คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3309/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณโทษจำคุกเพื่อรับพระราชทานอภัยโทษ - ต้องพิจารณาทุกกระทงความผิด
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสี่คำนวณวันต้องโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 ผิดพลาด กรณีเป็นเรื่องชั้นบังคับคดี จึงไม่ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 นั้น จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ป.อ. มาตรา 91 บัญญัติว่า "เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้ (3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต" ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า กรณีที่จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และคำว่า "เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต" นั้น หมายความว่า หากความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งมีโทษที่จะลงแก่จำเลยจริง ๆ เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เมื่อนำเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวม ศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น คดีนี้ความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ศาลวางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะนำเอาโทษจำคุกในความผิดฐานร่วมกันขายเมทแอมเฟตามีน 50 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 3 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ 2 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมารวมลงโทษแก่จำเลยที่ 2 ได้ แต่จำเลยที่ 2 ยังคงมีความผิดและต้องโทษจำคุกในความผิดทั้งสี่ฐานดังกล่าว มิใช่ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียงอย่างเดียว
พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 มาตรา 3 บัญญัติให้ความหมายคำว่า กำหนดโทษ ทำนองเดียวกันว่า "กำหนดโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด หรือ กำหนดโทษตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษ หรือกำหนดโทษดังกล่าวที่ได้ลดโทษลงแล้วโดยการได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือโดยเหตุอื่น" โทษจำคุกที่จำเลยที่ 2 ได้รับเป็นโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด ดังนี้ ในการพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 เพียงใดจึงต้องพิจารณาตามกำหนดโทษจำคุกที่จำเลยที่ 2 ได้รับเป็นโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุดแต่ละกระทง