พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินและการเป็นตัวแทน ไม่เป็นคดีครอบครัว
โจทก์ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วให้จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ต่อมาโจทก์ให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาท และนำที่ดินที่แบ่งแยกขายให้แก่นางสาว ก. แต่จำเลยได้รับเงินค่าที่ดินแล้วจำเลยไม่นำเงินมาให้แก่โจทก์ และเมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ จำเลยเพิกเฉย ส่วนจำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท มิได้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนโจทก์ คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์และขายที่ดินพิพาทแทนโจทก์หรือไม่ และจำเลยต้องคืนเงินที่ได้จากการขายที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นปัญหาที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยตัวแทน บรรพ 3 ลักษณะ 15 ไม่ได้เป็นเรื่องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 แต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่เป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 68/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว: คดีพิพาทสิทธิทรัพย์สินระหว่างบุคคล ไม่ใช่คดีครอบครัว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าที่โจทก์กับผู้ตายร่วมกันครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกต้นยูคาลิปตัสจึงเป็นสินสมรสของโจทก์กับผู้ตายก่อนผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ปลอมสัญญาขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองโดยปลอมลายมือชื่อผู้ตาย หรือหลอกลวงผู้ตาย ให้ลงลายมือชื่อในสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 รบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์โดยนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถต้นยูคาลิปตัสให้ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกเป็นโมฆะ ห้ามจำเลยที่ 3 และที่ 4 เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทดังกล่าวและให้ชดใช้ค่าเสียหาย กับขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ร่วมกับผู้ตาย ครอบครองและทำประโยชน์ ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย สัญญาซื้อขายที่ดินและส่งมอบการครอบครองถูกต้องและสมบูรณ์ด้วยการส่งมอบการครอบครอง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเป็นฟ้องซ้อน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 และเข้าครอบครองทำประโยชน์เกินกว่า 1 ปี โดยโจทก์ไม่เคยคัดค้าน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่เคยนำรถแทรกเตอร์ไปไถต้นยูคาลิปตัสของโจทก์ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินดังกล่าวและไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้น ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับความสมบรูณ์ของนิติกรรม ละเมิด และการครอบครอง ซึ่งจะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 1 ว่าด้วยนิติกรรม บรรพ 2 ว่าด้วยละเมิด และบรรพ 4 ว่าด้วยการครอบครอง แม้ตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมีประเด็นให้วินิจฉัยด้วยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสแต่ก็เพียงเพื่อวินิจฉัยในเรื่องอำนาจฟ้องเท่านั้น ข้อพิพาทหลักในคดีเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์กันในทางครอบครัวแต่อย่างใด ไม่มีประเด็นพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้ตายซึ่งเป็นสามีภริยากันอันจะถือเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินโดยตรง จึงไม่ใช่คดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 68/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว: คดีพิพาทสิทธิทรัพย์สินระหว่างบุคคล ไม่ใช่คดีครอบครัว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ระหว่างสมรสโจทก์กับผู้ตายร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าและปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดิน จำเลยที่ 1 ปลอมสัญญาขายที่ดินและส่งมอบการครอบครองและปลอมลายมือชื่อผู้ตาย หรือหลอกลวงผู้ตาย ให้ลงลายมือชื่อในสัญญาขายที่ดินตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 รบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์โดยนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถต้นยูคาลิปตัสให้ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกเป็นโมฆะ ห้ามจำเลยที่ 3 และที่ 4 เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทดังกล่าวและให้ชดใช้ค่าเสียหาย กับขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามคำขอท้ายฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ร่วมกับผู้ตาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ครอบครองที่ดินมือเปล่าตามฟ้องและที่ดินตามฟ้องเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย สัญญาซื้อขายที่ดินและส่งมอบการครอบครองถูกต้องและสมบูรณ์ด้วยการส่งมอบการครอบครอง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเป็นฟ้องซ้อน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซื้อที่ดินมือเปล่ามาจากจำเลยที่ 1 และเข้าครอบครองทำประโยชน์เกินกว่า 1 ปี โดยโจทก์ไม่เคยคัดค้าน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่เคยนำรถแทรกเตอร์ไปไถต้นยูคาลิปตัสของโจทก์ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินดังกล่าวและไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้น ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับความสมบรูณ์ของนิติกรรม ละเมิด และการครอบครอง ซึ่งจะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 1 ว่าด้วยนิติกรรม บรรพ 2 ว่าด้วยละเมิด และบรรพ 4 ว่าด้วยการครอบครอง แม้ตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมีประเด็นให้วินิจฉัยด้วยว่า ทรัพย์พิพาทเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสแต่ก็เพียงเพื่อวินิจฉัยในเรื่องอำนาจฟ้องเท่านั้น ข้อพิพาทหลักในคดียังเป็นการโต้แย้งในสิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์กันในทางครอบครัวแต่อย่างใด กรณีไม่มีประเด็นพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้ตายซึ่งเป็นสามีภริยากันอันจะถือเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินโดยตรง จึงไม่ใช่คดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 56/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว: คดีลาภมิควรได้เกี่ยวข้องทรัพย์สินผู้เยาว์
โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าที่ดินตามสัญญาจะขายที่ดินคืนจากจำเลยทั้งสองฐานลาภมิควรได้โดยอ้างว่าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์มีคำพิพากษาว่า สัญญาจะขายที่ดินเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ให้การว่าสัญญาจะขายที่ดินไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะ ส. ร. และจำเลยที่ 2 คบคิดหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไปวางเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้แล้วทำสัญญาจะขายที่ดินกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามสัญญา โจทก์เข้าทำสัญญาทั้งที่รู้ว่าไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพราะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ ดังนี้คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินฐานลาภมิควรได้ โดยอ้างผลสืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์ที่พิพากษาว่า สัญญาจะขายที่ดินเป็นโมฆะ จึงเป็นคำขอให้บังคับเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ขณะทำสัญญา อันเป็นการฟ้องเกี่ยวกับความสามารถของผู้เยาว์ซึ่งจะต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 21 แห่ง ป.พ.พ. บรรพ 1 ว่าด้วยความสามารถ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีครอบครัวที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
จำเลยที่ 2 แม้มิได้เป็นผู้เยาว์ แต่โจทก์ก็ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงินคืนโจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้
จำเลยที่ 2 แม้มิได้เป็นผู้เยาว์ แต่โจทก์ก็ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงินคืนโจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาล: คดีความผิดหลายฐานเกี่ยวพันกัน โจทก์มีอำนาจฟ้องต่อศาลที่มีอัตราโทษสูงกว่าได้ แม้ความผิดบางฐานอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนฯ
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรม คือความผิดฐานชักจูง ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 78 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งแม้ความผิดดังกล่าวจะแยกเป็นแต่ละกรรมต่างกันและความผิดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ จะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวก็ตาม แต่จำเลยก็กระทำความผิดคนเดียวและเป็นความผิดเกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันซึ่งโจทก์จะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 24 (1) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พร้อมกับความผิดทั้งสองฐานต่อศาลจังหวัดร้อยเอ็ดได้ กรณีจึงไม่ใช่การพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามมาตรา 5
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีซื้อขายที่ดินไม่อยู่ในอำนาจศาลครอบครัว แม้เกี่ยวข้องกับสินสมรส
ตามคำฟ้องและคำให้การเป็นกรณีพิพาทกันระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อกับจำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายเกี่ยวกับเรื่องการผิดสัญญาซึ่งมีคำขอให้ชำระเงินค่าที่ดินคืนและเรียกค่าปรับอันเป็นกรณีที่ต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 370 ถึง 372 และมาตรา 380 ถึง 382 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเป็นบทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 2 จึงเป็นกรณีพิพาทกันในมูลผิดสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีอ้างว่าเป็นผู้ขออายัดห้ามการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ทำให้จำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายได้ ก็เป็นแต่การขอให้เข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยในมูลคดีเดิมว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ เพียงใดนั่นเอง และแม้จำเลยร่วมจะอ้างว่า ต. นำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่าง ต. กับมารดาจำเลยร่วมซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของ ต. และถึงแก่ความตายแล้วไปทำสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากมารดาจำเลยร่วมก่อน ทำให้สัญญาจะซื้อจะขายเป็นโมฆะ ตนจึงต้องมาขออายัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็เป็นแต่การกล่าวอ้างถึงสาเหตุที่ตนไม่จำต้องชำระค่าปรับให้แก่โจทก์หรือชำระค่าทดแทนให้แก่จำเลยเท่านั้น จึงไม่ใช่ประเด็นโดยตรงในคดี เมื่อประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้มีว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ เพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลเฉพาะตัวของจำเลยเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญา กรณีจึงไม่มีประเด็นเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาโดยตรง คดีนี้จึงไม่ใช่คดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3) จึงไม่เป็นคดีครอบครัว ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)