในการทำงานของลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้แก่นายจ้าง หรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้ค่าจ้างจากนายจ้างต่อเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง จำเลยหยุดประกอบกิจการเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ปิดโรงแรมทั้งจังหวัดเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถือได้ว่าจำเลยหยุดประกอบกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย การที่โจทก์ไม่ได้เข้าทำงานให้แก่จำเลยมิใช่เกิดจากคำสั่งหรือความผิดของจำเลย จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ แต่หากภายหลังเมื่อพ้นระยะเวลาปิดโรงแรมตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์กลับเข้าทำงานให้แก่จำเลย จำเลยก็มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์
ศาลแรงงานภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1797/2563 ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่กำหนดให้ปิดโรงแรม มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น มีผลทำให้จำเลยปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งฉบับอื่นให้ปิดโรงแรมต่อไปอีกหรือไม่ เพียงใด จำเลยเปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด โจทก์เข้าทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ หากเข้าทำงาน โจทก์ทำงานตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะไปสู่การวินิจฉัยประเด็นว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือบอกกล่าวการผิดนัดของผู้ค้ำประกัน, ผลของการบอกกล่าวไม่ถูกต้อง, และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามสัญญา
จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยโดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (BIBOR) (3 เดือน) บวกร้อยละ 3 ต่อปี และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลอนดอน (LIBOR) บวกร้อยละ 3 ต่อปี แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามประกาศการเรียกเก็บเงินให้กู้ยืมหรือหนี้ที่ผิดนัดชำระในช่วงเวลานั้น ๆ ของธนาคารที่ได้มีการประกาศเป็นคราว ๆ ตามขอบเขตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากยอดเงินกู้หรือภาระหนี้ที่ผิดนัด โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี กรณีเช่นนี้จึงเป็นภาระชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัดแก่โจทก์ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ถือว่าเป็นคุณและเหมาะสมแก่โจทก์แล้ว
กรณีหนี้ในส่วนสินเชื่อเพื่อการส่งออกจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 กรณีจึงเป็นการที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดภายหลังวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ในการส่งคำบอกกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันนั้น ต้องพิจารณาประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนี่ง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 จึงถือว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย แต่ในส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 อันเป็นเวลาพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 184/165 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือรับรองระบุว่า จำเลยที่ 2 ตั้งอยู่เลขที่ 95 ประกอบกับในสัญญาค้ำประกัน ระบุว่า "ที่อยู่ของผู้ค้ำประกันที่ระบุไว้ข้างต้น เป็นที่อยู่ทางธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยของผู้ค้ำประกันและจะถือว่าเป็น "ภูมิลำเนา" ตามกฎหมายตามลำดับ ที่ธนาคารจะใช้ในการจัดส่งการบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายไปยังผู้ค้ำประกัน และเพื่อจัดส่งเอกสารอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล การบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายทั้งปวง (ไม่ว่าจัดส่งโดยวิธีไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไปรษณีย์ธรรมดาหรือโดยพนักงานส่งเอกสาร) ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้รับไปครบถ้วนแล้ว..." แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองถือว่ายังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่เคยส่งหนังสือบอกกล่าวไปตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 การบอกกล่าวโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกตามสัญญาค้ำประกัน สำหรับหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันนั้น โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 326,666.30 บาท และโจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งหกแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนองเฉพาะหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและเป็นการบอกกล่าวก่อนที่จะเกิดหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวข้างต้น ถือว่าหนี้ในส่วนนี้โจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในหนี้ดังกล่าว ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ใบกำกับภาษีปลอม: ความรับผิดทางอาญาแยกจากความรับผิดทางแพ่ง แม้ชำระภาษีแล้วก็ยังมีความผิดอาญา
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำความผิด ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ป.รัษฎากร บัญญัติให้ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม ต้องรับผิดทางแพ่งโดยเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 (7) และ 89/1 และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90/4 (7) อีกทางหนึ่งด้วย การที่จำเลยทั้งสองชำระค่าภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามฟ้อง ข้อ 1.3 และ 1.4 ครบถ้วนก็เป็นเรื่องของความรับผิดทางแพ่งมีผลให้หนี้ภาษีอันเป็นหนี้ทางแพ่งระงับ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับความรับผิดทางอาญาหาใช่ทำให้ความรับผิดทางอาญาระงับไปด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3429/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาโทษคดียาเสพติด: การให้ข้อมูลเป็นประโยชน์, กฎหมายใหม่, และการเพิ่มโทษ
แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี คดีนี้จำเลยมิได้ยื่นคำร้องหรือแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญในคดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จนสามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก็ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้กระทำความผิดดังกล่าว หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงในการจับกุมนั้นไม่ปรากฏในทางนำสืบของพยานโจทก์และคำให้การจำเลยในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3402/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องแบ่งมรดก-ทรัพย์สินที่ยังไม่ได้แบ่ง-การครอบครองทรัพย์มรดก
ป.พ.พ. มาตรา 1754 การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวด้วยทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกัน มีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เว้นแต่กรณีตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งระหว่างทายาท คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ที่ 4 และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงต้องรับฟังว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 เป็นทรัพย์มรดกของ ผ. ที่ยังมิได้แบ่งปันระหว่างทายาท โจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทผู้ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปัน ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้จะเกิน 10 ปี นับแต่ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทั้งมีผลถึงโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นคู่ความร่วม โจทก์ทั้งห้าจึงสามารถฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยซึ่งเป็นทายาทได้ แม้จะเกิน 10 ปี นับแต่ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ทั้งห้าสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 245037 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6278 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวด้วย ซึ่งจะทำให้โจทก์ทั้งห้าสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 การที่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของ ผ. ฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินแปลงดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นทายาทด้วยกัน จึงต้องดำเนินคดีภายใน 1 ปี หรือ 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเกินกว่า 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์ทั้งห้าสำหรับการฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 245037 จึงขาดอายุความ ทั้งกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ผ. แล้วหรือไม่ เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ผ. 2 ใน 3 ส่วน ซึ่งเกินกว่าที่โจทก์ทั้งห้าขอมาเพียงกึ่งหนึ่งนั้นเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือไม่ แม้ประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอีก เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลย แม้จะอ้างว่าทรัพย์มรดกมีเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ทรัพย์มรดกมีจำนวน 2 ใน 3 ส่วน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าทรัพย์มรดกมี 2 ใน 3 ส่วน แล้วแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทตามสิทธิที่มีอยู่นั้น จึงหาเกินคำขอไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเลี้ยงชีพหลังหย่า: ศาลพิจารณาเจตนาสุจริตของคู่สัญญา แม้ข้อตกลงระบุแหล่งเงิน แต่ไม่ได้จำกัดสิทธิในการจ่าย
ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยภายหลังหย่าเป็นความตกลงระงับข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสที่มีต่อกันไว้ได้ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 การตีความข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยจะอาศัยเพียงลำพังข้อสัญญาข้อหนึ่งข้อใดเพียงข้อเดียว ย่อมไม่อาจทราบเจตนาอันแท้จริงในทางสุจริตของคู่สัญญาได้ สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีความว่า จำเลยยอมชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 ตุลาคม 2561 และจะชำระทุกวันที่ 10 ของทุกเดือนไปจนกว่าจะครบ 5 ปี แม้สัญญาระบุว่าเป็นข้อตกลงในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู แต่แท้ที่จริงเป็นข้อตกลงในเรื่องการจ่ายค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่า และสัญญาข้อ 8 ที่ว่า จำเลยตกลงจะชำระเงินโบนัสแก่โจทก์ปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 หลังจากที่จำเลยได้จ่ายเงินตามสัญญาข้อ 7 ครบ 5 ปี ในปี 2566 ซึ่งมีลักษณะเป็นเงินค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าเช่นกันและเป็นการจ่ายค่าเลี้ยงชีพต่อเนื่องกับสัญญาข้อ 7 รวมแล้วเป็นเวลา 10 ปี เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงยอมผ่อนผันตามคำเรียกร้องของโจทก์ในคำฟ้อง ด้วยการลดจำนวนเงินที่เรียกร้องทั้งสองจำนวนลงจากที่จำเลยจะต้องจ่ายในช่วง 5 ปีแรก เดือนละ 35,000 บาท เหลือเดือนละ 25,000 บาท และช่วง 5 ปีหลัง จากที่จำเลยต้องจ่ายเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) จำนวนครึ่งหนึ่งของเงินได้ เหลือเพียงปีละ 100,000 บาท แม้คำฟ้องและสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพจากเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานของจำเลย (โบนัส) ในช่วง 5 ปี หลังก็ตาม แต่น่าจะเป็นเพราะโจทก์ต้องการเรียกร้องเป็นเงินครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินได้พิเศษประจำปีจากการทำงานหรือโบนัสของจำเลย มิได้ถือเอาเป็นข้อสำคัญว่าเงินที่จะนำมาจ่ายให้แก่โจทก์จะต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้มาจากบริษัท บ. ประกอบกับสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้อย่างใดว่า เงินที่จะจ่ายแก่โจทก์ต้องเป็นเงินโบนัสที่จำเลยได้จากบริษัท บ. เมื่อพิเคราะห์เจตนาอันแท้จริงของโจทก์และจำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยมีเจตนาตกลงกันให้จำเลยจ่ายเงินเป็นค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ตามสัญญาข้อ 8 อีกปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกในปี 2567 เป็นต้นไป นอกเหนือจากที่จะต้องจ่ายตามสัญญาข้อ 7 อย่างไรก็ตามหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 8 เป็นหนี้ในอนาคต ยังไม่ถึงกำหนดตามคำพิพากษาตามยอม จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาตามยอมของศาล เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้มีการบังคับคดีแก่จำเลยได้ คำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้อายัดเงินในบัญชีธนาคารของจำเลยนั้น เป็นการไม่ชอบ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 252 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ 2553 มาตรา 182/1
of 14